“ศรีสุวรรณ” นำทีมชาวบ้านโอน‘แม่เมาะ’ ไปแผนกสิ่งแวดล้อมฯ เหตุคดีความไม่คืบ
เผยผู้ฟ้องตายแล้วหลายรายไม่ได้รับค่าชดเชย ส่วนพรบ.องค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ยังค้างเติ่งที่สภาฯ เสนอข้อยุติปัญหาให้ชุมชนมีส่วนร่วม ชาวบ้านโวย ปัญหาเก่ายังไม่แก้ กฟผ.เตรียมผุด โรงไฟฟ้าแม่เมาะอีก 4 โรง
วันที่ 22 ก.ย. 54 ที่ศาลปกครองสูงสุด ถ. แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสามคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบคดีแม่เมาะ จ. ลำปาง ร่วม 100 คน ทั้ง 2 คดีได้แก่ คดีเหมืองเฟส 5 ที่ผิดสัญญาประทานบัตร และคดีความเสียหายต่อสุขภาพร่างกาย เข้ายื่นหนังสือต่อพนักงานศาลปกครองสูงสุดเรื่องขอโอนคดีไปแผนกคดีสิ่งแวดล้อม
นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวถึงปัญหาการฟ้องร้องคดีความด้านสิ่งแวดล้อมว่า เกิดจากการที่ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน แม้จะมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกป้องสิทธิชุมชน แต่ที่ผ่านมาก็เป็นการขีดเส้นจากรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ในขณะที่ พรบ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. … ที่จะช่วยคุ้มครองประชาชน ก็อยู่ในระหว่างการรอรัฐบาลชุมใหม่ต้องยืนยันกลับมาภายใน 60 วัน แต่เท่าที่ทราบ คือ รัฐบาลชุดใหม่จะไม่เสนอร่างกฎหมายออกไป
นอกจากนี้ยังเสนอทางออกปัญหาดังกล่าวว่า รัฐบาลควรยื่นข้อเสนอ หรือสิทธิประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการ เช่น การจัดตั้งกองทุน หรือการใช้ไฟฟรี โดยให้ชุมชนพิจารณาจากข้อมูล และข้อเท็จจริงต่างๆ และจัดการประชุมเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร ส่วนจะรับหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทางชุมชนเป็นหลัก ไม่ใช่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด ส่วนการจัดการด้านมลพิษก็ต้องได้รับมาตรฐาน
“ปัจุบันชาวบ้านมีความก้าวหน้า เข้าใจสิทธิชุมชน มีการกล่าวถึงมาตรตรา 66, 67 กันมากขึ้น รัฐบาลควรส่งเสริมโดยการติดอาวุธทางความคิดให้ ไม่ใช่ใช้วิธีการเดิมๆ ที่เป็นการการปกครองแบบบนลงล่าง (Top Down) หรือการปิดบังข้อมูล เพราะเมื่อเกิดผลกระทบตามมา ก็จะเกิดความยืดเยื้อ” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกล่าว
ด้าน นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า แม้ศาลปกครองชั้นต้นได้ตัดสินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำเลย ชดเชยค่าเสียหายรายละ 246,000 บาท แต่ทาง กฟผ. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ผู้ได้รับผลกระทบจึงยังไม่ได้รับการเยียวยา แต่ขณะนี้กลับจะสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ อีก 4 โรง โดยอ้างว่าทดแทนโรงปัจจุบันที่กำลังหมดจะหมดสภาพ
“การที่กฟผ. จะสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาอีก เป็นการฆาตกรรมชาวแม่เมาะอย่างเห็นได้ชัด เพราะผลกระทบเดิมยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา ชาวบ้านสูญเสียทั้งค่าใช้จ่ายหลายทาง ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง แ ม้แต่ค่าจัดงานศพยังต้องกู้หนี้ยืมสิน”
นางมะลิวรรณ กล่าวต่อไปว่า กฟผ.เปรียบเหมือนหน่วยงานรัฐ ที่ควรจะดูแลประชาชน เมื่อเกิดผลกระทบควรออกมาเยียวยาทันที และหยุดการละเมิดสิทธิชุมชน โดยไม่ต้องให้ประชาชนออกมาฟ้องร้อง” ตัวแทนชาวบ้านกล่าว
ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้น จ.เชียงใหม่ ได้ตัดสิน คดีแม่เมาะ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 52 โดยให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กฟผ.ชดใช้ค่าเสียหายรายละ 2.4 แสนบาท รวมเป็นเงินกว่า 120 ล้านบาท ซึ่งทางกฟผ.ได้ยื่นอธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ในเวลาต่อมา ซึ่งโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ยังคงเปิดดำเนินการ และมีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อยู่ตลอดเวลา
[ล้อมกรอบ]