ไอซีทีทุ่ม 10 ล.จ้างบริหารศูนย์มั่นคงไซเบอร์ ก่อน“บิ๊กตู่”เบรกกม.ดิจิทัล
ก.ไอซีทีทุ่มงบ 10 ล้าน จ้างบริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อ้างราคากลางจาก “ทีโอที” ก่อน “ประยุทธ์” สั่งทบทวนกฎหมายดิจิทัล หลังถูกวิจารณ์กระหึ่ม
ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2557 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดทำโครงการจ้างเอกชนดำเนินการบริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ วงเงิน 10 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2557 สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที จัดทำโครงการจ้างดำเนินการบริหารจัดการศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ใช้วงเงินงบประมาณจัดสรร 10 ล้านบาท กำหนดราคากลาง 10 ล้านบาท อ้างอิงจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางเดือนมกราคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลรวมทั้งหมด 10 ฉบับ และเตรียมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีกฎหมายที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
โดยระบุเหตุผลสำคัญคือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นไปอย่างรวดเร็วเอื้อให้เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่ระดับบุคคล และระดับประเทศ การป้องกันหรือรับมือกับภัยคุกคาม ต้องอาศัยความรวดเร็วในการรับมือและป้องกัน เพราะอาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติในมิติต่าง ๆ อันครอบคลุมถึงความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การดำเนินการ โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับกรอบนโยบาย และแผนแม่บทที่เกี่ยวกับความมั่นคงของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) มีหน้าที่กำหนดแนวทางการป้องกันภัยคุกคาม กำหนดขั้นตอนการประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชน จัดทำแผนเพื่อความมั่นคงไซเบอร์ให้สอดคล้องกับแผนระดับชาติด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และต้องสรุปการดำเนินงานให้ สมช. และคณะรัฐมนตรี
ต่อมาช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วง และหากมีข้อไม่สบายใจก็ต้องย้อนกลับมาดำเนินการใหม่ อย่างไรก็ดีกฎหมายทั้ง 10 ฉบับ มีเรื่องที่สามารถดำเนินการได้เลยหลายอย่าง แต่ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นกฎหมายที่ยาก และมีผลกระทบมาก จึงถือไว้เป็นลำดับสุดท้ายของกฎหมายล็อตนี้