ทีดีอาร์ไอแนะรัฐใช้บทเรียนเมกะโปรเจกต์ ปรับยุทธศาสตร์ก่อนลุยระบบราง
ทีดีอาร์ไอแนะใช้บทเรียนโครงการขนาดใหญ่ในอดีตวางแผนยุทธศาสตร์ และการบริหารให้ชัดเจน ก่อนเดินหน้าลงทุนระบบราง ชี้โครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นโครงการที่มีเอกชนเข้าร่วม
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในส่วนของการปฏิรูประบบรางว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภาครัฐเริ่มให้ความสนใจระบบรางมากขึ้น เห็นได้จากการผลักดันการลงทุนรถไฟรางคู่ไทย-จีนกว่า 300,000 ล้านบาท หากมองให้ลึกถึงปัญหาบวกกับความคุ้มค่าของการลงทุนในระบบรางถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่วัดได้จากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการเดินทางและการขนส่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีต่อเนื่องจากระบบราง เช่น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการพัฒนาการใช้ที่ดินในบริเวณรอบสถานีรถไฟ
"ถ้าระบบรถไฟมีผู้ใช้บริการทั้งการเดินทางและขนส่งมากถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ทั้งนี้การลงทุนในระบบรางเชื่อว่าจะช่วยให้การเข้าถึงของประชาชนจะง่ายและสะดวกขึ้น และคาดน่าจะช่วยตอบโจทย์ในส่วนของการกระจายรายได้ได้ดีขึ้น ซึ่งมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ลดเวลาการเดินทาง การลดการใช้พลังงาน เป็นต้น"
ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่าประสบการณ์ของการลงทุนโครงการระบบรางขนาดใหญ่ในอดีต เป็นบทเรียนที่ดี ที่สามารถพิจารณาถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ตัวอย่างกรณีรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟใต้ดินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน มีบทเรียนด้านการประมาณการผู้โดยสารที่มองโลกในแง่ดีจนเกินไป หากพิจารณาจากข้อมูลในสัญญาสัมปทานของรถไฟฟ้าใต้ดิน มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 6 แสนคนต่อวัน แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีผู้โดยสารประมาณ 2-3 แสนคนต่อวัน ซึ่งการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารที่คลาดเคลื่อนย่อมส่งผลต่อการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการ
เช่นเดียวกับกรณีของแอร์พอร์ตลิงค์ที่มีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องการเดินรถและการซ่อมบำรุง ซึ่งจำเป็นต้องมีการเรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าว และนำมาปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิมอีก
ดร.สุเมธ กล่าวถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตอันใกล้นี้ไทยควรกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการลงทุน และการบริหารจัดการโครงการที่มีแนวทางที่ชัดเจน โดยใช้บทเรียนจากโครงการระบบรางที่ผ่านมา ซึ่งโครงการที่ค่อนข้างมีความสำเร็จคือโครงการที่เอกชนเข้ามาร่วมงาน รวมถึงแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี ถ้าพิจารณาจากโครงการในอดีต จะพบว่า โครงการรถไฟฟ้าทั้งในส่วนของรถไฟใต้ดิน และรถไฟฟ้า BTS ซึ่งเป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่โครงการแรกของประเทศไทย โครงการเหล่านี้ไม่ได้มีแผนงานในการรองรับการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบมีน้อยมากหรือมีเพียงเฉพาะส่วน รวมถึงยังไม่มีการเชื่อมโยงระหว่างโครงการและยังขาดการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบด้วย
ผอ.ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า ดังนั้นภาครัฐควรมีความชัดเจนในการกำหนดนโยบายและมาตรฐานของเทคโนโลยีการขนส่งระบบรางให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารงานตลอดจนการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาแข่งขันอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกันภายใต้ข้อกำจัดในการดำเนินงานในแผนพัฒนาขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ควรมีการปฏิรูปองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาที่สะสมมายาวนานอย่างภาระหนี้สิน ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ระบบการเดินรถ การลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน และการลงทุนของรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางซึ่งขาดการลงทุนมานาน
"เชื่อว่าหากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบจะทำให้การปฏิรูประบบรางมีประสิทธิภาพ และหากสามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนได้แล้วเสร็จภายในปีนี้ คาดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการลงทุนเรื่องขนส่งระบบรางมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามควรมีการเตรียมพร้อมบุคลากรของไทยและแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ระบบรางของประเทศไทยพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง"