เครือข่ายผู้บริโภคเตือนอย่าหลงเชื่อซื้อของโฆษณาเกินจริงมอบคนรักรับวาเลนไทน์
เครือข่ายผู้บริโภคพบทีวีดาวเทียม-เคเบิลทีวี โฆษณาผลิตภัณฑ์ผิด กม. 95 รายการ จาก 17 ช่อง เตือนรู้เท่าทัน สังเกตเลขอนุญาตก่อนซื้อ เตรียมส่งข้อมูล กสทช.-อย.ลงโทษ
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด นำเสนอผลการศึกษาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ครั้งที่ 2 จากการเฝ้าระวังโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวี ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2557 ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรุงเทพฯ
นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาว่า เครือข่ายมีการเฝ้าระวังการโฆษณาทางสื่อในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี เพชรบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล จำนวน 18 ช่อง แบ่งเป็น
โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 10 ช่อง ได้แก่ กู้ดฟิล์ม, มงคลแชลแนล, โชว์ แชลแนล, อาร์ มูฟวี่, มีคุณ ทีวี, ช่อง 8, ช่อง 2, ไทยมุสลิม, ทีวีมุสลิม ไทยแลนด์, ยาตีมทีวี และเคเบิลทีวี 8 ช่อง ได้แก่ เอชพลัส, ทรูซีเล็ค, โฮมแอนด์ฟู้ด, มิราเคิล, ดาราเดลี่, มีเดีย แชลแนล, 8 Channel, ไฮเซาท์นิวส์
ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า การเฝ้าระวังพบจำนวน 17 ช่อง โฆษณาผิดกฎหมายและเคยเป็นช่องที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยลงโทษสั่งปรับแล้ว 5 ช่อง ได้แก่ ไทยมุสลิม, ทีวีมุสลิมไทยแลนด์, มีคุณ ทีวี, เอชพลัส และช่อง 8
ด้านนายสุนทร สุริโย ผู้แทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวว่า โฆษณาที่ผิดกฎหมายมีทั้งสิ้น 95 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น
กลุ่มอาหาร 55 รายการ คิดเป็นร้อยละ 57 เน้นการรักษา บำบัด บรรเทา และป้องกันโรค 22 รายการ ลดน้ำหนัก 16 รายการ ให้ผิวขาว-สวย 12 รายการ และผอม ขาว สวย ดูดี 5 รายการ
กลุ่มเครื่องสำอาง 29 รายการ คิดเป็นร้อยละ 30 กลุ่มหนึ่งเน้นการโฆษณาทำให้ขาวขึ้น สวยขึ้น และดูอ่อนเยาว์ สามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานและโครงสร้างร่างกาย กับกลุ่มโฆษณารักษาได้ เช่น รักษาสิว ฝ้า ผมดกดำ
กลุ่มยา 11 รายการ คิดเป็นร้อยละ 13 เน้นรักษาสารพัดโรคที่ใช้ยาสามัญประจำบ้านรักษาไม่ได้ รวมถึงโรคเรื้อรังต่าง ๆ 8 รายการ และยาลดความอ้วน 3 รายการ
ขณะที่น.ส.สิรินนา เพชรรัตน์ ผู้แทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวถึงการโฆษณาผิดกฎหมายว่า มีหลายรูปแบบ โดยโฆษณาแฝง มีการนำผลิตภัณฑ์ตั้งวางไว้ในส่วนใดส่วนหนึ่งของรายการ นอกจากนี้การสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ดาราที่มีชื่อเสียง ผู้ประกอบวิชาชีพ บุคคลทั่วไป ที่อาจใช้ผลิตภัณฑ์นั้น มาโฆษณาแทนผู้ดำเนินรายการ หรือนำข้อมูลทางวิชาการมากล่าวอ้าง เช่น มีการพิสูจน์ส่วนประกอบของวัตถุดิบว่า สามารถรักษาโรคได้ แล้วเชื่อมโยงสรรพคุณมากับผลิตภัณฑ์นั้น
สิ่งเหล่านี้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการเลือกซื้อ ด้วยส่วนใหญ่การโฆษณามักระบุถึงข้อมูลเท็จหรือเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่รู้สึกหมดหนทางในการรักษา ซื้อมาลองใช้ตามแรงบันดาลใจที่ปรากฏในโฆษณานั้น ทำให้บางคนขาดโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องและเหมาะสม จนอาจทำให้เกิดความเสียหายถึงแก่ชีวิต
สำหรับวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ผู้แทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวด้วยว่า เป็นช่วงเวลาทองในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้บริโภคซื้อมอบแด่คนที่รัก โดยใช้คำพูดเชิญชวนกลุ่ม “ดูแลคนที่คุณรักด้วย...(รายชื่อผลิตภัณฑ์)” ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อทุกครั้ง ผลิตภัณฑ์สังเกตเลขอนุญาตโฆษณา กลุ่มอาหาร ฆอ. .../... กลุ่มยา ฆท.../... เครื่องมือแพทย์ ฆพ.../... ส่วนเครื่องสำอางไม่ต้องมีเลขขออนุญาต แต่หากโฆษณาเกินจริงจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้บริโภค
นอกจากนี้ผู้บริโภคต้องพิจารณาเนื้อหาโฆษณาด้วยว่า ตรงกับผลิตภัณฑ์และอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ เช่น แก้ปัญญาภูมิแพ้ถาวร หรือรักษาทุกโรคยกเว้นความตาย เป็นต้น จึงเป็นเรื่องต้องระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แด่คนที่รัก
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ค้นพบจากการเฝ้าระวังข้างต้น น.ส.จินตนา ศรีนุเดช สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จะส่งให้แก่ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และกสทช. ในแต่ละจังหวัด สำหรับส่วนกลางจะยื่นหนังสือต่อ สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ อย. เพื่อบังคับใช้กฎหมายกับช่องรายการที่กระทำผิดต่อไป .