จีนขายนโยบายรถไฟกว่า 28 ประเทศ ดร.สมภพ แนะศึกษารอบคอบก่อนลงทุน
อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ชี้โครงการรถไฟทางคู่ เป็นยุทธศาสตร์ต่างประเทศจีน แนะรัฐบาลศึกษาโครงการอย่างรอบคอบ-หันมองลาว พม่า เป็นกรณีศึกษา
หลังจากรัฐบาลไทยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนในการดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard gauge) ในเส้นทางหนองคาย-มาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า การลงทุนกับจีนในครั้งนี้จะสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งอย่างที่หวัง หรือจะเป็นแค่เพียงทางผ่านให้จีนเท่านั้น รวมทั้งโครงการนี้มีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด
ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน กล่าวกับ สำนักข่าวอิศราถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ถ้าถามว่าการลงทุนครั้งนี้จะสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่ง หรือเป็นแค่ทางผ่านหรือไม่จะต้องมีรายละเอียดโครงการ และโครงการที่เป็นความร่วมมือในลักษณะที่เราได้ทำข้อตกลงร่วม จะต้องมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการว่า มีความชัดเจนมากน้อยเพียงใด
"ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือโครงการที่เป็นประโยชน์ร่วมระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียน เช่น ลาว ไทย โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเส้นทางหนองคาย-มาบตาพุด ก็จะต้องคุยกันอย่างน้อย 3 ประเทศ เพราะถ้ามีโครงการรถไฟต่อไปที่จีนไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นโครงการที่เรากำลังจะทำในขณะนี้ จะต้องหาทางร่วมมือกับหลายประเทศแบบหลายภาคี"
ดร.สมภพ กล่าวถึงเส้นทางหนองคาย-มาบตาพุดอีกว่า เป็นเส้นทางที่จีนต้องการมาก เพราะเส้นนี้เป็นเส้นที่สนองเป้าหมายทางเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงให้กับจีน เนื่องจากจะเป็นทางเลือกออกสู่ทะเลอีกทางหนึ่ง นอกเหนือไปจากทะเลจีนฝั่งตะวันออก ที่จีนเห็นว่า มีความอ่อนไหว กับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย
"ขณะนี้มีข่าวว่า หากเรากู้เงินจากจีนจะเสียดอกเบี้ยสูงแบบนี้ต้องคิดใหม่เลย เพราะเราต้องคำนึงว่า โครงการนี้เป็นโครงการร่วม จะต้องตัดสินใจด้วยความรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมจริงๆ และการศึกษาที่อ้างอิงจากวิทยาศาสตร์นักวิชาการต่างๆอย่างมีเหตุมีผลเป็นเรื่องสมควรที่จะต้องทำ"นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจีน กล่าว และว่า ช่วงที่ผ่านมาจีนขายนโยบายสร้างทางรถไฟร่วมไม่น้อยกว่า 28 ประเทศ เพราะนี่คือยุทธศาสตร์ต่างประเทศที่สำคัญของจีน ดังนั้นโครงการสร้างทางรถไฟรางคู่ แบบที่กำลังจะทำกับบ้านเราไม่ใช่โครงการใหม่
อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า วันนี้เราควรไปถามประเทศต่างๆ เขามองอย่างไรถึงผลได้ผลเสีย ในอาเซียนมี 2 ประเทศที่จีนขายนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ลาว กับ พม่า และจีนเคยเซ็น MOU ก่อนหน้าไทยไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว แต่ทำไมป่านนี้ถึงยังไม่ตกลงร่วมมือกับจีนในการสร้างทางรถไฟ มีปัญหาอย่างไร ทำไมถึงเจรจาแล้วตกลงกันไม่ได้ โดยเฉพาะกับพม่าที่จะสร้างไปสู่อันดามันจีนคุยมาเป็น 10 ปีแต่ก็ไม่ตกลงยังไม่ตัดสินใจ ความรู้เหล่านี้คือสิ่งที่ไทยต้องนำมาศึกษา
"การศึกษาโครงการระดับนี้อย่างรอบคอบไม่ใช่เรื่องเสียหาย โครงการรถไฟรางคู่เป็นโครงการที่น่าสนใจแต่ก็จะต้องอยู่บนการศึกษาที่สมเหตุสมผล ความเป็นไปได้ แหล่งที่มาของทุน การบริหารจัดการ โดยเฉพาะต้นทุนของเงินจะต้องดูแหล่งเงินทุนว่า มีต้นทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งจำเป็นมากที่จะต้องนำความรู้ทางวิชาการเข้ามาเป็นตัวช่วย"