กฟผ. เชื่อแก้สิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ปลูกรักษาแนวไม้ กันฝุ่นกว่าติดตั้งม่านน้ำ
กฟผ.แจงไม่ได้ละเลยมาตรการป้องกันแก้ไขสิ่งเเวดล้อมคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ยันดำเนินการแล้ว แต่ไม่ครบถ้วน เหตุเปลี่ยนแปลงบางขั้นตอน ยกระบบบำบัดน้ำ Anaerobic Bacteria ประสิทธิภาพสูงกว่าปลูกต้นไม้ใน Wetland
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยภายหลังทราบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีเหมืองแม่เมาะ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า ศาลมีคำพิพากษาให้ กฟผ. ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วนตามแนบท้ายประทานบัตร 5 ข้อตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้ว นั้น (อ่านประกอบ:ศาลปค.สูงสุดให้กฟผ. ติดตั้งม่านน้ำ อพยพคนพ้นรัศมีโรงไฟฟ้าแม่เมาะภายใน 3 เดือน)
กฟผ. น้อมรับคำพิพากษา และจะเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของศาล ซึ่งบางส่วน กฟผ.ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ยังขาดความครบถ้วนสมบูรณ์ในขั้นตอนการดำเนินการ เนื่องจาก กฟผ. ได้มีการปรับเปลี่ยนหรือเสริมเพิ่มเติมเพื่อให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่น การนำระบบบำบัดน้ำแบบ Anaerobic Bacteria (จุลินทรีย์ประเภทไม่ใช้ออกซิเจน) เพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียมาใช้ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับใน Wetland อีกทั้งการปลูกและบำรุงรักษาแนวต้นไม้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าการทำม่านน้ำ
“ศาลได้พิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงวิธีการและมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดิมนั้น แม้การดำเนินการดังกล่าว จะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)” โฆษก กฟผ. กล่าว และว่าถือเป็นการดำเนินที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่นเดียวกับการปลูกป่าทดแทน การปรับปรุงสถานที่ทิ้งดิน และการรักษาสภาพแวดล้อมบริเวณที่ทิ้งดิน และการทำเหมือง ซึ่ง กฟผ. ได้จัดทำแผนการดำเนินงานนำเสนอหน่วยงานกำกับดูแลแล้วเช่นกัน
สำหรับเรื่องการอพยพราษฎรที่อาจได้รับผลกระทบออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร นายสหรัฐ ระบุว่าศาลพิเคราะห์เห็นว่า กฟผ. ได้ดำเนินการแล้วบางส่วน แต่เนื่องจากยังมีราษฎรบางส่วนที่สมัครใจอยู่ในพื้นที่เดิม ศาลจึงพิเคราะห์ให้ กฟผ. จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาพิจารณาร่วมกันพิจารณา หากยังมีราษฎรในรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร ต้องการย้ายออก
ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา กฟผ. ไม่ได้ละเลยการดูแลสิ่งแวดล้อมอีกทั้งพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ตามข้อมูล ข้อเท็จจริง และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป กฟผ. ยินดีที่มีข้อยุติในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมายาวนาน ซึ่งน่าจะช่วยให้เกิดบรรยากาศของความเข้าใจอันดีระหว่างชุมชนบางส่วนที่ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า
“กฟผ. จะยังคงให้ความสำคัญ และมุ่งมั่นในการดูแลส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด เพราะ กฟผ. ถือว่าชุมชนแม่เมาะเปรียบเสมือนเพื่อนบ้าน และเป็นรากฐานสำคัญของสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศมาอย่างยาวนาน” โฆษก กฟผ. ทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ในฐานะแกนนำผู้ยื่นฟ้องคดี โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจงของ กฟผ.ที่ว่า ที่ผ่านมา กฟผ. แม่เมาะ ได้ให้ความสำคัญต่อดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างดีที่สุด
โดยระบุว่า "แล้วที่ชาวบ้านออกมาประท้วงแล้วประท้วงอีกจนต้องถึงขั้นไปฟ้องศาลและศาลเห็นว่า กฟผ.ไม่ได้ทำตามกฎมายที่กำหนดไว้จริง แล้วสั่งให้ กฟผ.อพยพชุมชนออกนอกพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ตามความสมัครใจของชาวบ้านนี่ หมายความว่า ชาวบ้านทุกคนในชุมชนได้รับการดูแลดีเกินไปใช่มั้ย” .