ดร.ฉลองภพหวั่นโครงการพัฒนารถไฟไทย-จีนไปไม่รอด
นักวิชาการฝาก 4 คำถามถึงรัฐบาลประยุทธ์ ก่อนเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง-รางคู่ ด้านดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ย้ำ โครงการนี้ไม่น่ารอด เหตุไม่มีทางคุ้มทุน แนะอยากสำเร็จต้องมองภาพการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
11 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการสาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “การพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ทางรางของประเทศไทย:นโยบายและทิศทางงานวิจัยในอนาคต” ภายในงานมีการอภิปรายในหัวข้อ “พลิกโฉมประเทศรื้อระบบโลจิสติกส์บนฐานงานวิจัย” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า หลายฝ่ายอาจจะตั้งคำถามกับหน่วยงานทีดีอาร์ไอว่า ทำไมไม่มีการออกมาพูดถึงโครงการ 3 ล้านล้านบาท หรือการที่รัฐไปทำสัญญา MOU กับรัฐบาลจีน ซึ่งขณะนี้ทางทีดีอาร์ไอกำลังพยายามรวบรวมข้อมูลบางส่วน เนื่องจากเราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟจีน แต่สิ่งที่กำลังพยายามทำอยู่ตอนนี้ คือการตั้งคำถามกับรัฐบาลผ่านสื่อเพื่อที่จะต้องการให้รัฐบาลได้ตอบคำถามในสิ่งที่เรากำลังสงสัย หลังจากรัฐบาลบรรลุข้อตกลงกับจีนในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) ในเส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และช่วงแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ว่า
1.โครงการรถไฟขนาดรางมาตรฐานซ้ำซ้อนกับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร (Meter Gate) หรือไม่? เพราะหากมีการก่อสร้างรถไฟ 2 รูปแบบในเส้นทางเดียวกันจะสิ้นเปลืองทั้งงบประมาณในการก่อสร้าง และงบประมาณในการบำรุงรักษาและรถไฟทั้ง 2 รูปแบบ อาจจะแย่งลูกค้ากันเองได้ในอนาคต
2.ในขณะนี้มีการวางแผนการใช้ประโยชน์อย่างไร รายละเอียดสัญญาการก่อสร้างมีหรือไม่
3.มีการป้องกันการก่อสร้างในเรื่องงบประมาณหรือไม่ หากงบประมาณบานปลายใครจะรับผิดชอบไทยจะรับผิดชอบเองทั้งหมด หรือจีนมีส่วนรับผิดชอบ และการก่อสร้างในครั้งนี้จะมีการประมูลหรือไม่ หรือให้ผู้รับเหมาจีนรับผิดชอบไปเลย ไม่มีการประมูล และหากเป็นเช่นนั้นการก่อสร้างครั้งนี้จะเป็นการก่อสร้างที่ได้ราคาถูกที่สุดหรือไม่
4.รัฐบาลชุดนี้บอกว่าจะมีการเอาเรื่องสัญญาคุณธรรมมาใช้ ว่าต้องมีการเปิดเผยข้อมูล สัญญารายละเอียด สิ่งเหล่านี้จะรวมอยู่ในโครงการนี้หรือไม่ หรือนี่จะเป็นโครงการพิเศษที่ได้รับการยกเว้น
ที่สำคัญคือมาตรฐานในการก่อสร้างเป็นอย่างไรเพราะเรายังไม่มีมาตรฐานหลัก ถ้ายังตั้งกรมรางไม่เสร็จแล้วไปเซ็นสัญญาก่อสร้างจะเอามาตรฐานจีนมาใช้หรือไม่ เนื่องจากกรมรางจะเป็นกรมที่กำหนดมาตรฐาน นี่คือคำถามที่รัฐบาลจะต้องออกมาตอบให้ได้
ขณะที่ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม และฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าโครงการที่รัฐบาลไทยกำลังจะทำกับจีนคงไปไม่รอด และนี่จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากไปรอดจะทำให้ประเทศสูญเสียเงินอย่างมหาศาล เพราะหากมีรางคู่กับรถไฟความเร็วสูงวิ่งไปหนองคายไม่มีทางคุ้ม
"การลงทุนจะคุ้มก็ต่อเมื่อวิ่งผ่านประเทศลาวไปที่คุนหมิง บอกได้แต่เพียงว่าตอนนี้เราเริ่มผิดเนื่องจากช่วงไปคุยกับจีนเป็นการคุย 2 ฝ่าย ลาวก็งงจะสร้างอะไรกัน แล้วเขาก็สนใจว่าสเปกรูปแบบเป็นอย่างไร ดังนั้นควรจะต้องเอาทั้ง 3 ฝ่ายมาคุยและวางแผนร่วมกัน แม้ลาวจะเป็นทางผ่าน เศรษฐกิจเล็ก ลาวจึงไม่คุ้มที่จะสร้างด้วยตัวเอง หากจะสร้างต้องเป็นไทยกับจีนช่วยกันลงทุนให้ลาว แล้วให้เป็นโปรเจคเดียวที่ทำร่วมกัน 3 ฝ่าย ฉะนั้นเริ่มโครงการนี้คงไม่ง่าย และหากอยากทำให้สำเร็จต้องมองในเชิงการเชื่อมระหว่างประเทศแล้วมานั่งคุยมานั่งวางแผนร่วมกันด้วย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:คน-เทคโนโลยีไม่พร้อม วิศวฯ จุฬาฯ หวั่นเป็นระเบิดเวลา