วิษณุตีปี๊บ แจงขรก. กฎหมายการอนุญาตฯ ปรามไม่อำนวยความสะดวกอีก เจอโทษ
ก.พ.ร.ตีปี๊บสร้างความเข้าใจ พ.ร.บ.การอนุญาตฯ ก่อนมีผลบังคับใช้กลางปีนี้ "วิษณุ" ระบุชัดหัวใจของกฎหมายขจัดความล่าช้า สิ้นเปลือง ยุ่งยากกรณีมาติดต่อขออนุญาตจากราชการ ยันหลังมีคู่มือประชาชนแล้วห้ามขอเอกสารเพิ่ม กำหนดเวลาเสร็จให้สมเหตุสมผล
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าว ปาฐกถาพิเศษ ในเวทีการประชุมสัมมนา เรื่อง พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ว่า เป็นกฎหมายที่ต่างจากกฎหมายฉบับอื่นๆ ทิ้งเวลาโดยให้ที่มีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน เพื่อให้หน่วยงานราชการได้มีเวลาเตรียมตัว ขณะเดียวกันประชาชนผู้มาใช้บริการหรือติดต่อกับหน่วยงานราชการได้เตรียมใจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกฎหมายฉบับนี้
“ สำนักงาน ก.พ.ร. และส่วนราชการต้องทำความเข้าใจให้ดีกับกฎหมายฉบับนี้ ที่สำคัญคือต้อง “ตีปี๊บ”ประชาสัมพันธ์ให้ทั้งส่วนราชการและประชาชนได้รับทราบ เพราะเป็นเรื่องส่งผลกับการทำงานของราชการและการมาติดต่อของประชาชน ถ้านิ่งและเงียบไม่บอกกล่าว ปล่อยให้กฎหมายฉบับหนึ่งเดินหน้าไปเรื่อยๆ จะเกิดความไม่เข้าใจในคนปฏิบัติ โดยเฉพาะคนที่ปฏิบัติคิดว่าทำมาอย่างไร ทำไปอย่างนั้น ซึ่งต่อไปนี้ไม่ได้แล้ว”
นายวิษณุ กล่าวถึงหัวใจของพ.ร.บ.การอนุญาตฯ ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกในธุรกรรมใดๆ ที่ประชาชนจะต้องขออนุญาตจากทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตขออนุมัติ ขอจดทะเบียน ทั้งนี้เคยมีการคำนวณดูแล้วพบว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้ประชาชนต้องไปขออนุญาตจากทางราชการไม่ต่ำกว่า 600 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตสร้างบ้าน ขออนุญาตต่อเติมอาคาร ขออนุญาตส่งของเข้าออก ฯลฯ ซึ่งกระบวนการขั้นตอนที่ล่าช้า เสียค่าใช้จ่ายแพง และสร้างความยุ่งยากนั้น ทำให้ประชาชนรู้สึกอึดอัดใจ
“ที่ผ่านมา เมื่อกระบวนการติดต่อขออนุญาตหลายๆ อย่างสร้างความไม่สะดวกให้ประชาชน ประชาชนบางส่วนจึงใช้วิธีการหาความสะดวก จนนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่น หรือแม้ไม่ได้ทำให้เกิดการทุจริตฯ กลับมีผลต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเมื่อเห็นไม่สะดวกตัดสินใจเปลี่ยนฐานการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ศักยภาพการแข่งขันและโอกาสการลงทุนหมดไปแล้วย้านฐานการลงทุนไปสู่ที่อื่นที่สะดวกกว่า”
สำหรับข้อดีของพ.ร.บ.การอนุญาตฯ นายวิษณุ กล่าวว่า คือ ขจัดความล่าช้าทำให้เร็วขึ้น(faster) ลดความสิ้นเปลือง(cheaper)และทำให้เรียบง่าย(easier)ประชาชนจะไม่ลำบากเวลาไปติดต่อราชการ หลักการสำคัญๆ คือ
1) ส่วนราชการทุกแห่งรวมท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ที่มีเรื่องให้คนมาขออนุญาตอนุมัติให้คนลงทะเบียนจดทะเบียน ต้องทำคู่มือเป็นรูปเล่มการติดต่อกับหน่วยงานงานที่ต้องยื่นเรื่อง ระบุส่วนงาน (โต๊ะ) แต่ละส่วนงานต้อใช้เวลาเท่าใดนับตั้งแต่นาทีของการยื่นเรื่องจนจบกระบวนการ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ต้องมีเอกสารอะไรบ้างถ้าส่วนราชการมีงบประมาณต้องทำแจกประชาสัมพันธ์ ต้องมีการเผยแพร่ให้ประชาชนเปิดอ่านได้ ต้องนำข้อมูลขึ้นเว็บไซด์ให้สามารถเปิดได้จากบ้าน เมื่อทำคู่มือเสร็จต้องส่งให้ ก.พ.ร. ตรวจสอบ เพื่อพิจารณาดูความเหมาะควร ถ้าใช้เวลานานเกินกว่าความเป็นจริง ก.พ.ร. มีสิทธิคืนกลับมาให้ปรับแก้ได้
2) เอกสารใดที่ประชาชนต้องใช้ประกอบการยื่นเรื่อง ต้องระบุให้ละเอียดเมื่อระบุแล้วจะขอเอกสารเพิ่มอีกไม่ได้
3) เวลา เมื่อกำหนดในคู่มือแล้วว่า กระบวนงานนั้นๆ ใช้ระยะเวลาเท่าใด หากครบกำหนดแล้วหน่วยงานยังทำไม่ได้ ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ประชาชนผู้ยื่นเรื่องทราบ ต้องขอโทษและระบุเหตุผลโดยขอขยายเวลาทีละ 7 วัน หากไม่เสร็จต้องแจ้งประชาชนเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบทุกครั้ง
4) กฏหมายนี้เรียกร้องให้แต่ละแห่งจัดตั้งศูนย์บริการร่วม (One Stop Service) ในอนาคต รัฐบาลมีแนวคิดว่า อาจตั้ง “ศูนย์รับคำขออนุญาต (Single Service Centre) ไว้ที่เดียว แล้วค่อยขยายสู่ต่างจังหวัด เช่นตั้งในทำเนียบรัฐบาล ส่วนต่างจังหวัดจะฝากไว้ที่ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียน
5) การขอต่อใบอนุญาตตามระยะเวลา ถ้าประชาชนมาเสียค่าธรรมเนียมให้มีผลเท่ากับการขอต่อใบอนุญาตอัตโนมัติ
6) ความที่มีกฎหมายให้ไปขอใบอนุญาตมากกว่า 600 ประเภท กฎหมายฉบับนี้จึงบังคับว่า ทุก 5 ปี กระทรวง ทบวง กรม ต้องรายงานคณะรัฐมนตรีว่า สมควรต้องยกเลิกกฎหมายใดบ้าง ให้มาบอกรัฐบาล ถ้าคิดว่าสามารถติดต่อกันด้วยระบบอีเมล์หรือออนไลน์ได้ รัฐบาลจะได้พิจารณาแก้ไขกฎหมายนั้น
ส่วนการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า หน่วยงานหรือข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้นๆ จะมีมาตรการทางปกครองลงโทษ ซึ่งจะกระทบตั้งแต่หัวหน้าส่วนราชการ ส่งผลต่อการนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานว่าควรให้บุคคลนี้ดำรงตำแหน่ง ขยับ หรือ ส่งย้ายไปที่อื่นหรือไม่หรืออาจถูกตั้งกรรมการสอบวินัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 82 หรืออาจส่งเรื่องไปถึงศาลปกครอง ถ้าการไม่อำนวยความสะดวกมีผลต่อความเสียหายทางการเงินสามารถเรียกฟ้องค่าเสียหายได้
“ก.พ.ร.ต้องไปแจ้งส่วนราชการ แล้วซ้อมการทำคู่มือ ให้ ก.พ.ร.ไปดู 150 กรม รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนเกือบ 40 แห่ง คัดเลือก 10 กรมนำร่อง ทดลองทำคู่มือแล้วประกาศใช้ไปก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ” นายวิษณุ กล่าว และว่า แม้กฎหมายฉบับนี้จะไม่ใช่แก้วสารพัดนึก แต่เชื่อว่า การให้บริการประชาชน การอำนวยความสะดวกประชาชนในอนาคตจะดีขึ้นอย่างแน่นอน