ภาคประชาสังคมวิพากษ์ ‘EIA’ เครื่องมือเอื้อคอร์รัปชัน สร้างชุมชนแตกแยก-เกลียดชัง
ภาคประชาสังคมวิพากษ์ ‘EIA’ เครื่องมือเอื้อคอร์รัปชัน หนุนเลิกระบบลูกน้อง-นายจ้าง ‘ชงเอง-กินเอง’ เชื่อปัญหาไม่จบ เลขามูลนิธิสืบฯ ชี้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นแค่พิธีกรรม แนะเพิ่มกระบวนการ ‘ปรึกษาหารือ’ ใน รธน. นักวิชาการ มก. ยกตัวอย่างต่างประเทศ ต้องมีโฟกัสกรุ๊ปด้วย
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม จัดเวทีนิติศาสตร์เสวนา ครั้งที่ 4/2558 เรื่อง ‘แนวทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการของรัฐกับปัญหาและอุปสรรคในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม’ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
น.ส.สมลักษณ์ หุตานุวัตร อาสาสมัครด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการปฏิบัติจริงของการทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment :EIA)ที่ผ่านมานั้น ทำกันเพียงให้ครบขั้นตอน เพื่อตอบสนองเป้าประสงค์ที่จะทำโครงการนั้น ๆ ส่วนความตั้งใจถนอมรักษาชีวิตเล็ก ๆ ของธรรมชาติ ความใส่ใจใยดีต่อความเปราะบางของระบบนิเวศ ซึ่งหากเกิดความเสียหายไปแล้วก็ยากจะฟื้นคืน และสิ่งเหล่านี้แทบไม่อยู่ในบรรยากาศของการปรึกษาหารือในเวทีเลย
นอกจากนี้กระบวนการและขั้นตอนการทำ EIA น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า ยังปะปนด้วยนักวิชาการที่พัวพันผลประโยชน์ มีการแทรกแซงของนักการเมืองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ ใช้อำนาจคัดบุคคลที่เอนเอียงคล้อยตามแนวคิดโครงการเข้าไปเป็นคณะกรรมการกลั่นกรอง กำจัดนักวิชาการสายอนุรักษ์ออกจากระบบตรวจสอบ ขณะเดียวกันมีพฤติกรรมเป็นพ่อค้านักวิชาการ ทำงานพิเศษ และรับผลประโยชน์จากเอกชนหรือนักการเมืองที่ยังรับราชการ อีกทั้งการสรุปรายงานก็ขาดความซื่อตรง
“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นเครื่องมือเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชัน สร้างความเกลียดชังและแตกแยกขึ้นในชุมชน มีการสร้างกลุ่มต่อต้านเพื่อต้านกลุ่มต่อต้าน หากฝ่ายใดมีจำนวนมากกว่าจะชนะ แทนที่จะเป็นการปรึกษาหารือ ทำความเข้าใจจนกระทั่งเกิดฉันทมติ เมื่อไตร่ตรองแล้วเกิดความเสียหายไม่คุ้มค่าจึงสมควรยุติโครงการ” ตัวแทนอาสาสมัครด้านมนุษยธรรมฯ กล่าว และว่า เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมมากขึ้น โครงการขนาดใหญ่ต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ริเริ่ม ชาวบ้านจะได้ศึกษาข้อมูลและแผนยุทธศาสตร์ก่อน เกิดกระบวนการพูดคุยที่ชัดเจนก่อนยินยอม โดยเฉพาะโครงการที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระดับภูมิประเทศ เช่น โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โครงการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โครงการถนนมอเตอร์เวย์ เป็นต้น
ตัวแทนอาสาสมัครด้านมนุษยธรรมฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องกำหนดขอบเขตผลกระทบที่เกิดขึ้นใหม่ จากเดิมกำหนดไว้รัศมี 5 กม. ทั้งที่ความจริง น้ำ อากาศ ที่ปนเปื้อนกระจายไปในรัศมีไกลกว่าพื้นที่ได้รับการศึกษา EIA และยังต้องกำหนดสัดส่วนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเวทีอย่างเหมาะส รวมไปถึงจริยธรรมของนักวิชาการ ในฐานะผู้ทำรายงาน EIA ต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ ถือเป็นเรื่องสำคัญต้องแก้ไขให้ได้ เพราะตราบใดที่นักวิชาการและเจ้าของโครงการเป็นเจ้านายลูกน้องกัน ปัญหาจะไม่มีวันจบ พร้อมให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงาน EIA เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับนักการเมือง เกิดการตรวจสอบจากภาคประชาชน และต้องคุ้มครองสิทธิชุมชนด้วย
EIA ต้นเหตุสมองไหลไปภาคเอกชน
ด้านนายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวถึงการทำรายงาน EIA มักจ้างบริษัทที่ปรึกษาเอกชน ทำให้หน่วยงานราชการเกิดภาวะสมองไหล บุคลากรย้ายไปสังกัดในบริษัทเหล่านั้น เพื่อมารับจ้างทำงานให้แก่รัฐอีกทอดหนึ่ง ซึ่งความจริงควรจ้างเฉพาะกรณีขาดแคลน ไม่ใช่ยกกระบวนการทั้งหมดให้ไป และนำเงินส่วนนี้มาพัฒนาบุคลากรขององค์กรแทน อีกทั้ง เห็นว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการต้องรับฟังโดยรัฐเท่านั้น ไม่ใช่บริษัทที่ปรึกษา
ขณะที่รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าวถึงตัวอย่างการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในต่างประเทศมีข้อถกเถียงกันในเรื่องค่าใช้จ่ายว่า จะต้องมีเพื่อเป็นค่าเสียเวลาและโอกาส หากทุกคนมาเพื่อแจ้งปัญหา แต่ไม่มีการยอมรับฟังก็จะไม่คุ้ม นอกจากนี้ ในโครงการขนาดใหญ่และซับซ้อน จำเป็นต้องให้มีกระบวนการส่วนร่วม เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะคนในพื้นที่จะมีความเข้าใจ และอาจมีข้อเสนอแนะที่ดีที่คนภายนอกอาจคิดไม่ได้
“โครงการขนาดใหญ่ นอกจากการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ในยุโรปยังเน้นระดมความคิดเห็นระดับกลุ่มย่อยด้วย เพื่อต้องการดึงข้อมูลจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตรง ๆ และทราบว่าจุดใดยอมรับได้หรือไม่ได้” นักวิชาการ มก. กล่าว
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ก่อนดำเนินโครงการต้องมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้นที่มีคนจำนวนหนึ่งเข้ามา ดังนั้น เพื่อป้องกันคนมาทะเลาะกัน ต่อไปจะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการปรึกษาหารือเข้าไปด้วย
สุดท้ายน.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ควรรวบรวมข้อเสนอวันนี้เกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการจัดทำ EIA ให้ สปช. เพื่อนำความคิดเห็นดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แทรกเนื้อหาเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าไปด้วย เพราะการจัดทำ EIA ที่ผู้ลงทุนเป็นคนจ้างนักวิชาการเอง และมีเงื่อนไขจ่ายเงินให้เมื่อ EIA ผ่านนั้น ถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะประเด็นที่ชาวบ้านหยิบยกขึ้นมาต่างเป็นเรื่องใหญ่ และปัญหาทั้งหมดเกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเวทีมีกลุ่มชาวบ้านจากหลายพื้นที่ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะกรณีการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ พื้นที่ จ.สุรินทร์ สระบุรี หรือกรณีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ท่าเทียบเรือและนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเล พื้นที่อ่าวอุดม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ล้วนสร้างผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านในอนาคตเกี่ยวกับการปกป้องฐานทรัพยากรจะเริ่มตื่นตัวมากขึ้น .