ถก “พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์” เสี่ยงละเมิดสิทธิ-ไม่หนุนศก.ดิจิทัล?
“...ทุกวันนี้ประเทศไม่ใช่จะมีแต่ความมั่นคงเมื่อมีกองทัพที่แข็งแกร่ง หรือมีอาวุธที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ความมั่นคงทางทหารจะไม่สามารถมั่นคงได้ เมื่อความมั่นคงด้านอื่นๆของประเทศไม่มั่นคง”
ชั่วโมงนี้ "ร่างกฎหมายดิจิทัล" ฉบับผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีข้อกังวลจากภาคประชาชนและธุรกิจ จนเกิดกระแสถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในกฎหมายบางฉบับ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบและดักฟังข้อมูลสื่อสารของประชาชนโดยไม่ต้องขออำนาจศาล ส่งผลให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องออกมายอมรับว่า กฎหมายมีข้อบกพร่อง และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไข
ล่าสุด สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ เสี่ยงละเมิด?
ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นและความกังวลของผู้เข้าร่วมเสวนา ไม่ต่างไปจากเครือข่ายภาคประชาชนที่แสดงพลังคัดค้านอย่างต่อเนื่องไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ได้ย้ำเตือนและถกเถียงถึงจุดอ่อนของพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเพื่อหาทางออกร่วมกัน
“สฤณี อาชวานันทกุล” ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง ย้ำว่า สิ่งที่ภาคประชาชนกังวลคือ รัฐใช้อำนาจกฎหมายดักฟังหรือสอดแนมข้อมูลส่วนตัวของประชาชนโดยไม่มีเหตุอันควร เช่นเดียวกับผู้ประกอบการธุรกิจที่ไม่อยากให้ข้อมูลทางการค้าตกอยู่ในอันตราย รวมทั้งความกังวลเรื่องเสถียรภาพและความปลอดภัยของระบบข้อมูล
ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการสร้างแนวคิดสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริง การดูแลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชนและผู้ประกอบการ เป็นหัวใจและพื้นฐานสำคัญในการเขียนกฎหมายที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ รัฐควรวางบทบาทให้ชัดเจนว่าเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการต่างๆ รวมทั้งมีส่วนในการวางมาตรฐานความปลอดภัยที่เหมาะสม และไม่ควรมีผลประโยชน์ทับซ้อน
“ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์” ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่า การร่างกฎหมายต้องนิยามเรื่องความมั่นคงให้รอบคอบว่าเป็นการออกกฎหมายให้ประเทศหรือผู้มีอำนาจ และประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องความมั่นคงอย่างไร
เนื่องจากปัจจุบันนิยามความมั่นคงไม่เหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่หากยังบัญญัติกฎหมายอยู่ในกรอบเดิมว่าการดูแลความมั่นคงเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจบริหารประเทศเท่านั้น จะมีความมั่นคงได้หรือไม่
“ทุกวันนี้ประเทศไม่ใช่จะมีแต่ความมั่นคงเมื่อมีกองทัพที่แข็งแกร่ง หรือมีอาวุธที่ทันสมัยเท่านั้น แต่ความมั่นคงทางทหารจะไม่สามารถมั่นคงได้ เมื่อความมั่นคงด้านอื่นๆของประเทศไม่มั่นคง”
“จักร์กฤษ เพิ่มพูล” ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ชี้ว่า กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลมีความโน้มเอียงเป็นชุดกฎหมายความมั่นคงอย่างน้อย 3 ฉบับ โดยเฉพาะประเด็นการจำกัดเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของบุคคลได้โดยใช้หลักความมั่นคงวินิจฉัย
ล่าสุด ตัวแทนสื่อมวลชนมีโอกาสเข้าหารือกับรัฐบาลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวและได้เสนอถอนกฎหมายที่เป็นเป็นปัญหาออกจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้มีการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง แต่รัฐบาลโดยดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตามยังเห็นว่า น่าจะมีการทบทวนร่วมกันอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดการพิจารณากันอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งส่งผลต่อการทำธุรกรรมค้าขายทั้งในและต่างประเทศ
“สุรางคณา วายุภาพ” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) แจงว่า จะนำข้อเสนอภาคประชาชนและสื่อมวลชนไปปรับแก้ไขร่างกฎหมายอย่างแน่นอน กระนั้นก็ตามไม่คิดว่าจะต้องถอนกฏหมาย แต่ต้องทำให้เกิดกลไกลการพิจารณาเพื่อหาทางออกที่พอดี สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและบริบทของประเทศไทย