รฟท.-ธ.อิสลาม ส่อเอื้อเอกชน!ผู้ค้า"อินสแควร์"ร้อง"อิศรา"สอบเสียหาย1.5พันล.
ผู้ประกอบการศูนย์การค้า"อิน สแควร์" หลังจัตุจักร หอบหลักฐานเข้าร้องเรียน "อิศรา" ช่วยตรวจสอบปัญหาถูกเบี้ยวเงินค่าเช่าซื้อตึกกว่า 1.5 พันล้าน เผยยืดเยื้อยาวนานหลายปี ชี้ปมพิรุธ "รฟท.-ธ.อิสลาม"ส่อเอื้อเอกชน ล่าสุดทำหนังสือถึง "ประยุทธ์" แล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ.58 ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำสัญญาเช่าซื้อพื้นที่ศูนย์การค้า อิน สแควร์ บริเวณหลังตลาดนัดจัตุจักร ได้เดินทางเข้าร้องเรียนและยื่นหลักฐานให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีได้รับความเสียหายจากการไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ศูนย์การค้าฯ เป็นระยะเวลายาวนานหลายปี ทั้งที่ จ่ายเงินค่าเช่าซื้อที่ให้กับโครงการไปจำนวนมากแล้ว
"กลุ่มประกอบการที่ทำสัญญาเช่าซื้อพื้นที่ค้าขายในศูนย์การค้าแห่งนี้ มีจำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยราย ที่ประสบปัญหา ตัวเลขความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท พวกเราจ่ายเงินให้โครงการไปแล้ว แต่ไม่รับโอนพื้นที่มาให้ เนื่องจากโครงการนี้มีปัญหาหลายอย่าง ทั้งในเรื่องแบบแปลนการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้อง ทำให้การรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) เจ้าของที่ยังไม่อนุมัติให้ ขณะที่การกู้ยืมเงินจากธนาคารอิสลามของโครงการ เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคาร จำนวนกว่า 1,700 ล้านบาท ก็มีพิรุธที่ชี้ให้เห็นถึงการเอื้อประโยชน์เอกชนอย่างชัดเจน"
ผู้ประกอบการรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโครงการได้เปลี่ยนตัวผู้บริหารใหม่ หลังจากผู้บริหารกลุ่มเดิมไม่แสดงความรับผิดชอบอะไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น ล่าสุดผู้บริหารชุดใหม่ ได้เริ่มเปิดเจรจาต่อรองกับผู้ประกอบ โดยยืนข้อเสนอว่า หากผู้ประกอบการรายใด ยืนยันจะเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ก็ให้เข้าไปทำสัญญาใหม่ พร้อมจ่ายเงินส่วนที่ค้างอยู่ และจะไม่เก็บค่าเช่าฟรี 1 ปี แต่หากใครต้องการเงินคืนทางโครงการจะยอมจ่ายคืนให้เพียงแค่ 50 %เท่านั้น
"ทางเลือกที่ผู้บริหารชุดใหม่เสนอมาให้ มันยากเกินกว่าที่เราจะรับได้ เพราะเท่าที่ทราบ รฟท.ก็ยังไม่เซ็นรับโครงการ เพราะการแก้ไขแบบไม่ถูกต้อง ส่วนใครจะเอาเงินคืน ก็คืนให้แค่ 50 % แบบนี้มันไม่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่พวกเราตระเวณเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือแต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ล่าสุดจึงได้มีการไปยื่นเรื่องต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เข้ามาช่วยสะสางปัญหานี้แล้ว"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลแผนลงทุนและพัฒนาศูนย์การค้าอิน สแควร์ ที่มีการร้องเรียนในช่วงที่ผ่านมา ระบุว่า บริษัท อินสแควร์ฯ เป็นผู้ทำสัญญาเช่าพื้นที่กับร.ฟ.ท.จำนวน 7.93 ไร่ เพื่อสร้างโครงการมูลค่า 546 ล้านบาท มีสัญญาเช่า 30 ปี โดยจ่ายผลตอบแทนเป็นค่าเช่าที่ดินเพื่อสิ่งปลูกสร้างอาคารและค่าเช่าที่ดินเพื่อจัดหาผลประโยชน์ให้กับร.ฟ.ท.ประมาณ 300 ล้านบาท และเมื่อโครงการสิ้นสุดสัญญาจะตกเป็นทรัพย์สินของรัฐต่อไป
แต่จากการตรวจสอบพบว่า ผู้บริหาร อิน สแควร์ ได้มีการก่อสร้างโครงการผิดแบบ โดยได้ยื่นขออนุมัติแบบจาก ร.ฟ.ท. จะก่อสร้างเป็นอาคารพลาซ่า 2 ชั้น อาคารที่พักอาศัย(คอนโดฯ)สูง 16 ชั้น ขนาดพื้นที่ 17,000 ตร.ม. มูลค่า 546 ล้านบาท แต่ผู้ดำเนินโครงการกลับมีการแก้ไขแบบพลาซ่า หรือศูนย์การค้าเป็น 8 ชั้น และคอนโดฯสูง 16 ชั้น รวมขนาดพื้นที่กว่า 80,000 ตร.ม. ทำให้มูลค่าโครงการฯเพิ่มสูงขึ้นกว่า 3,000 ล้านบาท ก่อนที่จะทำเรื่องขออนุมัติการแก้ไขแบบย้อนหลังมาที่ร.ฟ.ท.ในภายหลัง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ไม่สามารถอนุมัติแบบให้ได้ เพราะมีการเปลี่ยนโครงการจากพลาซ่าขนาดเล็กเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่เท่าศูนย์การค้าเซ็นทรัลฯ จะต้องดำเนินการพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจของร.ฟ.ท.ทำให้โครงการคาราคาซังอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการอนุมัติแบบจากร.ฟ.ท.นั้น ได้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มผู้บริหารอิน สแควร์ โดยมีการเปลี่ยนผู้ร่วมทุนและผู้บริหารชุดใหม่หลายชุด จนกระทั่งล่าสุดได้นำกลุ่มบริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด เข้ามาและอ้างว่า ได้เข้าซื้อโครงการนี้จากกลุ่มเดิมแล้ว ยิ่งทำให้ผิดเงื่อนไขการเช่าที่ของร.ฟ.ท.ที่ห้ามการเช่าซื้อหรือเซ้งต่อ ในส่วนของการเยียวยาผู้เช่าโครงการอิน สแควร์ นั้น ร.ฟ.ท.ไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ว่า จะดำเนินการอย่างไร เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุสถานะที่แท้จริงได้ว่า โครงการนี้ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงและไม่สามารถบอกได้ว่า จะเปิดโครงการได้หรือไม่ เนื่องจากมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง มีกล่าวกล่าวหาว่า ผู้บริหารโครงการมีการเงินลงทุนที่กู้จากธนาคารอิสลาม จำนวน 1,700 ล้านบาท แบบผิดประเภท และที่สำคัญยังติดขัดข้อกฎหมายด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google