ฟัง!! กมธ.วิสามัญฯ เผยทำหนังสือถึง ครม.เบรกร่างประกันสังคม ตัดสิทธิว่างงาน
กมธ.วิสามัญฯ มีมติทำหนังสือถึง ครม.ทบทวนผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ตัดสิทธิว่างงาน ‘ปธ.สภาองค์การลูกจ้างฯ’ กร้าวรัฐบาลต้องฟัง ไม่ฟัง ถือทวนกระแส เตรียมนัดถกครั้งสุดท้าย 23 ก.พ. 58 ก่อนชง สนช.วาระ 2-3
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับ...) พ.ศ. ... เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงมติล่าสุดกรณีเครือข่ายผู้ใช้แรงงานออกมาคัดค้านการผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวตัดสิทธิกรณีว่างงานว่า ที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 โดยผู้แทนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้ารับฟังด้วย ซึ่งมีข้อสรุปให้ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหาทางออกกรณีนี้ เพราะถือเป็นการลดสิทธิผลประโยชน์ของผู้ประกันตน จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิที่กระทำไม่ได้
หากไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของแรงงานผู้ประกันตน ประธานสภาองค์กรลูกจ้างฯ กล่าวว่า มีโอกาสเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้น เพราะผู้ประกันตนส่วนใหญ่มองเห็นประโยชน์จากเงินที่จะได้รับกรณีว่างงาน แม้จะเป็นจำนวนน้อย แต่ยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ ฉะนั้นหากปฏิเสธการปฏิรูปแรงงานครั้งนี้เสียของแน่
“สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม วาระ 1 มาแล้ว ซึ่ง กมธ.วิสามัญฯ ไม่รู้เรื่องด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องแก้ไขตามนั้น ทวนกระแสแรงงานไป ทั้งที่การแก้ไขที่ผ่านมา 2 รอบ ไม่เคยมีกรณีลดสิทธิประโยชน์” นายมนัส กล่าว และว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยิบยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาพิจารณาเร่งด่วน เพื่อหวังเพิ่มสิทธิประโยชน์ของแรงงานค่อนข้างมาก จะมีเพียงกรณีสิทธิว่างงานที่กำลังเป็นปัญหา
ประธานสภาองค์การลูกจ้างฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลจึงต้องหาทางแก้ไข แม้จะรับหลักการในวาระ 1 มาแล้วก็ตาม ผ่านช่องทางพิเศษต่าง ๆ เพื่อให้ สนช.มีมติให้กลับไปใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เหมือนเดิม เพราะขณะนี้ไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่เต็มใบ ฉะนั้นจึงสามารถทำได้ และส่วนตัวได้ขอสงวนคำแปรญัตติไว้อภิปรายในวาระ 2 และ 3 ต่อไป ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการลิดรอนสิทธิดังกล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับ ...) พ.ศ. ...จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ต้นเดือนมีนาคม เนื่องจากต้องรอมติที่ประชุม ครม.วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ก่อน และกมธ.วิสามัญฯ จะประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อลงมติจะกลับไปใช้ตามฉบับเดิมหรือไม่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558
เมื่อถามถึงสาเหตุการตัดสิทธิกรณีว่างงานมาจากข้อกังวลต้องจ่ายเงินแก่แรงงานที่ลาออกจำนวนมาก เพราะบริษัทปิดกิจการหรือไม่ นายมนัส ระบุว่า สถิติย้อนหลัง 3 ปี ไม่พบกองทุนกรณีว่างงานขาดทุน โดยเฉพาะปี 2557 มีแรงงานลาออกเพียงกว่า 2 หมื่นคนเท่านั้น จึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลทำให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องตัดสิทธิว่างงาน อย่างไรก็ตาม กลับอ้างว่า ในต่างประเทศไม่มีการให้สิทธิประโยชน์ส่วนนี้ ซึ่งความจริงแล้ว มีข้อมูลในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีอยู่ ดังนั้น รัฐบาลต้องฟัง ถ้าไม่ฟัง ถือว่าทวนกระแส
ประธานสภาองค์การลูกจ้างฯ ยังกล่าวถึงการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ชายแดนรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทย จะมีบ้างก็เพียงกรณีเสียเปรียบแรงงานข้ามชาติที่โยกย้ายเข้ามาทำงานมากขึ้น ประกอบกับการตรวจคนเข้าเมืองของไทยมีมาตรฐานไม่ดีพอ แต่สิ่งที่กังวล คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ อาจเกิดปัญหาในอนาคต จึงเรียกร้องให้ สนช.เปลี่ยนนิยามให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้า มิฉะนั้นค่าแรงงาน 300 บาท ในปัจจุบัน จะเป็นค่าจ้างประจำปี ซึ่งไม่มีการปรับเพิ่ม ไม่ว่าจะทำงานมากี่ปีก็ตาม .