แกะรอยโพลล์ ศอ.บต. ต้นเหตุรัฐกล้าประกาศชายแดนใต้ใกล้สงบ?
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับสมาคมชาวปัตตานี สมาคมชาวนราธิวาส สมาคมชาวยะลา สมาคมชาวสงขลา และสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเสวนาหัวข้อ "ชายแดนใต้บ้านเรา วันนี้ดีขึ้นแล้ว"
กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่สมาคมชาวปักษ์ใต้ฯ ย่านทวีวัฒนา กรุงเทพฯ เพื่อตอกย้ำว่าสถานการณ์ในพื้นที่ปลายด้ามขวานเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก ถึงขั้น "ใกล้สงบ" กันเลยทีเดียว
คุณภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. และ พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พูดตรงกันว่า กลุ่มก่อความไม่สงบกำลังเริ่มเสียแนวร่วมทางอุดมการณ์และยุทธศาสตร์ เข้าสู่ช่วง "ถดถอย" หรือ "เสื่อมถอย" ของขบวนการก่อความไม่สงบแล้ว ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ทุกหมู่เหล่า ทั้งผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนท้องถิ่น พากันหันมาร่วมมือกับรัฐมากยิ่งขึ้น
หลักฐานที่นำมาอ้างอิง คือ ข้อมูลสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบที่มีตัวเลขลดลงมาก ทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
สถิติเหตุรุนแรงลดลงนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะฝ่ายรัฐโหมประโคมข่าวอยู่บ่อยๆ แต่ในงานมีการหยิบผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือ "โพลล์" ที่ ศอ.บต.จัดทำร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สำรวจทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ในพื้นที่ 37 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของ จ.สงขลา มาเปิดเผยด้วย
ผลสำรวจพบว่า ช่วงเวลา 4 เดือนของรัฐบาล คสช.กับการแก้ปัญหาชายแดนใต้นั้น ประชาชนร้อยละ 78 มองว่าเหตุการณ์รุนแรงลดลง ร้อยละ 72 เห็นว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้วในการแก้ปัญหา และร้อยละ 68 มั่นใจในการทำงานของ ศปก.อำเภอว่ามีเอกภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อมูลผลสำรวจที่เปิดเผยกันในงานมีอยู่เท่านี้ ซึ่งนับว่าน่าสนใจ เพราะเป็นตัวเลขที่จัดทำโดยสถาบันการศึกษา หนำซ้ำยังเป็นทิศทางบวกเกือบทั้งสิ้น จึงมีกระแสถามหาผลสำรวจฉบับเต็ม
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ศอ.บต.เคยเผยแพร่ผลสำรวจชุดนี้ โดยจัดทำเป็นเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ แต่ไม่ทราบว่ามีความผิดพลาดทางเทคนิคอย่างไร จึงขอยกเลิกข่าวถึง 2 ครั้ง 2 ครา
เท่าที่ได้ศึกษาดูข่าวผลสำรวจก่อนถูกยกเลิกการเผยแพร่ ก็พบตัวเลขในทิศทางบวกจริงๆ...
ตัวเลขชุดแรก เป็นผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 7 เดือนของ คสช. (1 มิ.ย.ถึง 28 ธ.ค.57) ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม 37 อำเภอ จำนวนแบบสำรวจ 1,800 ชุด สำรวจระหว่างวันที่ 26-28 ธ.ค.57 พบว่า
- การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.19
- มีความเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในระดับตำบลและหมู่บ้านดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 44.78
- หน่วยงานของรัฐทำงานร่วมกันโดยยึดปัญหาประชาชนระดับตำบล หมู่บ้าน (บูรณาการงาน) ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 38.56
- การลงพื้นที่มาพบปะเยี่ยมเยียนของรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูง สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มาก คิดเป็นร้อยละ 38.06
ด้านความเชื่อมั่นต่อนโยบายการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า
- ประชาชนมีความเห็นต่อบทบาทของศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดคือการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 38.67 รองลงมาคือ ให้ความเป็นธรรม ร้อยละ 37.74 และการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 21.65
ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประชาชนเห็นว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีบทบาทสำคัญในด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 44.57 รองลงมาคือการให้ความเป็นธรรม ร้อยละ 39.84 และการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 21.65
- ประชาชนเห็นว่าผู้นำศาสนาทุกศาสนิกมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรัก ความสามัคคี ปรองดอง ภายในหมู่บ้านและชุมชน ร้อยละ 37.52 ด้านการให้ความรู้ความเข้าใจด้านศาสนาที่ถูกต้อง ร้อยละ 36.85 ด้านการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมในชุมชนและหมู่บ้าน ร้อยละ 25.35
บทสรุปท้ายผลสำรวจ เทียบกับการสำรวจรอบ 4 เดือนแรกของ คสช. (1 มิ.ย.ถึง 30 ก.ย.57) ปรากฏว่าดีขึ้นทุกด้าน
- ประชาชนมีความเห็นว่าความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น ร้อยละ 38.86
- การแก้ปัญหาปัญหายาเสพติดดีขึ้น ร้อยละ 17.18
- ความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพดีขึ้น ร้อยละ 20.08
- การปฏิบัติศาสนกิจในชุมชนดีขึ้น ร้อยละ 20.08
- การได้รับการศึกษาดีขึ้น ร้อยละ 38.89
- ความสัมพันธ์ของคนพุทธกับมุสลิมในชุมชนดีขึ้น ร้อยละ 32.35
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากชุดตัวเลขทั้งหมดพบปัญหาคือ ผลสำรวจที่สรุปมานี้ ตัดมาเฉพาะผลด้านบวก โดยไม่ได้นำเสนอคะแนนในทัศนะด้านอื่นๆ จึงไม่แน่ว่าคะแนนความพึงพอใจที่ปรากฏนั้น เป็นสัดส่วนสูงสุดของประชาชนที่สุ่มสำรวจหรือไม่
ขณะที่จำนวนร้อยละที่ระบุว่า "ดีขึ้น" นั้น เป็นอัตราส่วนของการดีขึ้น หรืออัตราส่วนของประชาชนที่เห็นว่าดีขึ้น โดยตัวเลขที่แทนค่า 2 แบบที่ว่านี้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องระบุให้ชัด
มิฉะนั้นก็จะสรุปได้ไม่ชัดว่าดีขึ้นจริงหรือไม่!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศในงานเสวนา "ชายแดนใต้บ้านเรา วันนี้ดีขึ้นแล้ว" ที่สมาคมชาวปักษ์ใต้ฯ
ขอบคุณ : ภาพจาก ภาพบรรยากาศงานเสวนา "ชายแดนใต้บ้านเรา วันนี้ดีขึ้นแล้ว" โดย สำนักสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.
อ้่านประกอบ : "ศอ.บต.-ทหาร" ลั่นขบวนการป่วนใต้ถดถอย ยกโพลล์ยันสถานการณ์ดีขึ้น