คปค.ยื่นแจงผลเสียตัดสิทธิ'ลาออก' ขอกลับไปใช้ตามกม.ประกันสังคมปี 33
เครือข่ายแรงงานยื่นหนังสือขอสนช.ทบทวนนิยาม "ว่างงาน" ใหม่ แจงเหตุผลระบุกม.ประกันสังคม 25 ปียังไม่เคยรอนสิทธิผู้ประกันตนมาก่อน และคนงานส่วนใหญ่ยังคงถูกบังคับให้ลาออก
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557 ที่รัฐสภา เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร ประกอบด้วย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย และ สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำโดยนายมนัส โกศล นายภาคภูมิ สุกใส นายบัณฑิต แป้นวิเศษ เข้าพบและยื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติ และประธานกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ... ขอให้พิจารณาทบทวนและแก้ไขนิยามคำว่า "ว่างงาน" ในร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ...
เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ระบุในหนังสือที่ยื่นต่อประธานกรรมาธิการวิสามัญ โดยให้แก้ไขนิยามคำว่า "ว่างงาน" ที่บัญญัติใหม่ตามมาตรา 5 ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ให้กลับไปใช้นิยามตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนที่ออกจากงานทุกกรณี
ขณะเดียวกฎหมายประกันสังคมที่บังคับมาแล้ว 25 ปี ยังไม่เคยมีการลดหรือลิดรอนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาก่อน มีแต่การพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกันตนมาโดยตลอด
นอกจากนี้ การจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนการว่างงานย้อนหลัง 3 ปี (2555-2557) เป็นเงิน 178 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของกองทุนประกันสังคมสัดส่วนการว่างงาน ในปีพ.ศ. 2556 มีจำนวนเงินถึง 90,331 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะกระทบต่อสถานะของกองทุนแต่อย่างใดและไม่ควรนำมาเป็นเหตุผลหลัก
ในหนังสือของเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ยังระบุด้วยว่า ข้อเท็จจริงการจ้างงานภายใต้กระแสทุนนิยม พบว่า การลาออก มักเกิดจากการกดดันและบีบบังคับให้ลาออกอย่างไม่เต็มใจหรือผิดธรรมชาติ เช่น มีพนักงานลาออกในครั้งเดียวกัน จำนวน 6,000 คนของบริษัทรามาชูส์ อินดัลทรี ในปี พ.ศ. 2552
และ ณ ปัจจุบันปรากฏการณ์ดังกล่าว ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการบัญญัตินิยาม "ว่างงาน" ใหม่ ถือเป็นการเพิ่มช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมในอนาคต
นายภาคภูมิ สุกใส สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานตัวแทนตัวแทนเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวถึงการเข้ายื่นหนังสือ เพื่อยืนยันให้กลับไปใช้นิยาม "ว่างงาน" ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เนื่องจากเรื่องสิทธิว่างงานดีอยู่แล้ว ทั้งนี้ ทางคปค.ได้เตรียมนัดเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) และสนช.ท่านอื่นๆ ด้วย เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและขอให้สนับสนุนการใช้กฎหมายเดิมในกรณีว่างงานเพื่อให้กฎหมายใหม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนแทนที่จะเป็นการตัดสิทธิผู้ประกันตน
นายภาคภูมิ กล่าวถึงการที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ถูกหักทุกเดือน เงินส่วนนี้มีค่าประกันว่างงานอยู่ด้วย ทุกคนจึงมีสิทธิใช้ ขณะเดียวกันเจตนารมณ์ของกองทุนประกันสังคม คือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ถ้าสมาชิกคนใดคนหนึ่งเกิดการว่างงาน ก็ได้รับความเดือดร้อน กองทุนประกันสังคมจะต้องมาบรรเทาความเดือดร้อน
"เราไม่ควรจะเอาบริบทของนานาชาติมาใช้ เพราะประเทศต่างๆ ในระดับสากลนั้น มีการจ้างงาน หรือปฏิบัติกับผู้ใช้แรงงานอย่างตรงไปตรงมา แต่สำหรับประเทศไทย มีเงื่อนไขพิเศษมากมายที่ทำให้เกิดการว่างงาน เนื่องจากผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยยังถูกกดขี่อีกมาก เช่น การลาออกพร้อมๆ กันเป็นร้อยเป็นพันคน หรือเจ้าของบีบให้ลูกจ้างลาออกเพราะจะย้ายโรงงาน ดังนั้น คำว่า "ว่างงานจากการลาออก" จึงต้องอยู่" นายภาคภูมิ กล่าว
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:กรณีว่างงาน หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์