คน-เทคโนโลยีไม่พร้อม วิศวฯ จุฬาฯ หวั่นเป็นระเบิดเวลา พัฒนารถไฟไทย
นักวิชาการจุฬาฯ แนะรัฐบาล เตรียมความพร้อมบุคคลาการด้านรถไฟ ปฏิรูป รฟท.- รฟม. ไม่ให้ซ้ำซ้อน เสนอผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนในประเทศ ชี้ผลศึกษาที่ผ่านมารัฐเสียงบไปกับการซ่อมบำรุง 2 เท่าของราคาค่ารถไฟ
9 กุมภาพันธ์ 2558 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดแถลงข่าว “ข้อเสนอแนะต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบรางของประเทศไทย" ณ ห้อง 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในการแถลงข่าว
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้พยายามที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศไทย โดยมีแนวโน้มที่จะใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 2 ล้านล้านบาท มาสู่ 2.4 ล้านล้านบาท จนกระทั่งเกิดเป็นโครงการ 3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนในโครงการระบบต่างๆของราง โครงการเหล่านี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศที่เป็นที่สนใจของคนในสังคมวงกว้าง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลตลอดจนสังคมไทยควรจะได้ตระหนักและเข้าใจจุดอ่อนจุดแข็ง ข้อดีข้อเสีย และสิ่งที่ควรระมัดระวัง การเตรียมการ การใช้ประโยชน์ อย่างรอบด้าน
อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า เมื่อโครงการนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน โดยมีรายละเอียดข้อตกลงให้รัฐบาลจีนดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาระบบไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน ในเส้นทางหนองคาย โคราช แก่งคอย ท่าเรือมาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย กรุงเทพฯ นั้นเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบและมีผลผูกพันในระยะยาว และถือเป็นโจทย์ใหญ่ข้อหนึ่งของประเทศที่จะต้องร่วมกันศึกษาและแนะนำแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับโจทย์ที่กำลังเกิดขึ้น
ด้านผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬฯ กล่าวว่า คำถามรถไฟความเร็วสูงจำเป็นหรือไม่ยังไม่สำคัญเท่ากับทำไปเพื่ออะไร การกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมและยั่งยืน คือสิ่ งที่สำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางให้กับการพัฒนาประเทศได้
"ปัญหาที่ผ่านมาเราไม่เคยมีความพร้อมในการรองรับและจัดการเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอะไหล่ หรือการคิดจะใช้อะไหล่ในประเทศทดแทน ส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ ซึ่งทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เริ่มศึกษาและเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ ปี 2552 พบว่า ทุกครั้งที่ซื้อรถไฟ ซื้อมาในราคาเท่าไหร่จะเสียค่าซ่อมบำรุงเป็น 2 เท่าของราคารถไฟที่ซื้อมาตลอดอายุการใช้งาน" ผศ.ดร.ประมวล กล่าว และยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ชัด กรณีแอร์พอร์ตลิ้งค์ ไม่สามารถซ่อมเสร็จได้ตามกำหนดเวลาเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง อะไหล่ชิ้นส่วนที่จำเป็นไม่มี ต้องรอการสั่งซื้อและทำให้เกิดปัญหา จนกระทั่งเราต้องออกมาแถลงข่าวเรื่องความปลอดภัย นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
ผศ.ดร.ประมวล กล่าวด้วยว่า หากโครงการที่พัฒนาไม่มีการเตรียมการรองรับโดยเฉพาะองค์กรที่มีปัญหาไม่ปรับเปลี่ยนปฏิรูปรูปแบบการบริหารสิ่งเหล่านี้ก็จะเป็น "ระเบิดเวลา" ที่จะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทบทวนและเตรียมความพร้อมคือ วันนี้เรากำลังทำอะไรเพื่ออะไรด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้ชัดเจน การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และสิ่งสุดท้ายคือการเตรียมความพร้อมด้านบุคคลากรควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการต่างๆของประเทศ และนายกจะต้องนั่งเป็นหัวโต๊ะของโครงการนี้
“ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากได้รถไฟความเร็วสูง และไม่ใช่ว่าไม่ส่งเสริมโครงการนี้ ที่ออกมานำเสนอก็ไม่ได้ต้องการขวางการพัฒนา เพียงแต่เห็นว่า อยากให้เราเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นและจะได้ไม่มีปัญหาในอนาคต”
ขณะที่ รศ.ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงกรณีการตั้งกรมราง ว่า เห็นด้วยที่จะมีกรมรางเกิดขึ้น แต่สิ่งที่รับฟังตอนนี้คือการให้กรมรางทำหน้าที่ก่อสร้างซ่อมบำรุงและกำกับดูแลระบบรางนั้น ความจริงควรจะกำหนดภารกิจของกรมรางให้ชัดเจน เพราะในต่างประเทศกรมรางจะมีหน้าที่ในการกำกับดูแลระบบราง แต่เรื่องการก่อสร้างจะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งหรือไม่ ก็ตั้งเป็นองค์กรอิสระขึ้นมาไม่มีใครเอามาร่วมกัน
"หากถามว่าการตั้งกรมรางขึ้นมานั้นจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพของการทำงานขึ้นได้มากน้อยเพียงใดก็ตอบได้ว่าระดับหนึ่ง แต่หากอยากให้เกิดประสิทธิภาพที่มากขึ้นก็ควรแยกออกจากการก่อสร้างและกำหนดภารกิจกรมรางให้ชัดเจน ที่สำคัญองค์กรของรฟท.และรฟม.ที่มีความซับซ้อนก็ควรมีการปฏิรูปให้ดีขึ้น"
ส่วนรศ. สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬฯ กล่าวว่า ในด้านนโยบายการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยตั้งความหวังจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมด้านอื่น นอกเหนือจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสิ่งที่ต้องทำและต้องคิดคือ เราจะเป็นแค่เพียงทางผ่านของสินค้า หรือจะคิดผลักดันว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าของเราสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้
"ที่ผ่านมาเราไม่เคยคิด ดังนั้นนี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีความจำเป็น อย่ามองแค่เพียงการลงทุนด้านพื้นฐานต้องหันมามองอุตสาหกรรม การสนับสนุนและเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย