"ศอ.บต.-ทหาร" ลั่นขบวนการป่วนใต้ถดถอย ยกโพลล์ยันสถานการณ์ดีขึ้น
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับสมาคมชาวปัตตานี สมาคมชาวนราธิวาส สมาคมชาวยะลา สมาคมชาวสงขลา และสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเสวนาหัวข้อ "ชายแดนใต้บ้านเรา วันนี้ดีขึ้นแล้ว" เพื่อตอกย้ำว่าสถานการณ์ในพื้นที่ปลายด้ามขวานเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นที่สมาคมชาวปักษ์ใต้ฯ ตั้งอยู่ริมถนนกาญจนาภิเษก แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ก.พ.58
ผู้ร่วมงานภาครัฐ ประกอบด้วย นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. พล.ต.ต.สาคร ทองมุณี รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ (รองผบช.ศชต.) พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ นายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ฯ ทั้งหมดขึ้นเวทีร่วมเสวนา โดยมีสมาชิกสมาคมฯ ชมรม พี่น้องประชาชนชาวภาคใต้ที่อาศัยและประกอบอาชีพในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
นายภาณุ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาครั้งนี้เพื่อต้องการบอกกล่าวให้พี่น้องชาวใต้ที่อาศัยในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริงว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างไร รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่อไป
จากข้อมูลสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบ พบว่ามีตัวเลขลดลง ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลดลงมาก แสดงถึงสถานการณ์รุนแรงได้รับการคลี่คลายแล้ว รวมถึงดัชนีด้านเศรษฐกิจมีการลงทุนจากผู้ประกอบการทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่สนใจเข้ามาค้าขายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการผลิตสินค้าและส่งออกสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนได้พัฒนาดีขึ้นด้วย
สำหรับแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกฝ่ายมีเอกภาพ โดยดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ใช้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) เป็นตัวขับเคลื่อน ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาในระดับหมู่บ้าน ชุมชน เน้นการดูแลความปลอดภัย ดูแลการศึกษา และศาสนา การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการอำนวยความยุติธรรม จึงเชื่อว่าสถานการณ์ในปัจจุบันดีขึ้นอย่างแน่นอน
"ผมยืนยันว่าวันนี้ประชาชนมีความรู้สึกไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมาก สิ่งที่สะท้อนเป็นตัวอย่างได้ดี คือ การที่มีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) เพิ่มขึ้นถึง 2 หมื่นคน จากสัดส่วนประชากรในพื้นที่ทั้งหมด 2 ล้านคน โดยมีการผลัดเปลี่ยนกันออกมาร่วมรักษาความปลอดภัยกันทุกวัน สร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนและข้าราชการครูที่รับราชการในพื้นที่"
"ผมคิดว่าเหมือนเป็นการตอบแทนซึ่งกันและกัน เพราะชาวบ้านที่ออกมาร่วมกับภาครัฐมากขึ้นในการคุ้มครองดูแลครู ก็ทำให้ครูต้องแสดงความเอาใจใส่ในบุตรหลานของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนว่าแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบนั้นเริ่มเสียแนวร่วมทางอุดมการณ์และยุทธศาสตร์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเข้าช่วงถดถอยของขบวนการก่อความไม่สงบแล้ว" นายภาณุ ระบุ
พล.ต.ชินวัฒน์ กล่าวว่า สถิติการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ขณะนี้ลดลงไปมาก แต่ยอมรับว่ายังมีบางส่วนที่เกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นส่วนน้อย เพราะปัจจุบันฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนั้นสูญเสียแนวร่วม รวมทั้งยังเข้าสู่ช่วงเสื่อมถอยของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
ในอดีตการปะทะกันนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่หมู่บ้านเป็นหลัก แต่ในระยะหลังมานี้ ยิ่งในช่วงรัฐบาล คสช. (หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง) การปะทะกันเปลี่ยนไปอยู่ตามปอเนาะ อยู่ตามพื้นที่ป่าเขา แสดงให้เห็นว่าการดำเนินแผนของฝ่ายความมั่นคงได้ผลแล้ว สามารถบีบให้ผู้ก่อความไม่สงบสูญเสียพื้นที่หมู่บ้าน ต้องเข้าไปเคลื่อนไหวตามป่าเขา
ขณะที่ พล.ต.ต.สาคร กล่าวว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นอกจากคดีความมั่นคงแล้ว ยังมีปัญหาภัยแทรกซ้อน จากผลสำรวจพบว่าสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ ปัญหายาเสพติด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันมีแนวโน้มการสูญเสียและบาดเจ็บลดลงเป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนให้มีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น มีการป้องกันเหตุร้ายในเขตเมือง รวมทั้งสามารถติดตามความคืบหน้าจับกุมผู้ก่อเหตุคดีสำคัญได้ และใช้การตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการดำเนินคดี
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ขณะนี้พี่น้องประชาชน ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ออกมาช่วยกันแก้ไขปัญหา จะเห็นได้ว่าทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสันติสุขอย่างยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายในงานได้มีการเปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่ ศอ.บต.จัดทำร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อสำรวจทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ในพื้นที่ 37 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของ จ.สงขลา
ผลสำรวจพบว่า ช่วงเวลา 4 เดือนของรัฐบาล คสช.กับการแก้ปัญหาชายแดนใต้นั้น ประชาชนมองว่าเหตุการณ์รุนแรงลดลงร้อยละ 78 เห็นว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้วในการแก้ปัญหา ร้อยละ 72 และมั่นใจในการทำงานของ ศปก.อำเภอว่ามีเอกภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ร้อยละ 68
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพบรรยากาศงานเสวนา "ชายแดนใต้บ้านเรา วันนี้ดีขึ้นแล้ว" โดย สำนักสารสนเทศและประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.