คปก.ดันร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เอื้อ SMEs
คปก.ดันร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เอื้อSMEs-ปชช.เข้าถึงแหล่งเงินทุน ขจัดเงินกู้นอกระบบ
เร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย นาย คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “แผนการให้มีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยคปก.ได้พัฒนาปรับปรุงร่างพรบ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ... เพื่อให้มีความชัดเจน ยืดหยุ่นและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจและประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น ขจัดปัญหาแหล่งเงินทุนนอกระบบ โดยมีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่เป็นธรรม ให้ความมั่นใจแก่ผู้ให้สินเชื่อและผู้ขอสินเชื่อ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดเล็กและประชาชนในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และจะช่วยทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น
คปก.เห็นว่าสัญญาหลักประกันจะต้องไม่มีลักษณะที่ไม่เป็นธรรมหรือทำให้ผู้ให้หลักประกันเสียเปรียบเกินควร โดยข้อสัญญาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม และคู่สัญญาผู้รับหลักประกันจะต้องเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการในด้านการให้สินเชื่อเป็นธุรกิจหลักเท่านั้น เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีความรู้ความชำนาญเพียงพอที่จะรองรับระบบหลักประกันในระบบใหม่อันเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นใช้บังคับกฎหมายนี้
สำหรับทรัพย์สินที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกันได้นั้น ในภาพรวมผู้ให้หลักประกันสามารถนำทรัพย์สินทั้งหลายนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ โดยร่างพรบ.หลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้ประเภททรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันตามสัญญาได้มี 6 ประเภท ได้แก่ กิจการ สิทธิเรียกร้อง (เช่น สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ เป็นต้น) สังหาริมทรัพย์ (เช่น เครื่องจักร วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า เป็นต้น) อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินทางปัญญา และทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจหรือประชาชนสามารถนำทรัพย์สินที่ตนมีสิทธิอยู่ในปัจจุบันหรือที่จะได้มาตามสัญญาในอนาคตมาเป็นหลักประกันก็ได้
นอกจากนี้ ร่างพรบ.ฯ ฉบับดังกล่าวยังกำหนดโทษอาญาต่อการกระทำโดยทุจริตของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสัญญาหลักประกัน เพื่อคุ้มครองระบบทะเบียนหลักประกันและคุ้มครองคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องที่สุจริตด้วย
ทั้งนี้ คปก.ได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมาอย่างยาวนาน และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางและทั่วถึง เพื่อให้กฎหมายเกิดความรอบคอบสมบูรณ์มากที่สุด อันจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกในอัตราต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการขยายตัว ส่งเสริมการจ้างงานและธุรกิจการส่งออก และสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนและธุรกิจเตรียมพร้อมสู่การแข่งขันในตลาดอาเซียน