รัฐยันไม่มีคนไทยร่วม"ไอเอส" กูรูตปท.เตือน"อย่าประมาท"
วงเสวนาผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ระบุ การแพร่ขยายอุดมการณ์ "ไอเอส" ยังไม่เป็นปัญหาใหญ่ของไทย แต่ห้ามประมาท ส่วนในภูมิภาคอาเซียนต้องระวังกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะ เรียกร้องพลังเงียบมุสลิมลุกขึ้นต่อต้านพฤติกรรมโหดร้ายสุดโต่ง "จรัญ มะลูลีม" แย้มมีเครือข่ายรัฐอิสลามที่ปัตตานี ด้านฝ่ายความมั่นคงโต้ทันควัน ยืนกรานประเทศไทยปลอดไอเอส
วงเสวนาหัวข้อ "นักรบอิสลามและความยุ่งเหยิงในตะวันออกกลาง: บทเรียนและความหมายต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" หรือ Mlitant Islam and Middle East Turmoil : Lessons from and Inplications for Southeast Asia ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ก.พ.58 นักวิชาการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางจากอิสราเอล รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นตรงกันว่าภัยคุกคามจากกองกำลังรัฐอิสลาม หรือ "ไอเอส" ยังไม่เป็นปัญหาใหญ่ของไทย แต่ก็ไม่ควรประมาท
ขณะที่ในระดับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนนั้น แม้อิทธิพลและอุดมการณ์ของไอเอสเริ่มก่อปัญหา แต่ขนาดของปัญหาก็ยังไม่ใหญ่ถึงขั้นวิกฤติ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ท้าทายก็คือภูมิภาคนี้จะเป็นแหล่งบ่มเพาะของไอเอสหรือไม่ เพราะจะว่าไปแล้วการขยายอิทธิพลของไอเอสเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจังอาจยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะไอเอสเองต้องพะวงกับการถูกโจมตีอย่างหนักของสหรัฐและชาติพันธมิตรในตะวันออกกลาง
ที่สำคัญบริบทปัญหาของตะวันออกกลางกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่เหมือนกัน
ประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่าต้องเร่งค้นหา ก็คือ ต้นตอที่แท้จริงของไอเอส และวิธีการบ่มเพาะอุดมการณ์ ขณะนี้สิ่งที่ประเทศในอาเซียนทำอยู่ โดยเฉพาะประเทศที่เผชิญปัญหาไอเอสแล้วอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย คือเน้นการสอดส่องดูแลผู้คนที่เดินทางเข้า-ออกประเทศอย่างเข้มงวด และมอนิเตอร์กลุ่มที่รับอุดมการณ์ไอเอสอย่างใกล้ชิด
วงเสวนายังแสดงความเชื่อมั่นว่า มุสลิมส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำที่สุดโต่งรุนแรงของไอเอส จึงหวังให้มีพลังเงียบของมุสลิมลุกขึ้นมาต่อต้านขัดขวางเพื่อยุติการกระทำอันโหดร้ายทารุณ
"จรัญ"แย้มไทยมี"ไอเอส"
กล่าวเฉพาะประเทศไทย มีข่าวอย่างไม่เป็นทางการมาตลอดว่าอาจมีคนสัญชาติไทยไปร่วมรบกับไอเอสบ้างแล้ว และอาจมีความเชื่อมโยงกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และส่วนหนึ่งปฏิเสธอยู่ใต้การปกครองของรัฐไทย
ดร.จรัญ มะลูลีม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโลกมุสลิม ให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งว่า ขณะนี้ไอเอสถือเป็นปัญหาหนึ่งของอาเซียนไปแล้ว แต่ในบรรดาประเทศใกล้เคียงกับไทยต้องถือว่าอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางมากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะมีกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มที่ใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์มาก่อน และที่ผ่านมาก็มีคนจากอินโดนีเซียไปร่วมรบกับไอเอสมากที่สุดในภูมิภาค รองลงมาคือมาเลเซีย
"ไอเอสมีปัญญาชนเข้าร่วมเยอะ อย่างกรณีมาเลเซีย ผู้เข้าร่วมมีทั้งวิศวกร เภสัชกร ถ้าเป็นแรงงานก็เป็นพวกแรงงานมีทักษะ จึงมีความเก่ง และมีความรู้พอสมควร"
ในส่วนของประเทศไทย ดร.จรัญ บอกว่า จนถึงบัดนี้มีการยืนยันจากข่าวหลายแหล่งว่าอาจมีไอเอสที่ จ.ปัตตานี 1 คน แต่ในหมู่ชาติอาเซียนด้วยกันถือว่าไทยมีปัญหานี้น้อยมาก อาจเป็นเพราะจริตการเคลื่อนไหวของไอเอสแตกต่างกับกลุ่มแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทย ทำให้ไม่มีใครดิ้นรนไปร่วมกับไอเอส
ไอเอส: มรดกของอเมริกา
กับเสียงประณามเรื่องความโหดเหี้ยมของไอเอส ดร.จรัญ บอกว่า สิ่งที่อเมริกันทำกับกลุ่มมุสลิมที่อยู่ตรงข้ามก็โหดเหี้ยมไม่น้อยเหมือนกัน จึงเกิดการเลียนแบบกันขึ้น เช่น นำเชลยที่ถูกจับตัวได้ไปสวมเสื้อสีส้มเหมือนกับที่สหรัฐเคยทำ หรืออย่างนักบินชาวจอร์แดนที่ถูกสังหาร ก็เป็นคนที่เอาเครื่องบินมาถล่มไอเอส สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าปฏิบัติการอะไรที่ใช้ความรุนแรง ก็จะถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง
"จริงๆ แล้วไอเอสคือมรดกของอเมริกา แม้ไม่ได้ตั้งใจสร้าง แต่อเมริกา ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ ตุรกี ประเทศเหล่านี้ต้องการโค่น บาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย เหตุผลหนึ่งเพราะความเป็นชีอะห์ เมื่อโค่นกัดดาฟี (มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย) ได้แล้ว ก็จะทำให้อิสราเอลอยู่รอดปลอดภัยด้วย ขณะที่ซีเรียก็เข้ากันไม่ค่อยได้กับโลกอาหรับ"
"ฉะนั้นกลุ่มไหนก็ได้ที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรียก็จะได้เงินช่วยเหลือและได้รับการสนับสนุนอาวุธจากสหรัฐ หนึ่งในนั้นคือไอเอส ตอนนั้นสหรัฐหลับตาหนึ่งข้าง เพราะไอเอสกับอัลกออิดะห์เป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ทั้งๆ ที่สหรัฐเป็นปฏิปักษ์กับอัลกออิดะห์ แต่เพื่อผลประโยชน์ของชาติ สหรัฐทำได้ ตอนที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรีย กลุ่มนี้ไม่ได้ใช้ชื่อไอเอส และทำงานอยู่กับอัลกออิดะห์ ส่วนหนึ่งสหรัฐอาจต้องการให้อัลกออิดะห์แตกด้วย"
ดร.จรัญ สรุปว่า ในที่สุดไอเอสเป็นหอกข้างแคร่ของสหรัฐ และต้องกลับมารบกับสิ่งที่ตนเองสร้าง ไม่ต่างกับกรณีของ บิน ลาเดน อดีตผู้นำอัลกออิดะห์ หรือแม้แต่ ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรัก ที่ผ่านมานายจอห์น แมคเคน สมาชิกรัฐสภาสหรัฐ เคยถ่ายรูปคู่กับ อัล บัคดาดี ผู้นำไอเอสคนปัจจุบัน โดยนายแมคเคนบอกกับสมาชิกรัฐสภาว่า ไอเอสเป็นกลุ่มที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพเพื่อโค่นซีเรีย (ฟรี ซีเรียน อาร์มี)
คาดปัญหาไม่จบง่าย
ขณะที่ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวในรายการเดียวกันว่า ไอเอสเป็นตัวสะท้อนความอ่อนแอของชาติตะวันตกเอง มีการสร้างกลุ่มขึ้นมาในช่วงแรก แต่ตอนหลังบานปลายไปเป็นเรื่องอื่น ทำให้เกิดปัญหาที่เกิดผลกระทบบย้อนกลับมาสู่ตัวเอง ในระยะยาวหากไอเอสปฏิบัติการด้วยความโหดร้ายทารุณอย่างที่เป็นมา ก็จะกลายเป็นเป้าที่ตัวเองถูกมุ่งทำลายทั้งจากชาติตะวันตกและชาติมุสลิม
เขาประเมินว่า ปัญหานี้จะไม่จบเร็ว เพราะไอเอสเป็นผลพวงที่เกิดมาจากการความเป็นรัฐของทั้งซีเรียและอิรักล้มเหลวหมดแล้ว เป็น failed state จัดการอะไรไม่ได้ ถ้าอยู่ในภาวะนี้ การขยายบทบาทของไอเอสก็ยังคงอยู่ ไม่จบง่ายๆ ในระยะยาวประเทศตะวันตกและมุสลิมหลายประเทศคงต้องทุ่มกำลังหลายๆ อย่างให้ยุติ และจำกัดความเติบโตของขบวนการ
ฝ่ายมั่นคงยันไทยปลอดไอเอส
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ยืนยันว่า ไม่มีคนสัญชาติไทยไปร่วมรบหรือฝึกกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ในตะวันออกกลางอย่างแน่นอน ข่าวที่ว่าพบเครือข่ายของไอเอสในปัตตานีนั้น เป็นเพียงเรื่องที่บอกต่อๆ กัน และบุคคลผู้นี้ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไประยะหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าปัญหาไอเอสเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นภัยคุกคามที่ต้องจับตาอย่างเข้มข้น แต่ภาครัฐดำเนินการอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยบทบาทของผู้นำศาสนาอิสลามในประเทศด้วย ผู้นำเหล่านั้นต้องออกมาให้ความรู้ที่ถูกต้องกับคนไทยมุสลิม หรือริเริ่มทำกิจกรรมเพื่อดึงคนกลุ่มเสี่ยงมาเดินตามแนวทางของศาสนาที่ถูกต้องต่อไป
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศเวทีเสวนาที่จุฬาฯ มีผู้สนใจเข้าฟังแน่นห้องประชุม