‘ดร.นวลน้อย’ เสนอสปช.ปฏิรูปกม.แข่งขันทางการค้า ป้องกันทุจริต
“พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าจะต้องมีการแก้ไขเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขัน ทำให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำงานได้จริงเช่นเดียวกับพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งน่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องการออกนโยบายที่ไปเอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มเท่านั้น”
7 กุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) มหาวิทยาลัยรังสิต จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “10 ประเด็นเด่นนวัตกรรมการเมืองไทย” ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล
ประเด็นสนทนาครั้งนี้ ว่าด้วย "การปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ" โดยมีข้าราชการภาครัฐ เอกชน นักวิชาการและประชาชน ร่วมสัมมนาและเสนอข้อคิดเห็นจำนวนมาก
"ประมนต์ สุธีวงศ์" ประธานกรรมาธิการการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวว่า ข้อเสนอการปฏิรูปการทุจริตของกรรมาธิการฯต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญครอบคลุมทั้งประเด็นการป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปรามในระยะยาวเพื่อให้เกิดการป้องกันทุจริตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ข้อเสนอเน้นให้ประชาชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและบทบาทสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชั่น รณรงค์ให้คนมีคุณธรรม จริยธรรม เพราะหากคนไทยไม่มีจิตสำนึกในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น การป้องกันทุจริตก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องปฏิรูปคือการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น เช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540
"ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์" อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อการปฏิรูปการทุจริตของกรรมาธิการฯสปช. แต่ยังมีบางประเด็นเป็นนามธรรม ซึ่งจะต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมนำไปปฏิบัติได้จริง เช่น ข้อเสนอเรื่องบุคลากรที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ควรไปเป็นเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หรือทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้การทำงานตรวจสอบทุจริตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
พร้อมกันนี้เห็นควรให้มีการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจด้วยการแก้ไขพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เพื่อลดการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม และป้องกันการคอร์รัปชั่นที่เอื้อประโยชน์กับภาคธุรกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีกฏหมายดังกล่าวบังคับใช้ แต่ไม่เคยใช้ได้จริงในประเทศไทย
“พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าจะต้องมีการแก้ไขเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขัน โดยทำให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำงานได้จริงเช่นเดียวกับพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งน่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องการออกนโยบายที่ไปเอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มเท่านั้น”
นอกจากนี้ การต่อต้านคอร์รัปชั่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การรณรงค์หรือสอนทัศนคติและจริยธรรมที่ชัดเจนต่อเรื่องส่วนร่วม และจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันคนไทยค่อนข้างมีปัญหาการแยกไม่ค่อยระหว่างส่วนร่วมกับส่วนตัว
ขณะที่การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ที่สำคัญหรือสิ่งที่เรียกว่า "ประมวลจริยธรรม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งต่างๆ แม้รัฐธรรมนูญ 2550 ได้พูดเรื่องนี้ไว้ แต่เอาเข้าจริงมีการปฏิบัติในระดับหนึ่งและใช้ไม่ค่อยได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรม เพราะคงไม่สามารถออกกฏหมายแล้วไปครอบคลุมได้ทุกเรื่องหรือทุกประเด็น
กระทั่งองค์กรอิสระในการตรวจสอบ ยกตัวอย่างเช่น การมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ที่ผ่านมาก็พบว่ามีการทำงานค่อนข้างล่าช้า ดังนั้นจะทำอย่างไรให้องค์กรตรวจสอบเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมถึงการออกแบบเพื่อคุ้มครองพยานที่เปิดเผยเรื่องทุจริต เพราะที่ผ่านมาหลายท่านมักมีอันเป็นไป โดยเฉพาะภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีโอกาสได้รับอันตรายค่อนข้างสูง
นี่คือข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เป็นประโยชน์ของ "ดร.นวลน้อย"
ขอบคุณภาพจาก: www.thaihealth.or.th