ชาวบ้านปราจีนบุรีร้อง ‘นพ.นิรันดร์’ สอบ ปตท.ขุดเจาะก๊าซฯ กระทบสิทธิใช้ที่ดิน
ชาวบ้านปราจีนบุรี ยื่นหนังสือกรรมการสิทธิฯ เรียกร้องตรวจสอบขุดเจาะท่อก๊าซฯ ปตท. ระบุได้รับค่าชดเชยไม่เป็นธรรม หน้าดินหาย เสื่อมโทรม ปลาตาย สร้างปัญหาการใช้ที่ดินชุมชน
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ชาวบ้าน ต.ดงขี้เหล็ก และต.เนินหอม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เข้ายื่นหนังสือต่อนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบการขุดท่อก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่
ทั้งนี้ หนังสือมีรายละเอียด ดังนี้
เนื่องด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้วางระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ ตามโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 (ระยอง – แก่งคอย) ผ่านเข้ามาบริเวณพื้นที่สวนของชาวบ้านหมู่ที่ 10, 11, 12 และ 13 ต.ดงขี้เหล็ก และบ้านบ่อแร่ ต.เนินหอม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปรากฏว่าในระยะแรกของการเข้ามาในพื้นที่ประมาณปี พ.ศ. 2550 ทางบริษัท ปตท. ฯ ได้เข้ามาปักหมุดในเขตที่ดินของชาวบ้านโดยไม่ได้แจ้งให้เจ้าของพื้นที่ทราบว่าจะเข้ามาทำการใด
หลังจากนั้นเป็นเวลาอีกหลายปีจึงได้แจ้งแก่ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวว่าจะมีการทำโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยไม่มีการเรียกประชุมชาวบ้าน ไม่มีการทำประชามติ ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ในระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ปตท.ได้จัดชาวบ้านไปดูการทำงานในพื้นที่โรงแยกก๊าซ จ.ระยอง เดินทางด้วยรถบัส 1 คัน ส่วนใหญ่เป็นผู้นำในหมู่บ้านที่ไม่ได้รับผลกระทบ ในส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบร่วมเดินทางไปไม่ถึงสิบคน
หนังสือ ระบุอีกว่า ต่อมา บริษัท ปตท.ฯ ได้ส่งจดหมายลงวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ถึงชาวบ้านในพื้นที่ เรื่องแจ้งประกาศกระทรวงพลังงาน กำหนดเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อว่าจะดำเนินการติดตั้งโครงข่ายก๊าซธรรมชาติผ่านพื้นที่ หากประสงค์ใช้สิทธิ์อุทธรณ์แนวเขต สามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว เจ้าหน้าที่ปตท.จึงได้เข้ามาเจรจาเกี่ยวกับค่าชดเชยต่าง ๆ ที่ควรจะได้รับ ได้แก่ ค่าชดเชยการใช้ที่ดิน ค่าชดเชยเกี่ยวกับชนิดและขนาดของต้นไม้ เจ้าหน้าที่ปตท.รับปากกับชาวบ้านในหลายเรื่องเกี่ยวกับเรื่องการใช้ที่ดินหลังการวางท่อก๊าซ และการจัดการน้ำให้แก่ชาวบ้าน แต่คำสัญญาต่าง ๆ ที่ปตท.ให้ไว้ ไม่เคยเป็นจริง เป็นแต่เพียงคำพูดหลอกชาวบ้านไปวัน ๆ
ชาวบ้านหมู่ที่ 10 – 13 ต.ดงขี้เหล็ก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานานอย่างต่ำ 40 ปีขึ้นไป ที่ดินส่วนใหญ่ตกทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ โดยประกอบอาชีพทำสวน ทำนา จนกระทั่งในยุคสมัยปัจจุบันชาวบ้านได้หันมาประกอบอาชีพขายพันธุ์ไม้สวน อันเป็นอาชีพที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ เป็นอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและรักษาพันธุกรรมท้องถิ่น อันเป็นสิทธิดั้งเดิมในการใช้สอยที่ดินภายในชุมชน
หนังสือ ระบุด้วยว่า ภายหลังจากการเข้ามาทำงานท่อก๊าซของบริษัท ปตท.ฯในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการให้ค่าชดเชยไม่เป็นธรรม แล้วแต่การต่อรอง ไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชย พร้อมกันนั้นเจ้าหน้าที่ปตท. ยังใช้อำนาจบาตรใหญ่พาตำรวจเข้ามาข่มขู่ชาวบ้าน มีการทำลายสิ่งของ จำพวกพันธุ์ไม้ ในช่วงที่ไม่มีคนอยู่
นอกจากนี้ยังพบว่าการทำงานของปตท.สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในด้านการใช้สิทธิในที่ดิน โดยที่ดินส่วนใหญ่มีความเสื่อมโทรม ดินแข็ง มีหินกรวดผสมในดิน หน้าดินหายไปเป็นจำนวนกว่าครึ่งเมตร สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบกับสิทธิในการใช้ที่ดินของชุมชนที่พยายามรักษาความเป็นเกษตรกรในโลกยุคใหม่
อีกปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทำงานคือ เกิดปัญหาดินสไลด์จากพื้นที่ก่อสร้างเข้ามายังที่ดินของชาวบ้าน ดินพังจากขอบบ่อลงมายังบ่อปลาส่งผลให้ปลาตาย ตลอดจนทำงานรุกล้ำเข้ามาในแนวเขตของชาวบ้าน มีการใช้ที่ดินของชาวบ้านทำเป็นถนนที่กว้างกว่าเดิม จากเส้นทางเก่าขนาดรถปิคอัพ ก็ขยายจนรถแบ็คโฮเข้ามาได้ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิของชาวบ้าน
"ชาวบ้านหมู่ที่ 10 - 13 ต.ดงขี้เหล็ก และบ้านบ่อแร่ ต.เนินหอม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี จึงใคร่ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินการขุดวางท่อก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ รวมถึงขอให้กรรมการสิทธิมนุษยชนดำเนินการฟ้องร้องบริษัท ปตท. หยุดดำเนินการวางท่อก๊าซในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อป้องกันความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนต่อไป" หนังสือ ระบุทิ้งท้าย .