"ไอเอส"ภัยคุกคามอาเซียน แนะจีนปรับกลยุทธ์แก้"อุยกูร์"
เรื่องราวของ "กลุ่มอิสลามเคร่งจารีต" เป็นที่พูดถึงกันมานานแล้วในเอเชีย อย่างกรณีของอินโดนีเซียก็เป็นเรื่องที่หลายคนรู้กันดีอยู่แล้วว่า ต้องรับมือกับกลุ่มอิสลามเคร่งจารีตมาเป็นเวลานาน
แต่เหตุการณ์รุนแรงระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งเรื่องการการจับตัวประกันญี่ปุ่น จนนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ยืนกรานต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรียและอิรัก, การต่อสู้ในฟิลิปปินส์ที่ต้องสูญเสียคอมมานโดไปถึง 44 นาย และการที่เจ้าหน้าที่จีนมีแนวโน้มว่าจะเพ่งเป้าไปที่กลุ่มมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศว่าเป็นหนึ่งในภัยความมั่นคงภายในนั้น สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า กลุ่มอิสลามเคร่งจารีตกำลังกลายเป็นปัญหาที่สร้างความวิตกมากขึ้นในภูมิภาคนี้
ดูเหมือนว่า "ไอเอส" ซึ่งเป็นกองกำลังที่เพิ่งก่อตัวขึ้นมาเมื่อไม่นานนักจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เอเชียตื่นตัวในเรื่องภัยก่อการร้ายมากขึ้น โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลมาเลเซียได้ผลักดันออกกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อยับยั้งการแผ่ขยายอิทธิพลของไอเอส หลังตรวจพบว่ามีชาวมาเลเซียไปเข้าร่วมกับกลุ่มนักรบหัวรุนแรงในซีเรียและอิรัก
นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค เสนอรายงานสมุดปกขาวต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยในเนื้อหาสมุดปกขาวฉบับที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย ระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแผ่ขยายอิทธิพลของนักรบไอเอสที่คุกคามทั่วโลก และเพื่อกำจัดภัยคุกคามใหม่นี้จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ที่มีความเข้มงวดขึ้น เพราะกฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับการต่อสู้กับแนวคิดสุดโต่งของไอเอส
ขณะเดียวกันต้องเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายบางฉบับที่มีอยู่แล้วด้วย และเรียกร้องให้ชาวมาเลเซียโดยเฉพาะเยาวชนและผู้ปกครองปฏิเสธแนวคิดสุดโต่ง
เมื่อปีที่แล้วมาเลเซียตรวจพบว่ามีพลเมืองของตัวเอง 39 คนเดินทางไปสู้รบในซีเรียและอิรัก โดย 17 คนเข้าร่วมกลุ่มไอเอส และอีก 22 คนเข้าร่วมกลุ่มมุสลิมสุดโต่งอื่นๆ ในซีเรียและอิรัก ทั้งยังมีชาวมาเลเซียเสียชีวิตในการสู้รบแล้ว 5 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็น "มือระเบิดพลีชีพ"
สมุดปกขาวระบุว่า มาเลเซียเผชิญความเสี่ยงเมื่อนักรบเหล่านี้กลับจากซีเรียและอิรัก จะมีความสามารถก่อการร้ายด้วยตัวเองคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม
นอกจากนี้สมุดปกขาวยังประเมินว่า ไอเอสมีทรัพย์สินมากถึง 7,000 ล้านริงกิต หรือ 67,000 ล้านบาท โดยมีรายได้เป็นเงินสดวันละ 3 ล้านริงกิต หรือราว 29 ล้านบาทจากการจำหน่ายน้ำมัน
ภัยคุกคามจากไอเอสในเอเชียยิ่งเห็นได้ชัดเจนจากในกรณีของญี่ปุ่น ประเทศที่ไม่มีกองกำลังทหารอยู่ในตะวันออกกลางแม้สักคนเดียว แต่กลับต้องมารับมือกับวิกฤติจับตัวประกันชาวญี่ปุ่น เนื่องจากเข้าไปเกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ ด้วยการให้การสนับสนุนกองกำลังผสมภายใต้การนำของสหรัฐในการจัดการกับไอเอส และให้ความช่วยเหลือที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารจำนวน 200 ล้านดอลลาร์แก่หลายประเทศในตะวันออกกลาง เพื่อต่อสู้กับบรรรดานักรบญิฮัด
เงินช่วยเหลือจำนวนดังกล่าว เป็นสิ่งที่กลุ่มไอเอสกล่าวไว้ในคลิปวีดีโอคลิปแรกที่แสดงให้เห็นถึงตัวประกันญี่ปุ่น 2 คนที่ทางกลุ่มจับไว้ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการสังหารตัวประกันไป 1 คน ส่วนอีกคนยังไม่รู้ชะตากรรม
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่มีเกาหลีเหนือและจีนเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก นอกเหนือจากการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐและยุโรป แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีบทบาทที่ค่อนข้างนุ่มนวลกว่าในฐานะผู้สนับสนุนการเงิน แต่ก็เป็นการเคลื่อนไหวที่มากพอที่จะทำให้ประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงของความขัดแย้งทางด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่จุดชนวนให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อชาติมหาอำนาจที่นำกำลังทหารเข้ามาแทรกแซงอย่างสหรัฐ ฝรั่งเศส หรือออสเตรเลีย
ในกรณีของฟิลิปปินส์นั้น เรื่องราวของกลุ่มติดอาวุธอิสลามกลับมาเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจอีกครั้งหนึ่ง หลังเกิดเหตุตำรวจหน่วยคอมมานโดของฟิลิปปินส์เสียชีวิตในระหว่างการปะทะอย่างดุเดือดกับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของประเทศ และนับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในวันเดียวในรอบหลายปีของตำรวจฟิลิปปินส์
ความสูญเสียดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อหน่วยคอมมานโดหลายสิบนายได้บุกเข้าไปที่หมู่บ้านห่างไกลของเมืองมามาซาปาโน จังหวัดมากินดาเนา เพื่อหาตัวผู้ต้องสงสัยที่เป็นผู้ก่อการร้ายคนสำคัญ แต่กลับเผชิญหน้ากับสมาชิกของแนวร่วมปลดปล่อยมุสลิมโมโร (เอ็มไอแอลเอฟ) โดยบังเอิญ จึงเกิดการปะทะกัน และมีกลุ่มแบ่งแยกอื่นๆ เข้าร่วมในการปะทะกับตำรวจหน่วยคอมมานโดที่มีจำนวนมากกว่า
กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟซึ่งมีสมาชิก 11,000 คน ได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้ความขัดแย้งที่ดำเนินมานานถึง 45 ปี และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 120,000 คน รวมถึงทำให้มีผู้อพยพทิ้งบ้านเรือนอีก 2 ล้านคนสิ้นสุดลง โดยมีทีมสังเกตการณ์การสงบศึกของต่างชาติภายใต้การนำของมาเลเซียเข้าไปกำกับดูแล
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้น ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงนายกเทศมนตรีเมืองมามาซาปาโน กลุ่มเอ็มไอแอลเอฟ และกองทัพ ระบุว่า หน่วยคอมมานโดของตำรวจไม่ได้มีการประสานงานเกี่ยวกับแผนการบุกเข้าไปในหมู่บ้านที่อยู่ความยึดครองของฝ่ายกบฏ จึงทำให้เกิดการปะทะกันขึ้น
เป้าหมายที่ตำรวจหน่วยคอมมานโดต้องการตัว คือ นายซัลคิฟลี่ บิน ฮีร์ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายชาวมาเลเซียที่รู้จักกันในชื่อ "มาร์วัน" และทางการสหรัฐกับฟิลิปปินส์ประณามว่าอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดหลายครั้งในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ นอกจากนี้ ยังถูกระบุว่าเป็นคนสอนการทำระเบิดและจัดหาเงินทุนให้กับกลุ่มติดอาวุธที่เกี่ยวข้องกับอัล ไกดา และเชื่อว่าหนีไปซ่อนตัวอยู่ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2546
ในพื้นที่ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ นอกจากกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟแล้วยังมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอื่นๆ ที่แยกตัวออกจากกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟเมื่อไม่กี่ปีก่อน เพราะไม่ยอมรับการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาล แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่ในหมู่บ้านเป็นวงกว้าง
แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้การเจรจาสันติภาพที่เกิดขึ้นตกอยู่ในภาวะถอยหลังเข้าคลอง แต่เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ก็ให้คำมั่นถึงความพยายามที่จะเดินหน้าสร้างความปรองดอง
เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับกองกำลังอิสลามในประเทศที่มีประชากรร่วม 250 คน ทั้งอดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซียก็ออกมาพูดถึงกลุ่มไอเอสว่าเป็นความอับอายของชาวมุสลิม แม้จะมีสัญญาณว่ามีชาวอินโดนีเซียจำนวนมากขึ้นที่กำลังมุ่งหน้าไปยังตะวันออกกลาง เหมือนกับสิงคโปร์ที่มองเห็นการสนับสนุนกลุ่มไอเอสจากในประเทศของตัวเองมากขึ้น ทั้งยังให้คำมั่นถึงการส่งทหารเข้าไปร่วมรบกับไอเอสด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของจีนที่มักจะเชื่อมโยงกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ เข้ากับเครือข่ายก่อการร้ายระดับโลก โดยจีนเคยระบุว่ามีชาวอุยกูร์ที่ออกไปร่วมต่อสู้ในการรบต่างแดน
แต่ปัญหาในภูมิภาคนี้ของจีนแตกต่างกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากสถานการณ์เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลเลือกใช้นโยบายที่จำกัดเสรีภาพทางศาสนา มีการกีดกันและจำคุกนักเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์ในซินเจียง อันเป็นวิธีการที่ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้มากขึ้น จนทำให้มีชาวอุยกูร์จำนวนมากหลบหนีเข้าไปยังประเทศใกล้เคียง บางส่วนก็ไปยังอัฟกานิสถาน และบางส่วนไปไกลถึงซีเรีย
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่คนกลุ่มดังกล่าวอาจได้รับการฝึกฝนจากกลุ่มอิสลามเคร่งจารีตในประเทศเหล่านี้ และนำยุทธวิธีกลับมาใช้เมื่อเดินทางกลับมายังบ้านเกิด อันเป็นปัญหาที่อินโดนีเซียเคยประสบมาแล้ว หลังจากที่บรรดานักรบอินโดนีเซียเดินทางกลับมาจากการสู้รบกับอดีตสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน
นักวิเคราะห์เตือนว่า ในช่วงเวลาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นศูนย์กลางของการเดินทางสำหรับนักรบที่จะไปซีเรีย จีนจำเป็นต้องมีการทบทวนกลยุทธ์อุยกูร์ของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อความมั่นคงในประเทศหรือเพื่อชนกลุ่มน้อยอุยกูร์เท่านั้น แต่เป็นเพราะจีนกำลังรับมือกับปัญหาที่ทุกประเทศกำลังวิตกกันอยู่อย่างไม่ถูกวิธี!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
*กันยาภรณ์ เผือกวิสุทธิ์ เป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์ NOWTV26
ขอบคุณ : ภาพไอซิสจากเว็บไซต์ http://www.jihadwatch.org/category/islamic-state-