ชัด ๆ จาก“วิษณุ” : ทำประชามติรธน.เมื่อไหร่-ผ่อนคลายอัยการศึกได้ไหม ?
“…การที่ใครจะต้องออกโทรทัศน์ชี้แจงว่ารับ หรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับการก่อความไมสงบ ไม่เกี่ยวกับบทบาทพรรคการเมืองที่จะเคลื่อนไหวอะไร แต่เกี่ยวกับการเผยแพร่รัฐธรรมนูให้รู้ และเข้าใจได้ว่า เราคงชอบและไม่ชอบบางมาตรา เราคงไม่ชอบหมด หรือเกลียดมันทั้งหมด…”
ในช่วงเดือนเมษายน 2558 นี้ จะได้เห็นร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วว่าจะมีหน้าตาออกมาในรูปแบบใด จะเป็นไปตามที่ “แป๊ะ” ที่เป็น “เจ้าของเรือ” พึงพอใจ หรือว่าจำเป็นต้องร่างใหม่ คงใกล้ได้รู้ผลกันแล้ว
แต่คำถามที่น่าสนใจก่อนหน้านั้น ปัญหาที่ถกเถียงกันตั้งแต่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญ
ว่าท้ายสุดแล้วจำเป็นต้องทำประชามติหรือไม่ และเมื่อถึงห้วงเวลานั้นต้องผ่อนคลายกฎอัยการศึกหรือไม่ ?
ภายหลังการประชุม “แม่น้ำ 5 สาย” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “ซูเปอร์เนติบริกร” ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำถาม-คำตอบในกรณีดังกล่าว มาเรียบเรียงให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
@การทำประชามติจะทราบได้อย่างไรว่าต้องเริ่มทำเมื่อไหร่
วิษณุ : เมื่อถึงจุดหนึ่งเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญต้องถามใจประชาชน ต้องตัดสินใจว่าจะถามหรือไม่ ถ้าจะไปลงประชามติแน่ ๆ การลงประชามติคือการถามใจ ถามว่าคุณชอบหรือไม่ชอบ แล้วสุดท้ายพูดไปทำไมในวันนี้ เพราะรัฐธรรมนูญยังร่างไม่เสร็จ ถึงจุดใกล้ ๆ เดือนเมษายน ก็คงช่วงนั้นแหละ
@การทำประชามติต้องผ่อนคลายกฎอัยการศึกหรือไม่
วิษณุ : ไม่จำเป็นอะไร คนละประเด็นกัน ประชามติที่ดีไม่จำเป็นต้องชุมนุม 5 คน หรือหาเสียง ไม่มีความจำเป็นอะไร อาจเอามาผูกกันก็ได้ หรือไม่ก็ได้ ไม่เหมือนเลือกตั้ง มันต้องหาเสียง กฎอัยการศึกอยู่ถึงตอนนั้นคงลำบาก แต่การลงประชามติ มันคงไม่เกี่ยวกัน
“การที่ใครจะต้องออกโทรทัศน์ชี้แจงว่ารับ หรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับการก่อความไมสงบ ไม่เกี่ยวกับบทบาทพรรคการเมืองที่จะเคลื่อนไหวอะไร แต่เกี่ยวกับการเผยแพร่รัฐธรรมนูญให้รู้ และเข้าใจได้ว่า เราคงชอบและไม่ชอบบางมาตรา เราคงไม่ชอบหมด หรือเกลียดมันทั้งหมด”
ทีนี้คนจะชั่งน้ำหนักได้ เหมือนเลือกปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน เป็นไปไม่ได้ที่เราชอบ 100 แต่ถ้าเราชอบ 10 คน และชอบมาก แต่อีก 90 คนเราเกลียด เราก็ต้องเลือก แต่ถ้าไม่เอา 10 คนที่ชอบก็ตกกระป๋องหมด ดังนั้นถ้าเรามีความรู้สึกว่า เราชอบ 10 คน ไม่ชอบ 90 คน รวมแล้วไม่ชอบมากกว่า ไม่เอาก็แล้วไป
โหวตประชามติก็แบบเดียวกัน ก็ชั่งน้ำหนักว่า 300 มาตรา คุ้มหรือไม่ที่เราจะโหวต Yes หรือ No ต้องให้เวลาสร้างความเข้าใจ
“คนสร้างความเข้าใจต้องเป็นกลาง ไม่ใช่นักปลุกระดม กลไกตรงนี้สำคัญกว่าการมีหรือไม่มีกฎอัยการศึก และต้องตอบให้ได้ว่า จะทำอย่างไร”