รณรงค์ชำระหนี้ กยศ.ได้ผล ลูกหนี้ลดกว่า 4 แสนคน
โครงการรณรงค์กระตุ้นให้เด็กชำระเงินคืนเงินกู้ กยศ.ได้ผล พบยอดผู้กู้ค้างชำระลดลงจากเดิม 1.7 ล้านคน เหลือ 1.3 ล้านคน แม้วงเงินค้างยังสูงกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท พร้อมจับมือกรมบังคับคดี นำร่องไกล่เกลี่ยลูกหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกรมบังคับคดี ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการจัดโครงการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี ณ ห้องประชุมคชสาร 2 ชั้น 3 กรมบังคับคดี
ดร. ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวถึงโครงการไกล่เกลี่ยลูกหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี จะเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้กู้ยืม อีกทั้งเพิกเฉยต่อคำพิพากษาในช่วงที่ผ่านมา การไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดีนั้น จะต้องเจรจาภายใต้กรอบที่กำหนดไว้ โดยวัตถุประสงค์หลักๆของระเบียบก็คือ อยากให้การไกล่เกลี่ยเน้นให้ผู้กู้ที่จะมาขอผ่อนชำระนั้นต้องผ่อนให้เสร็จก่อนระยะเวลาบังคับคดี ไม่น้อยกว่า 3 ปี เพราะผู้กู้มีหน้าที่จะต้องผ่อนชำระหนี้หลังจากเรียนจบมาแล้ว 2 ปี ก็จะชำระหนี้เป็นเวลา 15 ปี ถ้าผู้กู้ไม่มาชำระหนี้ ติดต่อเป็นระยะเวลา 4 ปี 5 งวด ก็จะถูกบอกเลิกสัญญาและถูกดำเนินคดี ฉะนั้นการไกล่เกลี่ยสามารถช่วยผู้กู้ได้ และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก เป็นการนำร่องในปี 2558
"สำหรับผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดี คือผู้กู้ในปี 2555 และ 2556 ซึ่งในกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 1,976 ราย ส่วนจังหวัดอื่นๆ สามารถไปที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำจังหวัดได้"
ผู้จัดการ กยศ. กล่าวถึงการจัดโครงการรณรงค์กระตุ้นให้เด็กชำระเงินคืนเงินกู้ กยศ.ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อส่งต่อโอกาสให้รุ่นน้อง ด้วยการเพิ่มแรงจูงใจลดหนี้ 3% ของเงินต้น รวมถึงลดค่าธรรมเนียมในการปรับ 50% แม้จะทำให้ยอดการค้างชำระลดลงจากเดิม 1.7 ล้านคน เหลือ 1.3 ล้านคน หรือลดลงประมาณ 4 แสนคน แต่จำนวนนี้มีวงเงินค้างชำระรวมกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท จากผู้กู้ทั้งหมด 2.9 ล้านราย
สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่นี้ กำหนดให้ผู้กู้ยืมต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 2.0 ทั้งระดับมัธยมต้น รวมถึงระดับอนุปริญญาตรี และ ปริญญาตรี ที่ต้องมีผลการเรียนระดับมัธยมปลาย 2.0 เช่นกัน แต่ยกเว้น ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนพฤษภาคม 2558 นี้
ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ภารกิจการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นอีกภารกิจหนึ่งของการบังคับคดี เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เป็นการลดความยัดแย้ง และส่งเสริมความสมานฉันท์ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ รวมทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของกองทุนฯ โดยผ่อนผันภาระหนี้ภาคครัวเรือน อันจะมีส่วนสำคัญในกาช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
"ปี 2558 เราพยายามเจาะกลุ่มเป้าหมายในเชิงลึกขึ้น ที่สำคัญจะดูหนี้ที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ อยู่ในกลุ่มไหน ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ หนี้ครัวเรือน หนี้ขนาดกลางขนาดย่อม และหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา"
อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึงการเลือกไกล่เกลี่ยกับผู้กู้กยศ. ปี 2555 และ 2556 เพราะถ้าดำเนินการกับผู้กู้กยศ.ปีนี้เลย โอกาสที่จะหาเงินมาผ่อนได้น้อย เนื่องจากมีเวลาน้อยเกินไป บางคนฐานะลำบาก จึงต้องให้เวลา
"ปัจจุบันมีการยึดทรัพย์ผู้กู้กยศ.ปี 2547 แล้ว 4,000 ราย ในเบื้องต้น ส่วนสาเหตุที่ผู้กู้ไม่ยอมชำระหนี้ก็มีหลายสาเหตุ เช่น ฐานะยากจน เรียนไปแล้วไม่มีงานทำ บางรายมีงานทำแต่ไม่ยอมชำระหนี้ อาจจะมาจากผลที่ว่า ดอกเบี้ยต่ำ จึงไม่คิดการกู้เงิน กยศ.จะไปถึงขั้นถูกดำเนินคดี ดังนั้นถ้าผู้กู้ไม่ชำระก็จะถูกดำเนินคดีตามคำพิพากษา และการมาเจรจากับกรมบังคับคดีนั้นไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ บางคนคิดว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจงไม่กล้าที่จะมา"
ทั้งนี้ กรมบังคับคดีจะจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดีขึ้นในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2558 ณ กรมบังคับคดี กรุงเทพฯ กองทุนจึงขอเชิญชวนกลุ่มผู้กู้ยืมที่ถูกฟ้องร้องต่อศาลในเขตกรุงเทพฯ รุ่นปี 2555-2556 เข้าร่วมงานดังกล่าว และหากผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันที่ถูกฟ้องร้องในรุ่นอื่น ประสงค์เข้าร่วมไกล่เกลี่ย ชั้นบังคับคดี สามารถติดต่อศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำจังหวัดของท่านได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป