ถามสปช.ปัญหาไหนรบ.ทุบโต๊ะแล้วแก้ได้ให้ส่งมา-เร่งปฏิรูป36เรื่องใน3เดือน
“วิษณุ” เผยรัฐบาลถาม สปช. ปัญหาไหนทุบโต๊ะแล้วแก้ได้ให้ส่งมา สั่งให้ปฏิรูป 36 เรื่องใน 3 เดือน นัดตรวจการบ้านแม่น้ำ 5 สาย ก.พ.นี้ ชี้ความเข้มข้นตกอยู่ที่ กมธ.ยกร่างฯ เหตุเป็นเรื่องของชาติ ปัดเคลียร์ใจปม สปช. เสนอเลิกเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ยันแค่ขอข้อเสนอแนะ ท้ายสุด รบ. ตัดสินใจเอง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นครั้งที่ 2 ว่า คสช. ยังไม่ได้นัดตรวจการบ้าน เพราะในการประชุมครั้งแรกยังไม่ได้ให้การบ้าน แต่ในการประชุมครั้งหน้าอาจจะมีการตรวจการบ้านแล้ว เพราะวันนี้ทุกฝ่ายได้รายงาน ซึ่งความเข้มข้นจะตกอยู่ที่ กมธ.ยกร่างฯ เพราะเป็นเรื่องของชาติที่ทุกคนมีเอี่ยว หรืออยากมีเอี่ยว ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการเสนอความเห็นเป็นกลุ่มเป็นก้อน ใครรายงานอย่างไรก็เป็นความเห็นส่วนตัวของคนที่พูด ส่วนเขาจะแก้ไขหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา
ส่วนกรณีที่ปัจจุบันแทบไม่มีกฎหมายส่งเข้าไปที่ สนช. แล้วนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ในที่ประชุมก็พูดกัน ขณะนี้รัฐบาลได้ส่งกฎหมายไป สนช. แล้ว 82 ฉบับ แต่มาช่วงนี้อาจจะเริ่มหยุด แต่ว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหรือน่าตกใจ แค่หยุดเอาไว้เพื่อทยอยเข้าไปทีเดียวอีกวงใหญ่ ซึ่งอยู่ที่กฤษฎีกาอีก 10 ฉบับ และมีร่างที่กฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้วอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ อีก 30 ฉบับ ดังนั้นอีก 1-2 วันอาจมีการตอบกลับมา และไหลไปในสภาได้อีก 30 ฉบับ จึงไม่จำเป็นจะต้องหยุดประชุมเพื่อรอกฎหมาย
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งให้ สปช. มีผลงานที่เป็นรูปธรรมว่า เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์-มีนาคม ถึงเวลาที่ สปช. จะมีชุดที่ตามนโยบายรัฐบาลแท้ ๆ มากขึ้นแล้ว ที่ผ่านมาเป็นการสะสางบัญชีกฎหมายเก่า ถ้าไม่สะสางก็เดินหน้าไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ตรงกับนโยบายรัฐบาลนี้พอดี ทางกระทรวงก็จำเป็นต้องใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน แต่ขณะนี้ถึงเวลาเริ่มของใหม่แท้ ๆ ได้แล้ว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า นายกฯไม่ได้บอก สปช. ว่าให้ทำอะไร แค่บอกว่าอย่าสนใจเรื่อง What (อะไร) When (เมื่อไหร่) Where (ที่ไหน) แต่ช่วยสนใจเรื่อง How (อย่างไร) ส่วนใหญ่ข้อเสนอมักบอกว่า ทุกวันนี้มีปัญหาอย่างนี้ แต่ไม่บอกว่าจะแก้อย่างไร ถามว่ารัฐบาลไม่มีปัญหาคิดเอง ก็คิดได้ แต่กลัวจะไม่ตรงกับที่พวกคุณคิด ดังนั้นอะไรที่สามารถจะแก้ปัญหาหรือปฏิรูปได้โดยวิธีบริหาร เช่น รัฐบาลทุบโต๊ะสั่งแล้วทำได้เลย ก็บอกมาแล้วจะทำให้ แต่ถ้าอะไรต้องออกตามนิติบัญญัติก็ช่วยร่างกฎหมายมาให้เสร็จเลยได้หรือไม่ เขาก็รับปาก เรียกว่าทำให้เป็นระบบครบวงจร
“เราพูดกันว่า กมธ. ของ สปช. มี 18 คณะ ช่วยคิดเรื่องเด่น ๆ ดี ๆ คณะละชุดภายใน 3 เดือนนี้ออกมาให้ได้ 18 เรื่อง ผมได้พูดทีเล่นทีจริงว่าเหมือน OTOP คือ One Tumbon One Product คุณก็ OCOP One Committee On Product เขาก็บอกว่าโอเค ก็ปรึกษากัน ซึ่งออกมาดีกว่านั้นอีก เขาจะออกมาทำ 36 เรื่อง ภายใน 3 เดือนนี้ รัฐบาลก็สบายใจ จะได้ทำอะไรกันเสียที” นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลเห็นด้วยกับเรื่องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 มีการเคลียร์ใจหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า วันนี้ก็พูดกัน ไม่มีอะไรต้องเคลียร์ใจ เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลขอไปเอง เพื่อให้มีความเห็น และนายเทียนฉาย (กีระนันท์ ประธาน สปช.) อธิบายได้ดีว่า หน้าที่ สปช. ให้ความคิดปฏิรูป แต่การให้ความเห็นเรื่องสัมปทานพลังงานไม่ใช่หนึ่งในโครงการปฏิรูป เพราะการปฏิรูปต้องศึกษาอีกรูปแบบ เขาแค่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำตามที่รัฐบาลขอความเห็นไป เขาไม่ได้สวมวิญญาณปฏิรูป แต่รัฐบาลขอไปว่าจะเลือกใช้วิธีใด ซึ่งท้ายสุดเขาก็เลิก นายกฯบอกว่า ถ้าอย่างนั้นให้ส่งความเห็นมา และรัฐบาลจะพิจารณาเองว่าจะทำหรือไม่ ไม่ใช่รัฐบาลไม่ทำตามข้อเสนอปฏิรูป
“ขนาดเสนอเรื่องปฏิรูปแท้ ๆ รัฐบาลจะเดินตามหรือไม่ รัฐบาลก็มีโอกาสคิด เพราะรัฐบาลมีโอกาสบริหารแผ่นดิน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ถ้าผิด รัฐบาลต้องถูกฟ้อง สปช. ไม่ถูกฟ้องจากการเสนอแนะ ถ้ารัฐบาลรับผิดชอบ จะทำได้หรือไม่ได้ มีคน มีอะไรมากมาย มีพันธะ รัฐบาลก็ต้องเป็นคนตัดสินใจ นายกฯพูดอย่างนี้ ที่ประชุมก็เข้าใจ” นายวิษณุ กล่าว