กสม. เตรียมเชิญ ปตท.แจงปมโคลนเทียมทะลักสวนสมุนไพร รพ.อภัยภูเบศร
มูลนิธิ รพ.อภัยภูเบศรยื่นหนังสือ กสม.ตรวจสอบเหตุดินโคลนทะลัก หลังปตท.วางท่อก๊าซผ่านพื้นที่ ทำลายสวนสมุนไพรเสียหายกว่า 80 ชนิด ‘นพ.นิรันดร์’ ชี้โครงการฯ ต้องคำนึงถึงสิทธิการมีส่วนร่วม-รับฟังความเห็น ปชช. เตรียมเชิญคู่กรณีชี้แจงข้อมูล
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เจ้าหน้าที่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี นำโดยเภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิฯ เข้ายื่นหนังสือต่อนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการ กสม. ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ขอให้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินโครงการขุดวางท่อก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ และขอให้ฟ้องร้องบริษัทดังกล่าว เพื่อหยุดดำเนินการวางท่อในพื้นที่ ป้องกันความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน
เภสัชกรหญิง ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ปตท.ได้วางระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ ตามโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) ผ่านเข้ามาบริเวณสวนสมุนไพรของมูลนิธิฯ ทำให้ในวันที่ 24 มกราคม 2558 เกิดโคลนเทียมจากการขุดเจาะท่อส่งก๊าซผุดขึ้นจากพื้นดิน เอ่อท่วมบริเวณสวนสมุนไพร สูงประมาณ 5 นิ้ว ในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่
“เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อแปลงสมุนไพรหายากกว่า 80 ชนิด ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิในการใช้ที่ดิน เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านที่มูลนิธิฯ ดำเนินการต่อเนื่องหลายสิบปี เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าว และว่า เราตั้งเป้าหมายพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสมุนไพรอันดับต้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นไม่ควรวางท่อก๊าซจึงผ่านในพื้นที่ดังกล่าว และขอให้สังคมร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมของ ปตท.ด้วย
ด้านนพ.นิรันดร์ ระบุว่า ปตท.เคยมีปัญหาเกี่ยวกับแนววางท่อก๊าซใน อ.จะนะ จ.สงขลา มาแล้ว ขณะเดียวกันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยมีปัญหาเกี่ยวกับการติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงรุกล้ำที่ดินทำกินด้วย แม้ กฟผ.อ้างใช้อำนาจตามกฎหมายที่มี แต่ควรต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้ถูกร้องเรียนมายัง กสม.
“โครงการที่เป็นประโยชน์สาธารณะต้องไม่กระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมตัดสินใจ” กรรมการสิทธิฯ กล่าว และว่า การวางท่อก๊าซผ่านสวนสมุนไพรส่งกระทบต่อตัวบุคคลและมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ
นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า สวนสมุนไพรดังกล่าวได้สร้างประโยชน์ต่อสาธารณะ ดังนั้นยิ่งมีความจำเป็นต้องมีสิทธิรับรู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น และมีส่วนร่วมในการปกป้องผลประโยชน์จากการถูกทำลายในโครงการนี้ ซึ่งมีประโยชน์ในกิจการสมุนไพร
"สิทธิชุมชนเป็นอีกเรื่องหนึ่งต้องตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวละเมิดหรือไม่ เพราะถือเป็นการใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการที่ดิน สร้างสวน ต่ออายุพืชไม้ และเป็นศูนย์อบรม เพื่อเป็นโครงข่ายรักษาสุขภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น" กรรมการสิทธิฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กสม.เตรียมเชิญผู้แทนจากมูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศรและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าชี้แจงข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม วันพรุ่งนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2558) คณะสื่อมวลชนจะลงพื้นที่สวนสมุนไพรของมูลนิธิฯ ต.เนินหอม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เพื่อติดตามข้อเท็จจริงต่อไป .
อ่านประกอบ:เหตุโคลนเทียมผุด อภัยภูเบศรสรุปสมุนไพรเสียหายกว่า 80 ชนิด