กรรมการสิทธิฯ ยื่นหนังสือ 5 องค์กร ยุติควบรวม กสม.-ผู้ตรวจการฯ
คณะกรรมการสิทธิฯ ยื่นหนังสือด่วนที่สุด 5 องค์กร ค้านยุบรวม กสม.-ผู้ตรวจการฯ ‘นพ.นิรันดร์’ ชี้อำนาจมีมากกว่าการตรวจสอบ ไม่ซ้ำซ้อน สร้างช่องทาง ปชช.
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง การยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ ถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ เปิดเผยว่า กรณีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติให้ควบรวมองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน โดยยกฐานะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน เราได้ศึกษารายละเอียด อำนาจหน้าที่ ผลกระทบ แล้ว จึงตัดสินใจทำหนังสือด่วนที่สุดถึง 5 องค์กร เพื่อคาดหวังให้เกิดความเข้าใจใน 4 ประเด็น ได้แก่
1.ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยผลกระทบต่อการทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน
2.ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยสถานะขององค์กรตามหลักการปารีส
3.ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยผลกระทบต่อบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในประชาคมระหว่างประเทศ
4.ข้อควรคำนึง/ข้อพิจารณาว่าด้วยมาตรการที่จะให้การดำเนินงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
“ข้อเสนอทั้งหมดจะช่วยให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจสภาพการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในฐานะองค์กรระดับชาติที่ กสม.เป็นตัวแทนอยู่” ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าว และคาดหวังว่าจะเห็นการตอบรับในรูปแบบการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จัดประชุม เพื่อดำเนินการร่วมกันให้เรื่องสิทธิมนุษยชนไทยไม่ด้อยกว่าเดิม และเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก
ศ.อมรา กล่าวด้วยว่า กรณีคณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะของ ICC ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ทั่วโลกนั้น เสนอพิจารณาลดอันดับคณะกรรมการสิทธิฯ ของไทย จากเกรด A เป็น B ให้เวลา 1 ปี ซึ่งยืนยันไม่เกี่ยวกับวิธีการทำงาน จนเป็นสาเหตุให้ควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะเรื่องดังกล่าวได้ดำเนินการแก้ไขมาต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ประเด็นหลักในการทักท้วงครั้งนั้นเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ และไทยไม่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับใหม่ ภายหลังมีรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งเราได้พยายามเสนอร่าง พ.ร.บ.แล้ว ตั้งแต่ ปี 2551 แต่พบว่า ยังไม่คลอด
ด้านนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า สิทธิเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ซึ่งต้องยอมรับข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนครบถ้วนสมบูรณ์ และปัจจุบันสังคมไทยมีความตื่นตัวเรื่องดังกล่าวมากขึ้นแล้ว ทั้งนี้ ประเทศแถบยุโรปมีการพัฒนาการด้านกฎหมายที่ดี โดยมีหลักสิทธิมนุษยชนรวมอยู่ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องจัดตั้ง กสม. ทำให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักสิทธิในกฎหมาย ฉะนั้นจึงควบรวมเข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดินได้ แต่กฎหมายในไทยยังไม่ได้รับการปรับปรุง
กรรมการสิทธิฯ กล่าวต่อว่า การจัดตั้ง กสม.จึงเป็นหลักประกันในด้านการดูแลสิทธิประโยชน์ เเต่ 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้สิทธิดังกล่าวไม่ถูกต้อง เกินขอบเขต ถือเป็นช่วงที่ไทยกำลังเรียนรู้ ดังนั้น เราจึงมีหน้าที่ทำให้สังคมเข้าใจ เรียกว่า สิทธิมนุษยชนศึกษา และทำหน้าที่เสนอนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้น กสม.จึงทำหน้าที่มากกว่าการตรวจสอบ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหน้าที่เพียงตรวจสอบเท่านั้น พร้อมยืนยันหน้าที่ไม่ซ้ำซ้อน เเละเป็นช่องทางเลือกกับประชาชน.
อ่านประกอบ:กรรมการสิทธิฯ ชงกมธ.ยกร่างฯ 4 ข้อ ค้านควบรวม กสม.-ผู้ตรวจการฯ