'สุภิญญา-ประวิทย์-ธวัชชัย' : ร่าง พ.ร.บ.กสทช. แก้ปัญหาไม่ถูกจุด
"ที่ผ่านมา กสทช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากโดยไม่มีประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส จึงเห็นควรปรับแก้กฎหมายให้งบประมาณต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ ซึ่งจะมีการตรวจสอบและอนุมัติจากรัฐสภา และให้องค์กรภายนอกที่มีความชำนาญด้านการงบประมาณตรวจสอบให้ความเห็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ"
ภายหลังจากการประชุม กสทช. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ได้พิจารณาวาระเรื่อง ร่าง (แก้ไข) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หรือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ และที่ประชุมได้มีมติมอบหมายให้กรรมการ กสทช. ทุกท่าน ได้ศึกษาในรายละเอียดร่าง (แก้ไข) กฎหมายดังกล่าว และจัดส่งความเห็นให้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อรวบรวมและประมวลสรุปแจ้งเวียนกรรมการ กสทช. ทุกท่าน เพื่อพิจารณา
ล่าสุด มีหนังสือ ฉบับที่ สทช.1003.10/78 ลงวันที่ 30 มกราคม 2558 ระบุนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ และ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ได้ร่วมกันจัดทำความคิดเห็นร่วมกันต่อการแก้กฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ ส่งถึงเลขาธิการ กสทช.
หนังสือฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาสาระสำคัญในประเด็นที่น่าสนใจหลายส่วน ได้แก่ กระบวนการการแก้ไขกฎหมายที่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและไม่มีการระดมความคิดเห็นต่อสาธารณะ อาจทำให้ร่างกฎหมายมีปัญหาทางเทคนิค ในขณะที่อยู่ระหว่างกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้กลไกการปฏิรูป ซี่งยังคงไม่ชัดเจนว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ กสทช. ต่อการจัดสรรคลื่นความถี่จะออกมาแนวทางใด ซึ่งการเสนอร่าง พรบ. ออกมาก่อน อาจมีลักษณะผิดขั้นตอนและขัดต่อแนวทางการปฏิรูปประเทศที่กำลังดำเนินอยู่
ส่วนความเห็นต่อด้านความเป็นอิสระของ กสทช. นั้น ในองค์ประกอบของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มาจาก ฝ่ายการเมืองมากจึงมีโอกาสที่ถูกแทรกแซงได้ รวมทั้งการกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช.รวมอยู่ด้วย จะส่งผลต่อการพิจารณาที่ต้องมีความเป็นกลางและไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งอำนาจของคณะกรรมการดิจิทัลฯ มีลักษณะ over rule การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ทั้งด้านความเป็นอิสระและหลักความเป็นกลางในหลายประการ รวมทั้งการบริหารคลื่นความถี่ในภาพรวมต้องเปลี่ยนแปลงไป
ที่น่าเป็นห่วงคือ การเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ซึ่งเดิมเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ที่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นเพื่อนำไปจัดสรรใหม่ แต่เนื่องจากร่างฯฉบับแก้ไข จะมีผลให้ผู้รับใบอนุญาตต่อ กสทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บ. ทีโอทีฯ และ บ. กสท.ฯ ซึ่งมีผู้แทนเป็นองค์ประกอบคณะกรรมการดิจิทัลฯ มีอำนาจทบทวนแผนแม่บทดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลต่อระยะเวลาการคืนคลื่นเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่สำคัญและเป็นเหตุผลที่มาการเกิด กสทช. เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทาน เป็นระบบใบอนุญาต
ทั้งนี้ กสทช. 3 คน ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่และการ พิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ประเด็นเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้ง ประเด็นที่เป็นจุดอ่อนอันควรแก้ไขในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และ กฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไข หรือ “การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด” เพราะที่ผ่านมา กสทช. ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การกำกับดูแลการประกอบกิจการ และการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีกลไกถูกจำกัดบทบาทในเชิงรับ ไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องร้องเรียนเป็นแต่เพียงการพิจารณาและเสนอความเห็น เรื่องร้องเรียนเท่านั้น
ทั้งนี้ ด้านกลไกหนึ่งที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ กสทช. ตาม พรบ.ฉบับปัจจุบันคือคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ซึ่งถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากการทำหน้าที่ตรวจสอบมีความจำเป็นต้องพึ่งพาหน่วยงานที่ถูกตรวจสอบ ทั้งด้านงบประมาณ กำลังคน และสถานที่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสทช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก คือการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากโดยไม่มีประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส จึงเห็นควรปรับแก้กฎหมายให้งบประมาณต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยวิธี งบประมาณ ซึ่งจะมีการตรวจสอบและอนุมัติจากรัฐสภา และให้องค์กรภายนอกที่มีความชำนาญด้านการงบประมาณตรวจสอบให้ความเห็นการใช้ งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกับ กตป. เสนอให้การดำเนินการด้านงบประมาณของ กสทช. ควรเป็นไปตาม พรบ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502
ส่วนประเด็นการแต่งตั้งอนุกรรมการ กฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. คำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญ และให้เปิดข้อมูลด้านคุณสมบัติของอนุกรรมการให้ชัดเจน และบัญญัติให้มีบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม รวมทั้งกฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. ต้องทำการศึกษาวิจัย รวมทั้งศึกษาผลกระทบจากการกำกับดูแล (regulatory impact assessment-RIA) เพื่อใช้อ้างอิงในการตัดสินใจและต้องเผยแพร่งานศึกษาวิจัยก่อนกระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะ และเปิดเผยผลการพิจารณาพร้อมทั้งเหตุผลที่ใช้ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ก่อนนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย
ส่วน กรณีการรวมคณะกรรมการชุดเดียว จำนวน 11 คน อาจเป็นองค์ประกอบที่มากเกินไป ส่วนบางกรณีเห็นว่า การกำกับดูแลการประกอบกิจการ โดยแบ่งออกเป็น 2 คณะ คือ ด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และด้านโทรคมนาคม ยังเห็นว่ามีความจำเป็นในบางกรณี เพราะงานด้านวิทยุและโทรทัศน์อยู่ในช่วงเริ่มต้น เพิ่งปรับเปลี่ยนสถานะทางกฎหมายเข้าสู่กระบวนรับใบอนุญาตภายใต้กติกาเดียว กัน ซึ่งการปรับโครงสร้างคณะกรรมการให้เหลือเพียงคณะเดียวจึงต้องสร้างหลัก ประกันว่าการวางระบบอุตสาหกรรมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และการกำกับดูแลต้องไม่สะดุด สามารถเดินหน้าบนกติกาที่เป็นธรรมและส่งเสริมสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน
ภาพประกอบจาก :
www.bangkokbiznews.com,www.nbtc.go.th,www.google.co.th