ว่าที่ กสทช.ห่วงเด็กไทยไร้วุฒิภาวะในโลกดิจิตอล ปชช.เสนอเปิดเว็บไซต์เท่าทันไฮเทค
ตัวแทนกลุ่มเด็ก-คนพิการ-ชนเผ่า ถกความไม่เท่าทัน-ทั่วถึง-เท่าเทียมด้านโทรคมนาคม ระบุแม้กระทั่งโทรศัพท์สาธารณะยังไม่ครอบคลุมหมู่บ้านชนบท ห่วงเนื้อหาที่มากับอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ ให้ กสทช.เปิดเว็บไซต์เด็กไทยเท่าทันอุปกรณ์สื่อสารไฮเทค
วันที่ 19 ก.ย.54 กลุ่มภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ร่วมกับมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และเครือข่ายองค์กรเด็กและเยาวชน องค์กรกลุ่มชาติพันธุ์ และองค์กรคนพิการ 9 องค์กร จัดเวทีเรื่อง “สิทธิผู้บริโภคเพื่อความเท่าทัน ทั่วถึง และเท่าเทียมด้านกิจการโทรคมนาคม” มีการสะท้อนปัญหาจากการใช้บริการโทรคมนาคมของกลุ่มเยาวชน กลุ่มคนพิการ และกลุ่มชาติพันธุ์
นายสุพจน์ วงค์วรรณดี ตัวแทนกลุ่มระบัดใบ กล่าวว่าจากการเก็บข้อมูล 10 พื้นที่ 5 ภาคคือ เหนือ ใต้ อีสาน ตะวันออก และภาคกลาง พบว่าเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้ดี แต่ยังขาดความรู้เรื่องสิทธิในการใช้บริการ และที่น่าห่วงคือเนื้อหาที่มากับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้รวมถึงการที่สังคมจะเปิดโอกาสให้เด็กใช้มากขึ้น เช่น โรงเรียนมี WiFi นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพบริการ เช่น ภาคอีสานพบว่ามีสัญญาณอยู่เพียงบริษัทเดียวแต่มีซิมการ์ดขายแทบทุกบริษัท ซื้อไปก็ใช้ไม่ได้ หรือกรณีเติมเงินตู้ออนไลน์แล้วเงินไม่เข้าระบบ เป็นต้น
“กลุ่มเยาวชนขอให้ กสทช. บังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดการปัญหาต่างๆที่เกิดจากการใช้บริการ สนับสนุนให้เยาวชนมีความรู้ในสิทธิจากการใช้บริการ เช่น การเปิดเว็บไซต์ กสทช. สำหรับเด็ก สนับสนุนให้ผู้ปกครองและครูมีความเท่าทัน เป็นที่ปรึกษาสำหรับเด็กได้ และภาคธุรกิจด้านโทรคมนาคมควรมี CSR ด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กมากขึ้น” นายสุพจน์กล่าว
นายวีระศักดิ์ ตั้งพูลพันธ์ ตัวแทนกลุ่มคนพิการจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการยังไม่ตอบสนองคนพิการ เช่น ปุ่มเล็ก ไม่มีฟังชั่นระบบเสียงช่วยในการใช้งานเมนูต่างๆในตัวเครื่อง ทำให้ซื้อเครื่องมาในราคาเท่ากันแต่ใช้งานได้ไม่เท่าเทียมกัน
“ควรมีการสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงและการใช้บริการโทรคมนาคมสำหรับคนพิการและคนทั่วไป” นายวีระศักดิ์กล่าว
ด้านนายโยธิน เดชโชติภักดี ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่าปัญหาในกลุ่มชนเผ่าคือการเข้าไม่ถึง หรือไม่ทั่วถึง เช่น โทรศัพท์สาธารณะและโทรศัพท์พื้นฐานใช้ได้ไม่ครอบคลุม จากการสำรวจหมู่บ้านในเขต อ.แม่ฟ้าหลวง แม่จัน จ.เชียงรายและ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ พบว่า จากจำนวน 126 หมู่บ้าน มีเพียง 55 หมู่บ้านหลักเท่านั้นที่มีบริการตู้โทรศัพท์สาธารณะและโทรศัพท์พื้นฐาน บริการที่ได้รับจึงยังไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอ
“กลุ่มชนเผ่าต้องการเข้าถึงบริการ 3 ประเภทคือ โทรศัพท์สาธารณะ โทรศัพท์พื้นฐาน และอินเทอร์เน็ต และควรสร้างกลไกสิทธิผู้บริโภค โดยตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์” นายโยธินกล่าว
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ว่าที่กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่า สนับสนุนให้ทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมกับ กสทช. และตามกฎหมายต้องมีแผนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม จึงเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่จะมาสะท้อนปัญหาและทางออกร่วมกัน เพราะบริการโทรคมนาคมทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่ต้องเตรียมความพร้อมและป้องกันปัญหาที่จะตามมาโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เนื่องจากในอนาคตเด็กและเยาวชนจะอยู่ในโลกดิจิตอลมากขึ้น เช่น การสมัครเรียนต้องใช้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต ขณะที่กลุ่มเยาวชนมีลักษณะเฉพาะคือ ยังขาดวุฒิภาวะ จึงต้องมีความเท่าทันในการใช้บริการ นอกจากนี้บริการโทรคมนาคมยังต้องมีความทั่วถึง ซึ่งไม่ใช่มิติของเรื่องพื้นที่กายภาพเท่านั้น
“บริการโทรคมนาคมจึงต้องใช้วิธีคิดที่มากกว่ามุมมองทางธุรกิจ เช่น ตู้โทรศัพท์สาธารณะ ถือเป็นอุปกรณ์ในยามจำเป็น เป็นช่องทางในการสื่อสารหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ถ้าใช้โจทย์ธุรกิจอย่างเดียว เราคงต้องตัดบริการหลายประเภทเพราะไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ ดังนั้นวิธีคิดเรื่องบริการโทรคมนาคมจึงต้องคิดเรื่องบริการสาธารณะด้วย” นายประวิทย์กล่าว .