คปก.เบรกดันร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ หวั่นกระทบสิทธิเสรีภาพ ปชช.
คปก.ร้องชะลอร่าง กม.ชุมนุมสาธารณะ หวั่นไม่ชอบด้วยกฎหมาย-กระทบสิทธิ ปชช. แนะต้องฟังความเห็นรอบด้าน
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) นำโดย ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ....” ต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะไว้ก่อน จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร และมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศให้มีความชัดเจนก่อน เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณากรอบการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนบนพื้นฐานการใช้เสรีภาพของทุกฝ่าย
ทั้งนี้ คปก.เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่ทางรัฐบาลผลักดันโดยผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2557 นั้น อาจไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายและกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนเกินความจำเป็น เช่น ในส่วนที่ว่าด้วยขอบเขตการจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามร่าง พ.ร.บ.ฯ มีลักษณะเป็นการจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่ไม่สอดคล้องและกระทบกระเทือนสาระสำคัญของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ที่ได้รับรองเสรีภาพชนชาวไทยไว้
สำหรับข้อกำหนดเรื่องพื้นที่ห้ามชุมนุมนั้น คปก.เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลเป็นพื้นที่ซึ่งห้ามการชุมนุมเด็ดขาดในรัศมี 150 เมตร หากฝ่าฝืนเจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้เลิกการชุมนุม และให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศพื้นที่ห้ามชุมนุมเพิ่มเติมได้อีกนั้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนโดยตรง และไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้เสรีภาพในการชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น
คปก. ยังเห็นอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ฯ ไม่ควรกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมเป็นผู้ที่ต้องรับโทษอาญาที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะ โดยที่ผู้จัดการชุมนุมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายอาญา เช่น ไม่ได้เป็นผู้ใช้ ตัวการ หรือผู้สนับสนุน เนื่องจากขัดกับหลักการกฎหมายอาญาที่กำหนดให้การกระทำความผิดทางกฎหมายใดเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ที่กระทำความผิดแต่ละบุคคล
"ไม่ควรกำหนดความผิดโทษทางอาญาไว้ในกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากการชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นต้นของสังคมประชาธิปไตยที่ได้รับการรับรองไว้ตลอดมาโดยกฎหมายระหว่างประเทศและตามรัฐธรรมนูญ คปก.จึงเสนอแนะให้ใช้มาตรการทางปกครองโดยกำหนดโทษปรับทางปกครองแทนการลงโทษอาญา"
นอกจากนี้ ในบทบัญญัติมาตรา 29 แห่งร่าง พ.ร.บ.ฯ ไม่ควรจำกัดอำนาจศาลปกครองไม่ให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือคำสั่ง ระเบียบ หรือกฎต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด และให้การดำเนินคดีใด ๆ ภายใต้กฎหมายการชุมนุมอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมเพียงแห่งเดียว เนื่องจากสาระสำคัญและหลักการของการชุมนุมสาธารณะเป็นเรื่องทางกฎหมายมหาชน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับศาลปกครองซึ่งมีกระบวนการพิจารณาคดีที่ใช้ระบบไต่สวนที่สามารถตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ได้ดีกว่าศาลยุติธรรม
ยิ่งไปกว่านั้น คปก.ไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติในมาตรา 28 แห่งร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่ยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย อันจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าไม่ต้อง มีความรับผิดใด ๆ ในทางกฎหมายและใช้อำนาจต่อผู้ชุมนุมอย่างไม่เหมาะสมจนเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง .