เครือข่ายพลเมืองเน็ต ค้านร่างชุดกม.เศรษฐกิจดิจิทัล ส่อละเมิดสิทธิเสรีภาพปชช.
เครือข่ายพลเมืองเน็ต ยื่นจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้พิจารณา ทบทวน และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรณีร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” หวั่นอาจละเมิดสิทธิ-เสรีภาพในหลายด้าน อีกทั้งมีแนวโน้มผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากร
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง พร้อมด้วย องค์กรเครือข่าย สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิโลกสีเขียว และ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้มีการพิจารณา ทบทวน และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป กรณีร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล”
พร้อมกันนี้มีการยื่นรายชื่อประชาชนที่คัดค้าน ชุดกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล” กว่า 20,678 รายชื่อ ต่อนายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายมณเฑียร บุญตัน คณะกรรมาธิการการสื่อมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสารสนเทศ พร้อมด้วย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการสมาชิกปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ ณ โถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา
นางสาวสฤณี กล่าวถึงการมายื่นหนังสือเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐพิจารณา ทบทวน และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป กรณีร่างกฎหมาย "เศรษฐกิจดิจิทัล" ทั้ง 10 ฉบับนั้น โดยคณะรัฐมนตรีได้มติเห็นชอบการร่างกฎหมายไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 และ 6 มกราคม 2558 และยังมีร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับสารสนเทศและการสื่อสารที่ยังรอการพิจารณาในชั้นต่างๆอีกอย่างน้อย 3 ฉบับ มีอภิปรายอย่างกว้างขวางทั้งต่อกระบวนการ ที่มา เนื้อหา สาระ ประโยชน์ และผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายเหล่านี้
“เมื่อพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าว พบว่า ถึงแม้บางส่วนจะเป็นประโยชน์ แต่ในภาพรวมแล้วอาจละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนและเอกชนในหลายด้าน อีกทั้งยังมีแนวโน้มนำไปสู่การผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากรและมิได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่กล่าวอ้าง"
นางสาวสฤณี ยกตัวอย่างเช่น 1.การให้อำนาจหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางผ่านกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐและกลไกคุ้มครองสิทธิที่ชัดเจน จนคุกคามหรือลิดลอนเสรีภาพหลายประการ เช่น สิทธิที่จะถูกเลือกที่จะไม่ปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม สิทธิเสรีด้านชีวิตและร่างกาย สิทธิเสรีภาพในเคหะสถาน สิทธิเสรีในการสื่อสารถึงกัน สิทธิในการสอบสวนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และการไม่ให้ถ้อยคำเป็นการปฎบัติแก่ตนเอง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน สิทธิที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐ สิทธิผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นล้วนแต่เป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
นางสาวสฤณี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะกรรมาธิการชุดต่างๆในกฎหมายดังกล่าว ยังไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านสิทธิ เช่น คณะกรรมการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่มีกรรมการที่มาจากด้านสิทธิเสรีภาพหรือการคุ้มครองผู้บริโภคเลยแม้แต่ตำแหน่งเดียว
"2 ร่างกฎหมาย "เศรษฐกิจดิจิทัล" ยังทำลายหลักการที่ว่า ทรัพยากรคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรการสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทำลายความอิสระขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ที่กำกับกิจการสื่อ และกิจการโทรคมนาคม ทำลายหลักการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม โดยเปิดโอกกาสให้รัฐเข้าแทรกแซงกิจการสื่อและกิจการโทรคมนาคม
3.ความไม่ได้มาตรฐานของหลักการตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศหรือข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อาจกระทบต่อความเชื่อมั่น ทั้งในแง่ของการประกอบธุรกิจและการช่วยเหลือกัน ด้านกฎหมายอาญา ยกตัวอย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขาดหลักการเรื่องขอความยินยอม จนอาจส่งผลกระทบต่อโอกาสที่จะประกอบธุรกิจที่จำเป็นจะต้องส่งข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองอื่นข้ามพรมแดน"
นางสาวสฤณี กล่าวด้วยว่า จากเหตุผลข้างต้น เครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้แสดงความกังวลและรวบรวมรายชื่อผู้ที่ต้องการทบทวน ชุดกฎหมายนี้ผ่านทางเว็บไซด์ change.org ภายใต้หัวข้อหยุดชุดกฎหมาย ความมั่นคงดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2558 ถึง วันที่ 31 มกราคม 2558 โดยมีผู้ร่วลงชื่อ 20,678 คน เพื่อเรียกร้องให้มีกรรชะลอกระบวนการร่างกฎหมายและให้ประชาชนจากทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยมีกลไกหรือหรือกติการร่วมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นได้ในรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และจะสามารถสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลได้
ขณะที่นายจุมพล กล่าวว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ และยินดีที่จะรับและนำเอาไปเป็นข้อคิดหรือแนวของการศึกษาส่วนหนึ่ง
ส่วนนายคำนูณ กล่าว่า จะนำหนังสือฉบับนี้ไปพิมพ์สำเนาแจกจ่ายให้กับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 36 ท่านต่อไป เพราะเรื่องเสรีภาพก็เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 , รัฐธรรมนูญ 2550 รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่มีความมุ่งหมายที่จะขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นก็ขอรับไปศึกษา