นักวิชาการแนะรัฐกระตุ้น FDI ภาคผลิต-บริการ หวังฉุดไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
นักวิชาการแนะไทยกระตุ้น FDI ภาคการผลิต-บริการ หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฉุดไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลาง ผู้แทนธนาคารโลกชี้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องศึกษาผลกระทบ สวล.-สังคม เคร่งครัด ก่อนลงมือทำ ไม่ฟันธงควรสร้างรถไฟเร็วสูง
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนา Thailand Economic in Focus (TEF) ครั้งที่ 3 ‘การลงทุนในเศรษฐกิจไทย 2558 ความน่าจะเป็นบนความแปรผัน’ ณ ห้อง ศ 101 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผศ.ดร.พีระ เจริญพร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เป็นปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ โดยทิศทางของ FDI ในไทยปี 2558 ยังคงมีอัตราการเติบโตสูงหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก ปี 2551 (Hamburger Crisis) โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
ทั้งนี้ ในกลุ่มอาเซียนช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 22% ซึ่งไทยยังเป็นผู้รับ FDI หลักในอาเซียน ตามหลังสิงคโปร์และอินโดนีเซีย สูงกว่าเวียดนามและมาเลเซีย ทั้งนี้ ที่น่าสนใจ คือ อินโดนีเซียและเวียดนาม มีอัตราการเติบโต FDI มากขึ้นเป็นลำดับ
นักวิชาการ มธ. กล่าวว่า ในระยะกลาง และระยะยาว ไทยอาจประสบปัญหาขาดแคลนปัจจัยทุนและมีผลิตภาพรวมต่ำ ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยไม่เกิน 4-5% ต่อปี ด้วยอัตราการเติบโตระดับนี้อาจไม่พอทำให้ไทยออกจากประเทศกลุ่มกับดักรายได้ปานกลางก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย ดังนั้น จึงต้องการตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Growth Engine) ตัวใหม่ เช่น ภาคอุตสาหกรรมทันสมัย ภาคบริการทันสมัย
“ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตัวแรก คือ FDI ในภาคผลิต ภาครัฐควรเตรียมสิ่งสาธารณูปโภคเชิงคุณภาพที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมตัวใหม่ เช่น ศูนย์ทดสอบมาตรฐานสินค้า และควรผลักดันการยกระดับเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบจริงจัง” ผศ.ดร.พีระ กล่าว และว่า ตัวที่สอง คือ FDI ในภาคบริการ ซึ่งของไทยยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเป็นด้านการเงิน ดังนั้นรัฐควรเปิดเสรีภาคบริการให้มากขึ้น เลิกปกป้องกลุ่มทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ
นักวิชาการ มธ. กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จาก FDI จากประเทศในอาเซียน และ FDI จากจีน ที่เริ่มมีบทบาทในไทยมากขึ้น ขณะที่ FDI จากนักลงทุนญี่ปุ่นที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาลงทุนภาคบริการมากขึ้น ทั้งนี้ ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ยกตัวอย่าง รถไฟฟ้า ไทยควรกำหนดเงื่อนไขให้ใช้วัสดุที่ผลิตและซื้อในประเทศ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และการส่งเสริม FDI ในประเทศ
ด้านนายวิน พรหมแพทย์ หัวหน้างานลงทุน สำนักบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจโลกว่า สหรัฐอเมริกายังมีการขยายตัวดี แต่ยุโรปและจีนชะลอตัวมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นจะยังฟื้นตัวได้ช้า ภายหลังปรับระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับภาพรวมของไทย พบการเติบโตค่อนข้างอ่อนแอ ส่วนใหญ่รายได้เกษตรกรยังติดลบ โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อดูแลรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งกว่าจะเห็นผลลัพธ์
ส่วนด้านการท่องเที่ยวยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อปานกลางและต่ำจากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูงจากยุโรปและรัสเซียจะลดน้อยลง เพราะประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นไทยต้องทำใจยอมรับให้ได้
หัวหน้างานลงทุนฯ กล่าวต่อว่า สปส.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2558 จะมีจีดีพีขยายตัวได้ประมาณ 3.4% หากราคาน้ำมันอยู่ในเกณฑ์ต่ำเหมือนปัจจุบันจนถึงสิ้นปี จีดีพีอาจขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ จีดีพีที่เติบโตมาจากการลงทุนของภาคเอกชนและรัฐ ดังนั้น ในระยะกลางและยาว รัฐบาลต้องลงทุนในนโยบายใหม่ที่เห็นผลในอนาคต เหมือนโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะหากยังเน้นการลงทุนในนโยบายเดิม เชื่อว่าจีดีพีจะไม่กระเตื้องขึ้น
“ทำอย่างไรก็ได้ให้ไทยมีอัตราการเติบโตไปพร้อมกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนามจะยังมีอัตราการเติบโตได้ดีอีกหลายปี” นายวิน กล่าว และว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่าง ‘รถไฟ’ ให้มีเส้นทางเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง จะทำให้ประชาชนประเทศนั้น ๆ เข้ามาซื้อของในไทย
ขณะที่ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก กล่าวว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย ซึ่งธนาคารโลกให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มงวด โดยมีการศึกษาผลกระทบจริง ๆ ซึ่งในไทยมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอยู่แล้ว
ส่วนเมื่อลงทุนไปแล้วจะดีหรือไม่นั้น ดร.ชนินทร์ กล่าวว่า ให้คำตอบยาก ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ บางประเทศอยากเสี่ยงมาก เพราะได้รับผลตอบแทนมาก จึงกล้าลงทุน ยกตัวอย่าง ลงทุนรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมาเลเซียก็อยากทำ ไม่ใช่มีแต่ไทยเท่านั้น
“เราต้องกลับมาดูว่าสิ่งที่ลงทุนไปนั้นคืออะไร มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ดังนั้นการวิเคราะห์จะต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ภาคประชาสังคมควรร่วมแลกเปลี่ยนตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะเมื่อโครงการจะเกิดขึ้นเท่านั้น”
ส่วนโครงสร้างพื้นฐานใดที่ไทยควรลงทุนมากที่สุด ผู้แทนธนาคารโลก ระบุถึงภาคขนส่งมี 2 ส่วน คือ 1.โครงการที่มีแผนลงทุนมานาน แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นไปได้ และ 2.โครงการที่มีแผนลงทุนในอนาคต แต่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในประเทศในการมองว่ามีความคุ้มค่าในการดำเนินการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงนั้น ต้องอาศัยข้อมูลจากการศึกษาว่ามีความต้องการมากน้อยเพียงใด จึงจะตอบได้ว่าควรสร้างเส้นทางไหนเป็นอันดับแรก
ดร.ชนินทร์ ยังกล่าวถึงอนาคตหากไทยมีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วยว่า จะส่งผลให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่จะต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมกลุ่มกัน เพื่อตัดสินใจร่วมกันในการลงทุน มิฉะนั้นจะเหมือนกับปัจจุบันที่ถนนคอนกรีตจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 2 แห่ง กลับพบพื้นที่ลูกรังอยู่ตรงกลาง 2 เมตร เพราะเกิดจากการไม่พูดคุยกัน จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับไทยจะทำได้มากน้อยเพียงใด .