คุยกับดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้เปิดข้อมูลความเสี่ยง "หนี้ท้องถิ่น"
"ส่วนราชการที่ไปขอรับการอุดหนุนงบฯ จาก อปท.ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด อำเภอ ส่วนราชการจังหวัด ตำรวจ หรือกระทั่งทหาร ไปขอรับการอุดหนุนจากท้องถิ่นทั่วประเทศ ณ ปี 2553 จำนวน 1,000 กว่าล้านบาท คิดเป็นเงินเฉลี่ย 45 ล้านบาท/จังหวัด"
เช้าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 งานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้านการเงินการคลังของเทศบาล” โดย “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ” และคณะทำวิจัยขึ้นเมื่อปี 2553/2554 ได้รับรางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2557 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) รางวัลระดับดี
สำนักข่าวอิศรา นัดสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.วีระศักดิ์” ถึงคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เกี่ยวกับเนื้อหาสาระและประเด็นสำคัญที่น่าสนใจมาฝากคุณผู้อ่าน ดังนี้
@ งานวิจัยชิ้นนี้ของอาจารย์มีที่มาที่ไปอย่างไร
ตอนทำวิจัย ผมไม่ได้คิดเรื่องรางวัลเลย แต่คิดอยู่ 2 เรื่องที่เป็นปัญหาหลักในทางการคลังท้องถิ่นคือ
1.การกระจายอำนาจการคลังเกิดขึ้นมากว่า 10 ปี ให้อำนาจการเก็บภาษีและการก่อหนี้ เหมือนส่วนกลางหรือไม่ กู้เงินมากน้อยเท่าไหร่
พอไปค้นดูพบว่า ไม่มีข้อมูล ไม่มีตัวเลขที่เป็นระบบ เมื่อไม่มีข้อมูลก็เกิดคำถามในเชิงนโยบายว่า ท้องถิ่นกู้เกินตัวหรือไม่ มีความเสี่ยงหรือเปล่า หรือกู้แล้วคืนไม่ได้ มีผลอย่างไรตามมา
พูดแบบสุดขั้วก็คือ ต้องนำทรัพย์สินไปขายเพื่อนำเงินไปใช้หนี้หรือเปล่า แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ในทางบริหารต้องรู้ว่าวันนี้ก่อหนี้มากน้อยแค่ไหน ต้องมีระบบรายงานข้อมูล หรือเรียกว่า ระบบประเมินความเสี่ยง
นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยไม่มี กระจายอำนาจมา 10 กว่าปี ไม่มีใครพูดถึง จึงตั้งโจทย์ขึ้นมาเพื่อวิจัย แล้วทำเกณฑ์ชี้วัดออกมา
2. เกิดข้อสงสัยว่า เวลากระจายอำนาจทางการคลัง รัฐบาลให้อำนาจ ให้เงินลงไปในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งเม็ดเงินหมดไปกับการจัดบริการด้านการศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ แต่ถามว่า เงินหายไปตรงอื่นบ้างไหม ยังไม่นับเรื่องความไม่โปร่งใส
สิ่งหนึ่งที่พบในพื้นที่คือ เงินท้องถิ่น นอกจากเอาไปจัดบริการแล้ว ยังมีส่วนราชการไปใช้เงินท้องถิ่นด้วย ผิดหลักไหม
หลักกระจายอำนาจคือจากข้างบนลงข้างล่าง โอเคว่า ข้างบนก็วิ่งลงไป แต่ตรงกลางคือ ส่วนราชการ ส่วนภูมิภาคที่อยู่ในพื้นที่ไปขอมาใช้ด้วย เหมือนเงินลงไป แต่ถูกดึงกลับมาจำนวนหนึ่ง
ไปคุยกับท้องถิ่นเขาก็เล่าให้ฟัง แต่เราก็อยากพิสูจน์ว่า ปัญหาดังกล่าวมีจริงหรือไม่ ถ้ามี เยอะขนาดไหน นี่คือ 2 โจทย์หลัก
@ ประเด็นสำคัญที่อาจารย์พบจากการวิจัยคืออะไร
ประเด็นแรกเรื่องการก่อหนี้ หลังจากลงพื้นที่เฉพาะเทศบาลในปี 2552 กว่า900 แห่ง ทั่วประเทศพบว่า มีท้องถิ่นที่กู้เงินแล้วก่อหนี้ประมาณ 36 % หรือกว่า 300 แห่ง เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดว่ากู้มากขนาดไหนพบว่า เทศบาลนครเฉลี่ยมีหนี้รวม ณ ปี 2552 ประมาณ 88 ล้านบาท เทศบาลเมืองประมาณ 30 ล้านบาท เทศบาลตำบลประมาณ 9 ล้านบาท
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตัวเลข ณ วันนั้นไม่มีใครรู้ รัฐบาลก็ไม่มีข้อมูล กระทรวงมหาดไทยที่ควรจะมีข้อมูลก็ไม่มี หรืออาจจะมีแล้วไม่เปิดเผย ซึ่งการไม่เปิดเผยข้อมูลคือความเสี่ยงนะครับ นี่จึงเป็นตัวเลขแรกๆที่ถูกเปิดออกมา
นอกจากนี้ จำนวนหนี้ต่อประชากรคิดเป็น 1 พันกว่าบาท/คน ถามว่าหนี้จำนวนเท่านี้ก่อหนี้เกินตัวแล้วหรือไม่ หากใช้หลักวิชาการตอบ ต้องบอกว่าไม่ถึงกับมาก เพราะสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ รัฐบาลกลางมีกฎหมายกำหนดบอกว่าไม่เกิน 15% แต่ในท้องถิ่นช่วงปีดังกล่าวมีประมาณ 3-5% ดูตามเกณฑ์ภาพรวมประเทศไม่ถือว่าเสี่ยง
แต่พอจำแนกตามกลุ่มจังหวัดที่เทศบาลนั้นตั้งอยู่พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกู้เงินไปเยอะกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก
สะท้อนว่าในพื้นที่แถบนี้ มีปัญหาในการบริหารการเงินการคลังท้องถิ่น โยงไปในหลายเรื่อง เช่น นักการเมืองท้องถิ่น หรือนักการเมืองระดับชาติที่ไปมีอิทธิพลในท้องถิ่น
หรือแม้แต่โยงไปถึงระบบการกำกับดูแลก่อหนี้โดยกระทรวงมหาดไทย ก็อาจเป็นไปได้ว่าหย่อนยานหละหลวมหรือไม่
@ ปัจจุบันมีข้อมูลใหม่หรือไม่ว่า การก่อหนี้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร
ผมทำสำรวจต่อยอดซ้ำอีกรอบ วิเคราะห์ข้อมูลอยู่ แต่ยังไม่เสร็จ แต่ก็เป็นข้อมูลที่อัพเดตขึ้น คราวนี้สำรวจองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ด้วย
เจาะเฉพาะเทศบาล ข้อมูลจำนวนใกล้เคียงกันกับสำรวจครั้งแรก 900 กว่าแห่ง พบว่า จำนวนท้องถิ่น เทศบาลที่ไปก่อหนี้มีจำนวนลดน้อยลงจาก 350 แห่ง เหลือประมาณ 170 แห่ง
เหตุผลหนึ่งลดลงคาดว่า เป็นผลพวงจากปี 2554 ที่กระทรวงมหาดไทยเริ่มเข้มงวดมากขึ้นในการดูแลอนุมัติการปล่อยหนี้ให้ท้องถิ่น มีการออกหนังสือสั่งการฉบับหนึ่งประมาณปลายปี 2554 ว่า การก่อหนี้จะรัดกุมเข้มงวดขึ้น ผ่านกระบวนการระดับจังหวัดให้กลั่นกรอง
อย่างไรก็ตาม แม้การกู้เงินน้อยลงก็จริง แต่เม็ดเงินที่กู้สูงมากขึ้น เทศบาลนครที่เคยมีหนี้รวม 88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นหลังจากนั้น 3 ปี เป็น 111 ล้านบาท คิดเป็นตัวเลขต่อประชากรพบว่าเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว และเพิ่มทั้งหมด
ถามว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ผมคาดว่าการคลังท้องถิ่นตึงตัวมากขึ้น 3-4ปีหลังมานี้รัฐบาลไปใช้เงินท้องถิ่นมากขึ้น ท้องถิ่นจึงต้องหาทางออก การก่อหนี้จึงเป็นการปรับตัวหาทางออกทางหนึ่ง
หากข้อมูลยังเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าน่ากังวล เมื่อท้องถิ่นกู้เม็ดเงินจำนวนมากขึ้น ก็มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่งานวิจัยโดยรวมชี้ว่า ภาครัฐไม่ได้ประมวลหรือเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ออกมา
ผมจึงอยากเรียกร้องให้มีระบบรายงานประเมินความเสี่ยงเกิดขึ้น แล้วใช้ข้อมูลที่สมบูรณ์กว่านี้ เพราะข้อมูลของผมเป็นเพียงกลุ่มตัวอย่าง เพราะท้องถิ่นมีราว 7,000-8,000 แห่ง หากมีข้อมูลที่สมบูรณ์ ประชาชนก็จะรู้มากขึ้นว่า ท้องถิ่นก่อหนี้แล้วเสี่ยงหรือไม่
โจทย์ที่น่าสนใจอีกประการคือ เงินท้องถิ่นที่กระจายลงไปแล้วมีส่วนราชการไปขอรับการสนับสนุนหรือรับเงินอุดหนุน เพื่อจัดงานของจังหวัด จัดกิจกรรมจังหวัด มีหรือเปล่า หรือถ้ามี มีเยอะขนาดไหน
ซึ่งโดยสรุปพบว่า ส่วนราชการที่ไปขอรับการอุดหนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด อำเภอ ส่วนราชการจังหวัด ตำรวจ หรือกระทั่งทหาร ไปขอรับการอุดหนุนจากท้องถิ่นทั่วประเทศ ณ ปี 2553 จำนวน 1,000 กว่าล้านบาท คิดเป็นเงินเฉลี่ย 45 ล้านบาท/จังหวัด
นอกจากการขอรับเงินอุดหนุนและจำนวนเม็ดเงินแล้ว ผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจมากกว่านั้นในเชิงนโยบายคือ มี conflict of interest หรือเปล่า โดยเฉพาะส่วนที่ผมพุ่งเป้าคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดกับนายอำเภอ
ทุกวันนี้ ผู้ว่าฯทำโครงการ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากอบจ. เทศบาล แล้วมีการกำหนดงบประมาณเท่านั้นเท่านี้ ทำเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ แล้วก็ส่วนราชการอื่นๆ
แต่ที่พุ่งเป้าไปที่จังหวัดกับอำเภอมากเป็นพิเศษ เพราะโดยบทบาทและหน้าที่ตามกฎหมาย 2หน่วยงานนี้คือ ผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หากผู้กำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณท้องถิ่น เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่นด้วย เขาจะทำหน้าที่ตรวจสอบได้เข้มข้นไหม และหากนำมาใช้เสียเอง สามารถเปิดเผยหรือตรวจสอบได้หรือไม่
สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากกว่าเม็ดเงินที่จะหายไปคือ ผู้ว่าฯหรือนายอำเภอได้ทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพราะประเด็นนี้อาจจะกลายเป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์หรือไม่ ทำให้กลไกในการกำกับดูแลท้องถิ่นไม่ทำหน้าที่หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น หากมีการตรวจสอบเข้มข้น ก็อาจจะมีเรื่องการโดนหางเลขไปด้วย บางครั้งมีการใช้กระบวนการตรงนี้เป็นเครื่องมือต่อรองกันระหว่างผู้กำกับดูแลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศัพท์ท้องถิ่นเรียกว่า "ผลัดกันเกาหลัง"
"นายขอมาก็ช่วยไป แต่ถ้าท้องถิ่นมีปัญหานายอย่าเล่นงานผมนะ มีชาวบ้านมาร้องเรียน นายเก็บเรื่องไว้ได้ไหม อย่างนี้การกำกับดูแลก็เสีย คนที่จะเดือดร้อนจากการตรวจสอบที่ไม่เข้มงวดก็คือประชาชน นี่คือปัญหาที่น่าเป็นห่วง"
@ อาจารย์เป็นคนแรกที่เปิดข้อมูลหนี้การเงินการคลังท้องถิ่น
เคยมีนักวิชาการที่ท่าน ทำก่อนผม เพราะทุกคนรู้ถึงความน่ากลัวของหนี้ท้องถิ่น
แต่ถ้าเข้าใจไม่ผิด การเก็บข้อมูลมากที่สุดแล้วเปิดเผยออกมา ผมน่าจะเป็นคนแรกที่พูดเรื่องนี้
เหตุผลหนึ่งเพราะว่า ก่อนหน้านี้ท้องถิ่นกู้เงินไม่เยอะ ในช่วง 5 ปีแรกของการกระจายอำนาจ ตั้งแต่ปี 2542-2546 ท้องถิ่นได้รับเงินไปจำนวนมากจากผลพวงการกระจายอำนาจ ความจำเป็นก่อหนี้ของท้องถิ่นก็ยังน้อยมาก เพราะว่าเงินภาษี เงินอุดหนุนรัฐบาลส่งลงไปเต็มที่
แต่พอประมาณ ปี 2547-2548 ทิศทางรัฐบาล ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของพรรคไทยรักไทย และต่อเนื่องจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลเริ่มมีโครงการประชานิยมเพิ่มขึ้น เม็ดเงินเท่าเดิม แต่รัฐบาลไปใช้เงินท้องถิ่นมากขึ้น เงินที่ท้องถิ่นเคยได้เยอะๆ ก็น้อยลง สุดท้ายก็หาทางออกด้วยการไปกู้เงิน ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเก็บข้อมูลทำวิจัยพอดี
@ งานวิจัยของอาจารย์มีข้อเสนออย่างไรบ้าง กับประเด็นการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ รวมทั้งการป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
ผู้กำกับดูแลต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหา หากเราตำหนิว่า ท้องถิ่นใช้จ่ายเงินมีปัญหา สุรุ่ยสุร่าย มีคอร์รัปชั่นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้กำกับดูแลก็ต้องรับผิดชอบด้วย
อีกส่วนคือ อาจจะให้น้ำหนักกับการตรวจสอบท้องถิ่นกับภาคประชาชนมากขึ้น เพราะชาวบ้านมีความใกล้ชิดมากกว่าส่วนกลาง หากข้อมูลเหล่านี้ถูกเปิดออกมาเป็นรายแห่ง ชาวบ้านก็อาจจะสนใจมากขึ้น แต่ปัญหาคือปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้เปิดข้อมูลตรงนี้
ฉะนั้นสิ่งที่ผมเรียกร้องในเชิงระบบที่ทำได้ก็คือ เปิดข้อมูลให้ชาวบ้านได้ดู ผมยังเชื่อว่า หากคนเห็นข้อมูลก็จะสนใจ ตื่นตัว ในการตรวจสอบ กำกับดูแลท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้สีเทาๆในการกำกับดูแลน้อยลง
@ ข้อเสนอหรืองานวิจัยของอาจารย์จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้มากน้อยขนาดไหน
ในเชิงกฏหมายก็กำลังผลักดันกันอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่พยายามเรียกร้องคือ การทำระบบข้อมูลการก่อหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องสมบูรณ์ 100 % ท้องถิ่น 8,000 แห่งต้องมีข้อมูลครบ
ซึ่งการจะมีระบบตรงนี้อาจจะกำหนดเป็นกฎหมายหรือเป็นนโยบาย เป็นกฎหมายก็เช่น เขียนกฎหมายท้องถิ่นว่า การรายงานข้อมูลจะต้องมีข้อมูลภาระหนี้ด้วย
ที่ท้องถิ่นรายงานทุกวันนี้มีแค่ข้อมูลงบประมาณรายจ่าย แต่ไม่ได้บอกว่าที่จ่ายไป นำเงินกู้มาจ่ายหรือเปล่า หรือแม้กระทั่งคณะทำงานในทีมยกร่างรัฐธรรมนูญก็มีความพยายามที่จะกำหนดคำนิยามของคำว่าหนี้สาธารณะว่า นอกจากหนี้รัฐบาล หนี้รัฐวิสาหกิจแล้ว ให้รวมหนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยได้หรือไม่
เนื่องจากพอไม่นับรวมเป็นกฎหมาย ท้องถิ่นก็ไม่ต้องรายงาน ทำให้ระบบข้อมูลขาดไป ฉะนั้นหากกฏหมายหนี้สาธารณะใหม่ที่จะออกมา มีการเขียนนิยามของคำว่าหนี้สาธารณะ นอกจากหนี้รัฐบาล หนื้รัฐวิสาหกิจ ให้รวมหนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยหากเขียนไว้ในกฎหมาย ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกบังคับให้เปิดเผยต่อสาธารณะ
@ มีแนวโน้มจะได้เห็นหรือเปล่า
ในภาควิชาการเห็นตรงกัน กลุ่มที่ทำเรื่องปฏิรูปเห็นตรงกัน และในระดับคณะทำงานเรื่องการกระจายอำนาจก็เห็นว่า ควรจะต้องมี
หรือสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กระทรวงการคลัง เคยจัดเวิร์กชอปเรื่องนี้ ก็เห็นด้วยว่าจะต้องมี เพราะสบน.ก็ไม่มีข้อมูลหนี้ท้องถิ่น กระทั่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ก็เห็นด้วย แต่ที่ยังติดอยู่คือ กระทรวงมหาดไทย
@ จะนำเสนอให้ผู้บริหารประเทศได้ดูไหม เพราะที่ผ่านมางานวิจัยมักถูกเก็บไว้บนหิ้งมากกว่าถูกนำมาใช้ประโยชน์
ถ้าเขาอยากได้ ผมยินดีให้ข้อมูล แต่สิ่งที่ผมทำตอนนี้คือเป็นตัวเลขระดับคณะทำงาน แต่ก็เตรียมจะนำไปเปิดเผยให้อนุกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ได้พิจารณา เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป แต่ต้องบอกว่า ข้อมูลผมยังไม่ 100 % หากอยากได้แบบสมบูรณ์ต้องสั่งการกระทรวงมหาดไทย เพราะมหาดไทยไปถึงทุกแห่ง สั่งการได้เลยจะดีที่สุด ข้อมูลผมเป็นต้นทางที่พร้อมจะเปิดเผยได้
@ อาจารย์ตามเรื่องกระจายอำนาจท้องถิ่นมานาน แต่ก็ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมสักที ยังมีความหวังหรือ
มีครับ และจำเป็น เพราะการพัฒนาประเทศต่อไป หากไม่กระจายอำนาจ รัฐบาลก็ต้องเอาเวลามาแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง ไม่มีเวลาไปคิดเรื่องใหญ่ ๆ เช่น เราเคยเห็นประเทศไหนบ้างรัฐบาลมาจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซด์ นายกฯสั่งการจัดคิวรถตู้
แทบไม่มีเวลาไปคิดเรื่องใหญ่หรือแผนระยะไกล แต่ต้องมาแก้ไขปัญหาประจำวัน ซึ่งไม่ใช่เรื่อง นั่นเป็นเพราะรัฐบาลดึงทุกอย่างมาทำเอง นี่คือปัญหาของการไม่กระจายอำนาจ
ฉะนั้น ยังมีความหวังและจำเป็น หากรัฐบาลอยากจะกระจายโอกาส กระจายความเท่าเทียมกันจริงๆ แต่ถ้ายังคงรวมศูนย์ต่อไป ไม่มีทางเป็นไปได้
@ คิดว่าการกระจายอำนาจท้องถิ่นที่ควรจะเป็น ต้องทำอย่างไร
ต้องกล้าที่จะปล่อยให้ลูกโต เลี้ยงลูกมาถึงจุดหนึ่ง พอลูกเริ่มถึงวัยของเขา ต้องกล้าให้เขาไปเผชิญชีวิตของเขาเอง เขาจะได้เป็นคนมีความเข้มแข็ง แต่หากพ่อแม่ยังเลี้ยงลูกไปจนอายุ 30-40 ปี วันหนึ่งพ่อแม่ไม่อยู่ ลูกในวัย 40 เพิ่งออกไปเผชิญโลก ก็ไม่พร้อม ดูแลอะไรไม่ได้เลย เป็นพลเมืองที่ไม่มีคุณภาพ
เช่นเดียวกับท้องถิ่น เลี้ยงมา 10 กว่าปี รัฐบาลต้องกล้าที่จะปล่อย แต่ไม่ได้ปล่อยขาดนะ คือยืนดูห่างๆ ถ้าจำเป็นก็เข้าไปตักเตือน เข้าไปบอก จัดสรรงบประมาณ กำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ว่าต้องไม่ทำอะไรที่ผิดปกติหรือเกินเลย แต่หากพบความผิดปกติ รัฐบาลต้องมีเครื่องมือชี้วัด ที่สามารถติดตามได้ว่าเริ่มเสี่ยงแล้ว ก่อหนี้เยอะไปแล้ว
หากเตือนแล้วไม่ฟังก็ต้องมีไม้เรียว สั่งการ จะยุบ หรือชะลอการก่อหนี้ ก็แล้วแต่กระบวนการจัดการ แต่ทำเมื่อจำเป็น ดังนั้นรัฐบาลต้องให้อิสระแต่ต้องมีเครื่องมือในการดูแลที่ดี ยกระดับการดูแลท้องถิ่นแบบมีระยะ มีเครื่องมือในการติดตามตรวจสอบ ไม่ใช่ไปสั่งทุกอย่าง