“บิ๊กโย่ง-อนันตพร” เปิดใจ ภารกิจคตร. การปรองดอง และสื่อ
"...มองบนผิวน้ำก็ดูดี แต่เราไม่รู้ว่าใต้น้ำมีอะไรอยู่ข้างล่าง ก็ต้องใช้หลักคุยกัน อย่างที่ท่านนายกฯว่า ไม่ได้ไปไล่ล่าใคร ถ้าใช้หลักว่าคนนี้เป็นพวกเรา คนนี้ไม่ใช่พวกเราก็ลำบาก ดังนั้นต้องคุยกัน"
สุดสัปดาห์นี้ “พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์” ฉายา "บิ๊กโย่ง" ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก, ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.),และประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวอิศรา ถึงภารกิจของคตร. รวมทั้งมองทิศทางการปฏิรูปและการปรองดองในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของสังคมไทย!
……………
@ ในฐานะประธานคตร. ขณะนี้มีเรื่องตรวจสอบในมือกี่เรื่อง แล้วมีผลเป็นอย่างไร
ต้องบอกก่อนว่า วัตถุประสงค์การตั้งคตร.คือ ติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นหลัก ติดตามในเรื่องที่ล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงาน และตรวจสอบในกรณีที่เห็นว่าไม่โปร่งใส
ฉะนั้น หลักการทำงานของคตร.มี 4 ประเด็นคือ คุ้มค่า โปร่งใส เป็นประโยชน์ และทันเวลา แต่ทั้งนี้ต้องตรวจสอบต่อเมื่อได้รับการร้องเรียนและการร้องเรียนนั้นต้องมีการลงชื่อ แต่ถ้าไม่ได้ลงชื่อก็ต้องมีข้อมูลมายืนยัน
หรือบางครั้งมีโครงการที่กระทรวงฯไม่สบายใจมาให้เราตรวจสอบ ซึ่งในทางปฏิบัติตรวจสอบแล้วก็ให้มีการทบทวน ประกวดราคาใหม่ ฉะนั้น คตร.ไม่ได้ตรวจสอบทุกโครงการ แต่ติดตามในโครงการที่ไม่เป็นไปตามแผน และตรวจสอบในกรณีโครงการที่ราคากลางสูงเกินไปหรือมีข้อร้องเรียน
@ ผลการติดตามตรวจสอบที่ผ่านมาพบความผิดปกติอะไรบ้างไหม
ปีที่ผ่านมาเราปรับราคากลางไปเยอะ มีการยกเลิกโครงการที่ไม่มีรายละเอียด มีแต่วงเงิน ไม่ตอบสนองยุทธศาสตร์ พูดง่ายๆคือโครงการหาเสียงในอนาคต ก็ไม่ผิด แต่หากเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประชาชน เมื่อตรวจสอบแล้วเหมาะสมก็จะให้ดำเนินการต่อ แต่หากไม่เป็นประโยชน์ก็จะยกเลิก และนำไปจัดสรรให้กับโครงการที่จำเป็น ซึ่งมีรออยู่จำนวนมาก
ฉะนั้น ที่ปรับเปลี่ยนคือโครงการประชานิยมที่ไม่เป็นประโยชน์ไปสู่โครงการที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งโครงการของท้องถิ่นที่มักมีข้อกล่าวหาว่าล่าช้า หรือไม่โปร่งใสในการใช้เงิน เราก็ขอดูแผนก่อน
แต่ปีนี้การตรวจสอบจะเบาลง เพราะว่ามีกระบวนการในการจัดทำงบประมาณตั้งแต่เริ่มแรก โดยรัฐบาล และ สนช. รวมทั้งกระบวนการในขั้นบริหารจะมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีติดตามและตรวจสอบอยู่
@ โครงการประชานิยมที่ไม่เป็นประโยชน์หรือโครงการท้องถิ่นที่ว่า มีเรื่องอะไรบ้าง
ในปีงบประมาณ 2557 มีหลายเรื่อง เช่น โครงการจัดหาแท็บเล็ต ก็ยกเลิก และนำไปทำ smart classroom แทน โครงการของท้องถิ่น จะเป็นโครงการที่ตั้งวงเงินไว้ และนักการเมืองก็จะไปหาผลประโยชน์จากโครงการเหล่านั้น ด้วยการแสวงประโยชน์จากส่วนต่างหรือที่เรียกว่าเงินทอน
ขณะนี้หลายส่วนราชการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า โดยมีเหตุผลอย่างหนึ่งว่ากลัวการตรวจสอบของคตร. แต่จริงๆเราไม่ตรวจสอบโครงการ ทุกโครงการสามารถเดินหน้าไปได้เลยตามแผนงาน เราจะตรวจเฉพาะโครงการที่มีปัญหา การร้องเรียนหรือมีเบาะแสว่ามีการทุจริต
ทุกคนต้องดำเนินการตามหน้าที่ที่มีอยู่ ไม่ต้องรอคตร.ตรวจสอบ ไม่ใช่มาบอกว่ากลัวไม่โปร่งใส เพราะนั่นแสดงว่ามีเจตนาไม่โปร่งใส จึงต้องอธิบายตรงนี้ให้เข้าใจ ที่บอกว่าช้าเพราะโดนตรวจสอบ ไม่ใช่ คุณต้องทำงาน ถ้าถูกตรวจสอบแสดงว่าคุณทำไม่ถูกต้อง
@ ที่ประชุมครม.นัดล่าสุด ท่านนายกฯสั่งการให้คตร.ไปตรวจสอบหลายโครงการ อาทิ โครงการในองค์การสวนสัตว์ หรือการจัดซื้อจ้างในหน่วยงานของกระทรวงศึกษาและกระทรวงวิทย์ฯ พบความผิดปกติอย่างไรบ้าง
โครงการองค์การสวนสัตว์ ท่านนายกฯเปรยว่าช่วยไปตรวจหน่อย เพราะมีคนร้องเรียนมา ก็นำเข้าที่ประชุมคตร.ไปแล้ว หรือเรื่องหลอดไฟแอลอีดี ของกระทรวงคมนาคม ก็ยังดูอยู่ว่าตรงไหนเป็นจุดผิดปกติ รวมทั้งเรื่องการก่อสร้างอีกหลายแห่ง ยังอยู่ระหว่างการเข้าไปดู
@ มีอุปสรรคในการเข้าไปติดตามตรวจสอบไหม
เราไม่ได้เป็นองค์กรปกติ หรือองค์กรถาวร จึงมีกำลังคนไม่มากนักในการไปตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้มี 3 ทีมดูแล 3 ด้าน คือด้านจัดซื้อจัดจ้าง ด้านการเงินการบัญชี และด้านวิเคราะห์แผนงาน ซึ่งโครงการในปีงบประมาณ 2558 จะเป็นลักษณะเร่งรัดการดำเนินการให้เบิกจ่ายได้ตามแผน
คือทุกคนตระหนักแล้วว่า ในขั้นการดำเนินกรรมวิธี ถ้าทำไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายจะถูกพิจารณาโทษ ซึ่งท่านหัวหน้า คสช. จะเป็นคนพิจารณา คตร.ไม่มีหน้าที่ไปทำอะไรนะ เราเพียงแต่เสนอข้อมูลให้กับท่านหัวหน้า คสช.เป็นคนพิจารณา
ทั้งนี้ บางกรณีอาจเกิดจากกฎระเบียบที่มีขั้นตอนมากเกินไป ยกตัวอย่าง เช่น ระเบียบพัสดุ ก็พยายามทบทวน ให้กระชับขึ้นเพราะที่ผ่านมามีขั้นตอนยาวเกินไป จะไปโทษข้าราชการทั้งหมดก็ไม่ได้
ในปีงบประมาณ 2558 การการก่อสร้าง ขณะนี้มีการนำสัญญาว่าด้วยคุณธรรม Integrity Pact มาใช้ ถือเป็นเรื่องใหม่ โดยเพิ่มผู้สังเกตุการณ์ภาคประชาชนเข้าไป ฉะนั้นต่อไปสัญญาที่มีวงเงินสูงจะต้องมีสัญญานี้ประกบอยู่ด้วย ซึ่งขณะนี้เริ่มใช้กับโครงการนำร่อง 2 โครงการก่อน ได้แก่โครงการรถเมล์เอ็นจีวีและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จะเข้าไปใช้ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ไม่ได้ไปจับผิด แต่หากพบความไม่เหมาะสมก็จะมีการนำข้อมูลมาเข้าคณะกรรมการ ฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป
ดังนั้น ย้ำอีกครั้งว่าการทำงานปี 2558 คือการพัฒนากระบวนการให้สามารถดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสอย่างแท้จริง รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างส่วนราชการต่างๆ ให้เข้าใจว่าหากมีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส หรือพบการทุจริต ก็จะมีการดำเนินการลงโทษอย่างจริงจัง
@ วางบทบาทตัวเองในการทำหน้าที่ต่างๆอย่างไร เพราะวันนี้ท่านมีหลายตำแหน่ง
สนช.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ แต่คตร.เกิดก่อนตั้งแต่คสช.เข้ามา แต่ผมคิดว่ามันมีความเชื่อมโยงกัน ในสนช.ก็มีคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ มีเรื่องการเงินการคลัง งบประมาณ ก็สอดคล้องกัน เวลากรรมาธิการสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการงบประมาณ หรือการตรวจสอบ ผมในฐานะประธานคตร.ก็จะชี้แจง หรือหากคณะกรรมาธิการ มีข้อเสนอแนะ ผมก็จะรับมาดำเนินการทันที ทำให้ลดขั้นตอน และมีความเข้าใจกันอย่างรวดเร็ว
@ อะไรคือความยากในการทำงานของคตร. เพราะล้วนแต่เกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่ เม็ดเงินจำนวนมาก
ยากที่จะอธิบายให้ข้าราชการเข้าใจว่า เราไม่ได้มาจับผิด แต่มาช่วยท่าน เช่น มีโครงการที่มีข้อสงสัย ก็จะเชิญผู้รับผิดชอบมาชี้แจง หากปรับได้ก็จะขอให้ปรับให้เหมาะสม หากยังไม่ชัดเจนก็จะขอให้ดำเนินการใหม่ แต่โครงการใดที่ดำเนินการไปแล้ว มีความไม่โปร่งใส อย่างนี้ผู้บริหารต้องรับผิดชอบ ทำให้บางครั้งส่วนราชการเลยไม่กล้าจะทำอะไร ซึ่งก็จะผิดเรื่องความล่าช้าอีก
อีกอย่างคือการอธิบายสื่อให้เข้าใจว่าเราไม่ได้ตรวจทุกโครงการ อาจไม่ได้เป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องการทำความเข้าใจกันมากกว่า เพราะสื่ออยากได้ข่าวการลงโทษมากกว่า
@ จะปรับการสื่อสารให้ชัดเจนขึ้นไหมครับ ยกตัวอย่างกรณีไมค์ทำเนียบฯทราบว่ามีการสื่อสารไม่ชัดเจนจนเกิดปัญหา เป็นที่คาใจของสังคม
สมัยก่อนเวลาประชุมคตร.ก็จะมีแถลง แต่ตอนหลังไม่มี เพราะเราอยากลดบทบาทให้ฝ่ายรัฐบาลเป็นหลักแทน เพราะตอนเป็นคสช.บทบาทเราเต็มตัว เนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักในการทำงานดังกล่าว
แต่พอมีรัฐบาลแล้ว เราเห็นว่า ท่านนายกฯก็มอบหมายให้รองนายกฯ รัฐมนตรี ไปติดตามตรวจสอบ มีผู้ตรวจราชการ ซึ่งมีหน้าที่อยู่แล้ว เราก็อยากตรวจเงียบๆของเรา แต่พอเป็นประเด็น ประชาชนอาจไม่เข้าใจ สื่ออาจไม่เข้าใจ เราก็ฝากทีมโฆษกฯรัฐบาลแถลง ซึ่งต่อไปอาจจะปรับให้มีการชี้แจงมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจ
@ หนักใจไหม
ผมทำงานด้านนี้มาอยู่แล้ว คือวางแผนยุทธศาสตร์ จัดทำ แผนงานโครงการ แผนงานงบประมาณ แต่ก็หนักใจในการสร้างความเข้าใจกับข้าราชการว่า เรามาเพื่อจะพัฒนาและแก้ไขในสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้น
ที่ผ่านมาบางครั้งข้าราชการตั้งใจทำดี แต่ผู้บังคับบัญชาไม่เอื้อให้เขาทำดีหรือสั่งให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่เขาทำอะไรไม่ได้ ซึ่งข้าราชการหลายคนบอกว่ายินดีจะปรับลดวงเงิน ตัดงานไม่จำเป็นทิ้งไป ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือ ปีที่แล้วก็ได้ปรับลดเงินมาหลายหมื่นล้านมาทำงานในสิ่งที่จำเป็นแทน
@ วางแนวทางการทำงานติดตามตรวจสอบอย่างไร
ทหารเป็นนักคิด นักยุทธศาสตร์อยู่แล้ว เพราะต้องไปรบกับข้าศึก ต้องเดาใจข้าศึกว่าจะรบแบบไหน วางกำลังแบบไหน วางกำลังอย่างไรให้เหนือกว่าเขา หรือถ้าเขาเหนือกว่าเรา ทำอย่างไรที่จะตั้งรับได้ ไม่บาดเจ็บ ลูกน้องไม่สูญเสีย การรบจะต้องสูญเสียน้อยที่สุด สุดท้ายคือต้องรบชนะข้าศึก
ผมถนัดเรื่องนี้ อยู่กองทัพก็บรรยายการวางแผนกลยุทธ์ การจัดแผนงานโครงการ ทำให้เรามองโครงสร้างต่างๆ ออก ซึ่งจะมีประโยชน์ในการพิจารณาความเชื่อมโยงกับเป้าหมายที่วางไว้
ดังนั้นเวลา พิจารณาแผนงานโครงการที่ส่วนราชการเสนอมา ถามว่าเชื่อมโยงอย่างไรกับเป้าหมาย ประชาชนจะได้อะไร ประเทศชาติได้อะไร ถ้าตอบไม่ได้แสดงว่าแผนงานโครงการนั้นก็ไม่มีประโยชน์ ควรยกเลิก
ถ้าตอบได้ก็ต้องดูว่า แพงไหม คุ้มค่าไหม แล้วทำไมไม่ทำให้เร็วๆ ทำไมช้า ฉะนั้นเราคิดเป็นระบบ ก็ต้องใช้ประสบการณ์ในการวางแผน วางแผนแล้ววิเคราะห์ได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
@ เป็นนักยุทธศาสตร์ในกองทัพกับงานคตร. อย่างไหนทำงานยากง่ายกว่ากัน
แน่นอนว่า ในกองทัพมีการวางแผนมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ตรงนี้เราไม่เห็นแผนเขา บางครั้งเป็นแผนที่กว้างเกินไป ไม่ชัดเจน
จริงๆ ประเทศไทย จะต้องยึดถือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาหลายปีไม่ได้ใช้แผนนี้ แต่ใช้นโยบายพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง ก็ไม่ผิด แต่ตามหลักการแล้ว นโยบายพรรคก็ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ตอนคสช.เข้ามาก็นำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาใช้ ฉะนั้นตอนที่เราตรวจสอบงบประมาณปี 2557 โครงการ แผนงานใดที่ไม่ตอบสนองต่อเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถือว่าน่าจะมีการปรับเปลี่ยน เพราะว่านโยบายรัฐบาลคือ นโยบายพรรค ก็อาจจะเป็นเรื่องของประชานิยมบ้าง ก็ปรับแต่งให้เข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในปี 2558 ก็เช่นกัน ต้องให้มีการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์งบประมาณกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพราะสภาพัฒน์ฯคือผู้วางแผนระยะยาวของประเทศ ถ้าทำได้ก็สบาย ตรวจแค่ความคุ้มค่าอย่างเดียว ฉะนั้นก็ควรนำมาใช้ให้มากที่สุด
@ มองสังคมไทยวันนี้อย่างไรบ้าง
คนไทยเคยชินกับการให้มากไป คนไทยต้องรู้จักคิดให้มากกว่านี้ สังคมไทยพ่อแม่ให้มาตั้งแต่เกิด มีปัญหาก็แก้ปัญหาด้วยการให้ ชาวนาก็ให้ การศึกษาก็ให้กู้ ก็เป็นสังคมแห่งการให้ จริงๆ การให้เป็นการดีนะ แต่ควรจะให้แบบเหมาะสม ฉะนั้นคนไทยต้องคิดเพื่อส่วนรวมให้มากขึ้น มีจิตสาธารณะ แต่ถ้าคิดว่าเราจะได้อะไร อย่างนี้แย่
@ คิดว่าอะไรคือปัญหาหลักของสังคมไทยเวลานี้
ระบบประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร เราคิดอย่างหนึ่ง อีกคนคิดอย่างหนึ่ง คิดไม่เหมือนกัน ต้องมาคุยกัน ระบบประชาธิปไตยเวลาฟังคนอื่นพูด ความคิดเปลี่ยนได้ แต่เปลี่ยนด้วยเหตุผล ฉะนั้นต้องมีการยอมรับความคิดเห็นคนอื่น
แต่วันนี้คนไทยมักไม่เปลี่ยนแปลง เคยคิดอย่างไรก็คิดอย่างนั้น หรือพวกใครก็เป็นพวกนั้น สังคมไทยเป็นระบบพวกพ้อง ถ้าคิดอย่างไรแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ พัฒนาประเทศลำบาก
อะไรที่ไม่ตรงกับที่เราคิด ไม่เห็นด้วย ก็ค้านจนเดินหน้าไม่ได้ ก็คล้ายๆกับเรื่องปรองดอง คือเอาตัวเองเป็นหลัก ผมก็ไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก แต่วันนี้ไม่ถูกใจตัวเองถือว่าไม่ปรองดอง ถูกใจตัวเองก็ปรองดอง
@ แล้วอย่างนี้จะเห็นการปฏิรูป การปรองดองได้ไหม
การปฏิรูปเห็นนะ เพราะว่าประชาชนที่เขารับรู้ เริ่มโอเค เช่น พยายามออกกฎหมายที่มีประโยชน์ ซึ่งในรัฐบาลปกติอาจจะออกไม่ได้ อาจจะไปขัดกับผลประโยชน์ แต่พอออกได้ก็เหมือนปฏิรูปได้ส่วนหนึ่ง ทำให้ระบบเดินหน้าไปได้ เช่น กฏหมายด้านภาษี กฏหมายประมง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ชัดเจน ก็พยายามปิดช่องว่างตรงนี้ ส่วนการปรองดอง ถ้าทุกคนมองประเทศส่วนรวมเป็นสำคัญ ผมคิดว่าได้ ไม่ใช่เอาความคิดตัวเองเป็นหลัก
@ ปรองดองได้ในสภาพที่บ้านเมืองยังเป็นแบบนี้หรือ
ถ้ามองบนผิวน้ำก็ดูดี แต่เราไม่รู้ว่าใต้น้ำมีอะไรอยู่ข้างล่าง ก็ต้องใช้หลักคุยกัน อย่างที่ท่านนายกฯว่า ไม่ได้ไปไล่ล่าใคร ถ้าใช้หลักว่าคนนี้เป็นพวกเรา คนนี้ไม่ใช่พวกเราก็ลำบาก ดังนั้นต้องคุยกันว่าประเทศไทยล้าหลังในอาเซียน การศึกษาก็แย่ เศรษฐกิจก็แย่ ความสามารถทางการแข่งขันก็ไม่ไหว เพราะเรามามัวทะเลาะกัน คนอื่นทะเลาะกันจบแล้ว เดินหน้าแล้ว แต่เราไม่เลิกทะเลาะซะที ฉะนั้นต้องคิดให้ได้ ไม่ใช่พวกใครพวกมัน แต่คือคนไทยด้วยกัน
สังคมไทยวันนี้แบ่งขั้วแบ่งฝ่ายกันเยอะ คุณภาพของคนที่เล่นการเมืองต้องมีคุณภาพที่ดี มีความเสียสละ รับฟังเหตุผล แต่ช่วงหลังไม่ค่อยเป็นแบบนั้น เอาพรรคพวกเป็นหลัก
ถ้าทุกคนเสียสละก็ไปได้ แต่ตอนนี้ยัง เพราะทุกคนยังมองผลประโยชน์ตัวเอง ตราบใดที่ยังมีตรงนี้ ปรองดองไม่ได้หรอก ต้องเสียสละทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ฝ่ายตรวจสอบ สื่อมวลชน
อย่างสื่อต่างประเทศ เรื่องไหนที่เป็นเรื่องร้ายกับประเทศ เขาจะไม่ลงพาดหัวข่าว จะไว้ข้างไหน แต่ก็ไม่ได้ละเว้นการตรวจสอบ
ฉะนั้นหน้า 1 สื่อไทย เป็นไปได้ไหมลงแต่เรื่องดี ๆ เช่น รัฐบาลออกกฎหมายฉบับนี้มาทำให้ประชาชนดีขึ้น ถ้าสื่อช่วยพาดหัว ไม่ใช่มาเอาใจนะ คือ เรื่องดีๆไว้หน้า1 จะได้รู้ว่าประเทศไทยมีของดีเยอะนะ แต่สื่อก็ยังทำหน้าที่ตรวจสอบได้ แต่ไว้หน้าใน แต่วันนี้พาดหัวแต่เรื่องร้าย ๆ เรื่องดีๆ อยู่หน้าในๆ ต่างชาติเห็นก็เอาไปลงต่อ โลกก็คิดว่าไทย มีแต่เรื่องไม่ดี สื่อก็ต้องช่วยกัน สังคมทุกส่วนก็ต้องช่วยกัน
@ ในอนาคตจะลงเล่นการเมืองไหม
ทุกวันนี้ผมทำหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ผมก็ยินดีปฏิบัติ เพราะเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือบ้านเมือง แต่ไม่ได้ทำเพื่อตำแหน่ง ทุกตำแหน่งที่ผมได้มา ไม่เคยขอ งานที่คิดว่าไม่เหมาะสมกับตัวเองปฏิเสธได้ผมปฏิเสธ แต่ถ้าเรื่องบ้านเมือง ผมยินดี ขนาดเป็นสนช.ผมมารู้ตัววันที่ประกาศชื่อนั่นแหละ
@ จบภารกิจนี้แล้วจะไปทำอะไร
ผมอยากพักผ่อน ให้คำปรึกษากับคนที่อยากมาปรึกษาจากประสบการณ์ที่มีอยู่
@ คำถามสุดท้าย กรณีไมค์ทำเนียบฯ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ไมค์ทำเนียบฯ ต้องเข้าใจว่า ทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ปรับปรุงมาหลายสิบปี รวมทั้งไมค์ด้วย ผมก็ไม่เกี่ยวอะไร แต่มีการเสนอเข้ามาในคสช.เรื่องการปรับปรุงทำเนียบฯ รวมทั้งระบบสื่อสารทั้งหลาย
ก็พิจารณามองจากภาพรวมว่าไม่ได้ปรับปรุงมานาน โครงการนี้วงเงินพอสมควร ก็เห็นควรปรับปรุง ทั้งนี้ในขั้นดำเนินกรรมวิธีต้องโปร่งใสตรวจสอบได้
แต่ไมค์ คนวางแผนคิดว่าทำเนียบรัฐบาล ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นห้องประชุมที่ต้องระดับชั้น 1 ของประเทศ ต้องเป็นของดี ก็ไปหาไมค์ที่ดีแต่บังเอิญไม่เคยมีในประเทศไทย
เมื่อไม่มีในประเทศไทย ก็ไม่มีราคากลาง สุดท้ายก็ราคาสูง แต่พอตอนหลังมาประกวดราคาก็ลดลงไปเยอะ แต่ผมบอกว่ามันคาใจแล้ว ก็เลยขออนุมัติให้ยกเลิกไปแล้ว ปัจจุบันก็ใช้ไมค์เก่า ถ้าจะใช้ไมค์ใหม่ก็ต้องเริ่มตามขั้นตอนใหม่