เสิร์ฟเครื่องเคียง: ‘บางระจัน’ ละครฟอร์มยักษ์ ‘รักชาติ’
แม้จะไม่อลังการสมราคาคุย สำหรับละครฟอร์มยักษ์ ‘บางระจัน’ ที่กำลังออกอากาศผ่านหน้าจอช่อง 3 ออริจินัล และช่อง 3 HD เวลานี้ แต่ก็ถือว่าครบเครื่อง ครบอารมณ์ ไม่น้อย พิสูจน์ได้จากกระแสชื่นชมที่ต่างไหลมาเทมา โดยเฉพาะในสื่อโซเซียลมีเดีย คงต้องยกความดีความชอบให้กับผู้จัดอย่าง ‘คุณหน่อง’ อรุโณชา ภาณุพันธ์ หัวเรือใหญ่แห่งค่ายบรอดคาซท์ฯ
ขณะเดียวกันภายใต้คำชื่นชม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าละครยังมีจุดอ่อนอยู่หลายประการ แต่ตรงไหนนั้น ‘พราวกระซิบ’ คงขอ ‘อุ๊บ!’ ไว้ก่อน ไม่สาธยายให้เสียอรรถรสการรับชม เพราะเห็นว่าอย่างน้อย เพียงมีจิตใจที่ตั้งมั่นจะผลิตผลงานขึ้นอย่างดีที่สุด นับว่าเป็นความโชคดีของคนไทยแล้ว
‘บางระจัน’ ถูกบันทึกไว้ในฐานะวีรชนผู้กล้าของประวัติศาสตร์ชาติไทย ปกป้องผืนแผ่นดินจากการเหยียบย่ำของข้าศึกศัตรู โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในแผ่นดินของสมเด็จพระสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) พ.ศ.2301-2310 พระมหากษัตริย์ลำดับสุดท้ายในราชวงศ์บ้านพลูหลวงและเป็นลำดับสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่ใคร่จะมีใครรู้จักมากนัก และเพื่อปูพื้นฐานแก่ผู้ชมจึงขอหยิบยกมานำเสนอ
พระเจ้าเอกทัศ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 2 จาก 7 พระองค์ ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงเป็นโรคเรื้อน ในราชสำนักจึงเรียกว่า ‘ขุนหลวงขี้เรื้อน’ ซึ่งกล่าวกันว่า ราชวงศ์นี้ถูกคำสาปแช่งจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับแต่ครั้นสมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงช่วงชิงราชบัลลังก์ ทำให้ต้องสิ้นกรุงศรีฯ ในกาลต่อมา
เหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่คาดการณ์จะเป็นสาเหตุครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่การประชวรด้วยโรคบุรุษและกลายเป็นคุดทะราดของพระราชโอรสองค์ใหญ่ ‘เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์’ ในฐานะกรมพระราชวังบวร ในสมัยพระชนก ส่วนพระราชโอรสอีก 3 พระองค์ (กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี) ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์
อีก 1 พระองค์ อย่างกรมหมื่นเทพพิพิธก็ถูกกล่าวหาเป็นกบฏ จนถูกเนรเทศไปอยู่เกาะลังกา คงมีเพียงพระราชโอรสองค์ที่ 3 ‘เจ้าฟ้าอุทุมพร’ ได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์รัชทายาท และสืบราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์ พระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ทว่า หลังจากครองราชย์เพียงเดือนเศษกลับถูกแย่งชิงจาก ‘พระเจ้าเอกทัศน์’ และตั้งตนเป็นเจ้าประเทศองค์ต่อไป
แต่แล้วเมื่อเหตุการณ์ในบ้านเมืองวุ่นวาย พระเจ้าเอกทัศน์ได้ร้องขอให้เจ้าฟ้าอุทุมพรลาผนวชกลับมาช่วยบัญชาการศึก จึงนับได้ว่าสมัยนั้นมีพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ก็ว่าได้ ภายหลังเมื่อการศึกสงบลง บรรดาข้าราชการนายกองต่างเขม่นในความเคร่งครัดของเจ้าฟ้าอุทุมพร เพราะพระองค์เมื่อไม่พอใจใครจะกำจัดโยกย้ายทันที
จึงต่างพากันกราบทูลพระเจ้าเอกทัศน์ทรงทราบ เพื่อป้องกันการระแวงสงสัย เจ้าฟ้าอุทุมพรจึงขอลาผนวชอีกครั้ง จนกลายเป็นที่มาพระนาม ‘ขุนหลวงหาวัด’ และจนแล้วจนรอดพระเจ้าเอกทัศน์ก็ไม่สามารถจะรักษาแผ่นดินไว้ได้
ชะตากรรมของพระองค์ภายหลังกรุงแตกจึงต้องซมซานหลบซ่อนอยู่ในป่า อดอยาก ขาดอาหาร จนสิ้นพระชนม์ ส่วนเจ้าฟ้าอุทุมพรในคราบบรรพชิตถูกพม่าจับไว้ที่เมืองพม่าจนสิ้นพระชนม์
เรื่องราวข้างต้นเป็นเพียงเสี้ยวประวัติศาสตร์หนึ่งที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนของ ‘พงจันทร์’ ในหนังสือยอดวีรบุรุษ-วีรสตรี ที่อยากสื่อสารไปยังผู้อ่านทุกคน
สำหรับ ‘บางระจัน’ นั้น คงต้องรอให้ติดตามในละคร ทุกคืนวันจันทร์-อังคาร เเทน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้นอกจากปลุกความสามัคคี รักชาติ เเละเรียนรู้ประวัติศาสตร์เเล้ว ทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ด้วย
สุดท้าย เชื่อมั่นเหลือเกิน คำว่า ‘ขอบน้ำใจ’ คงฮิตติดหูเเล้วกระมัง .
เชิญติดตามข่าวสารวงการบันเทิงจากเเฟนเพจ พราวกระซิบ
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ยูทูป