58 ปี ธรณีพี่นี้มอบแร่แด่นายทุน
เหมืองทอง นโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวกับแร่ สะท้อนข้อเท็จจริงว่า ธุรกิจเหมืองแร่ที่ทุกฝ่ายสมคบคิดโอบอุ้มคุ้มครองกันมาโดยตลอด มีการเติบโตขึ้นภายใต้โครงสร้างที่เอื้อสิทธิและสมประโยชน์ร่วมกันระหว่างนักลงทุนกับชนชั้นนำ โดยได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากส่วนราชการและจากรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย
พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 เป็นกฎหมายแร่ฉบับแรกที่เกิดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ช่วงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกเฟื่องฟู ในสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร
เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ คือ การนำทรัพยากรธรณีขึ้นมาใช้ในการพัฒนาประเทศ เปิดกว้างการลงทุนในกิจการเหมืองแร่ผ่านระบบสัมปทาน ผูกขาดทรัพยากรแร่ไว้เป็นของรัฐ และการขออนุญาตทำเหมืองแร่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ
ในประเทศไทยพลังท้าทายอำนาจรัฐครั้งแรกเกิดจากชนวนเหตุแห่งการทุจริตในวงราชการ การสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ และข่าวซากกระทิงที่ถูกล่าจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจำนวนมากในซากเฮลิคอปเตอร์ที่เกิดอุบัติเหตุตกกลางทุ่งนาในอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม รวมถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมได้สร้างแรงประทุภายในทำให้เกิดการรวมตัวของนักศึกษาและประชาชนในประเทศเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจาก จอมพลถนอม ในปี 2516 และนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2518 นับเป็นการลุกฮือของมวลประชาชนเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 20 ที่ประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยได้สำเร็จ
แต่อีกด้านหนึ่งในมิติของทิศทางการพัฒนาประเทศโดยใช้ทฤษฎีทางเศรษฐกิจเป็นธงนำ โดยที่ “แร่ยังเป็นของรัฐ”
การจัดการทรัพยากรแร่ การกระตุ้นการลงทุนพัฒนาแหล่งแร่ในประเทศ โดยลดข้อจำกัดในการสำรวจศักยภาพแร่ ความพยายามที่จะขยายเขตทำเหมืองแร่ให้ครอบคลุมสัมปทานแร่ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ทำให้รัฐพยายามขยายขอบเขตอำนาจ ซึ่งสะท้อนภาพเด่นชัดจากการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาใน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 รวม 5 ฉบับ จากปี 2516 ในรัฐบาลจอมพลถนอม ปี 2522 ในรัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปี 2526 และ 2528 ในรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปี 2534 ในรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน และปี 2545 ในรัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
การแก้ไขกฎหมายแร่ทุกครั้ง หมายถึง การเอื้อให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่ ไม่ว่าจะเป็น การให้สัมปทานทำเหมืองใต้ดินลึกเกิน 100 เมตรได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินด้านบน การอนุญาตให้ขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน หรือการให้รัฐมนตรี โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจเต็มในการกำหนดพื้นที่ที่ได้สำรวจแล้วว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าสูงเป็น “เขตแหล่งแร่” เพื่อให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ได้ และยังมีความพยายามที่ยังไม่สำเร็จอีกหลายครั้งที่จะนำพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ซึ่งระบุใน พ.ร.บ.แร่ ไม่ให้มีการทำเหมืองแร่มาให้อาชญาบัตรและประทานบัตรแก่นักลงทุนให้ได้
นโยบายเศรษฐกิจในการใช้ทรัพยากรแร่โดยระบบสัมปทานที่เปิดทางเอื้อต่อนักลงทุนในลักษณะนี้ มีตัวอย่างจากกรณีศึกษาเหมืองแร่ทองคำที่เปิดดำเนินการแล้ว 2 แห่งในประเทศ
ย้อนกลับไป 30 กว่าปีก่อนในสมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดย นายประมวล สภาวสุ ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.อุตสาหกรรม นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็น รมช.อุตสาหกรรม สมรสกับ ท่านผู้หญิงอรนุช นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ส่วน ดร. ประภาส จักกะพาก เป็น อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี สมรสภรรยาในตระกูลจูตระกูล กลุ่มธุรกิจเก่าแก่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงนั้นมีตระกูลธุรกิจไม่กี่ตระกูลที่มีกิจการหลักทรัพย์ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อตลาดการเงินของประเทศไทย
ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ทินเดร็ดยิง เบอฮัด และ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด ธุรกิจของตระกูล กาญจนะวณิชย์ ได้รับอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ในทะเล โดยทำสัญญาให้ผลประโยชน์พิเศษตอบแทนในการอนุญาตทำเหมืองในทะเล ระหว่าง บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ทินเดร็ดยิง เบอฮัด และ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด กับ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม โดย มติครม. วันที่ 23 ธันวาคม 2523 แต่งตั้ง ดร.ประภาส อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นผู้แทนภาครัฐบาลไปเป็นคณะกรรมการในบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯ
ต่อมา กรมทรัพยากรธรณี กับ บริษัท อ่าวขามไทย จำกัด ธุรกิจของตระกูล ชาญวีรกุล และบริษัท ชลสิน จำกัด ทำสัญญาเกี่ยวกับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 และ มติครม. วันที่ 2 ตุลาคม 2533 แต่งตั้ง ดร. ประภาส อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเป็นผู้แทนภาครัฐบาลไปเป็นคณะกรรมการในบริษัทชลสินฯ
ภาพของกลุ่มธุรกิจที่รวมกลุ่มเป็นพันธมิตรต่อกันในยุคนั้นปรากฏชัดเจนในรายชื่อผู้ถือหุ้นสำคัญ ๆ ของ บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กระทรวงการคลัง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยที่นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯ และนายจิรายุยังได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จากปี 2530 มาจนปัจจุบัน
ล่วงเลยมาในปี 2531 หลังการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ทำให้เกิดวลีโด่งดังที่ใช้เรียกขานในยุคนั้นว่า "โชติช่วงชัชวาล" พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยุบสภาผู้แทนราษฎร ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ชื่อ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มี นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็น รมว.อุตสาหกรรม
วันที่ 10 ม.ค. 2532 มติ ครม. อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรม ออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ และประทานบัตร สำหรับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และบริเวณใกล้เคียง เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ 4 แปลง จำนวน 1.51 ล้านไร่ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมผู้ชงเรื่อง ออกประกาศ กำหนดพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ 4 แปลง ได้แก่ แปลงที่ 1 พื้นที่ภูโล้น-นางิ้ว 400 ตร.กม แปลงที่ 2 พื้นที่ปากชม-หาดคำภีร์ 740 ตร.กม แปลงที่ 3 พื้นที่ถ้ำพระ-ภูหินเหล็กไฟ 740 ตร.กม แปลงที่ 4 พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง 545 ตร.กม ในวันที่ 19 ก.ค. 2532 จากนั้นนำพื้นที่แปลงใหญ่ 4 แปลง เปิดประมูลให้เอกชนสำรวจแร่และทำเหมืองแร่
การนำพื้นที่ออกประมูลในครั้งนั้นรัฐบาลได้ค่าตอบแทน 16.07 ล้านบาท จาก บริษัท ผาคำ เอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง จำกัด บริษัท ทุ่งคาฮาร์เบอร์ จำกัด และบริษัท ภูเทพ จำกัด เอกชนที่ชนะการประมูลพื้นที่ทั้ง 4 แปลง
นับเป็นการให้สิทธิผูกขาดแก่ผู้ประกอบการเหมืองแร่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ด้วยช่องทางพิเศษ โดยละเมิดกฎหมายที่ดินฉบับอื่น ๆ และละเมิดสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินของรัฐ เอกชน หรือที่ดินส่วนบุคคลอย่างชัดเจน เนื่องจากหากผู้ประกอบการรายอื่นจะขอสำรวจหรือทำเหมืองในที่ดินของผู้ประกอบการที่ได้สิทธิพิเศษจากการประมูลนี้ อันดับแรกจะต้องได้รับอนุญาตและผู้ประกอบการที่ได้สิทธิจะต้องทำเรื่องขอถอนที่ดินออกจากอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ก่อน
หลังรัฐประหารโค่นรัฐบาลชาติชาย โดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ภายใต้ความขัดแย้งทางอำนาจทางการเมืองของกลุ่มทหารและชนชั้นนำ และการทุจริตคอรัปชั่นในบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ช่วงเวลา 2 ปีนั้น ประเทศไทยเปลี่ยนนายกฯ จาก นายอานันท์ ปันยารชุน พลเอก สุจินดา คราประยูร จนในที่สุดการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้ง และ นายชวน หลีกภัย เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มี นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็น รมว.คลัง และนายสิปปนนท์ เกตุทัต เป็น รมว.อุตสาหกรรม
และระหว่างสถานการณ์ทางการเมืองวุ่นวายนั้น บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้น ในวันที่ 1 พ.ย. 2534 โดย บริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ถือหุ้น 95.9% จากนั้นอีก 4 วัน (5 พ.ย. 2534) มีการทำสัญญาว่าด้วย การสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง โดยไม่ระบุระยะเวลาสิ้นสุด ระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ และ บริษัททุ่งคำ โดยที่ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นกรรมการและเป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญา ของ บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ และอยู่ในช่วงที่นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี
ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีนายอาณัติ อาภาภิรม เป็น รัฐมนตรี และเคยมีบทบาทอย่างมากในตำแหน่งผู้ว่าการ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2530 ถึง ปี 2534
คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) มีมติที่ประชุม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 อนุมัติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินในที่ดินที่จำแนกออกจากป่าไม้ถาวรและพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรี ป่าหมายเลข 23 อำเภอเชียงคาน อำเภอเมืองเลย อำเภอภูกระดึง อำเภอภูเรือ อำเภอนาแห้ว อำเภอด่านซ้าย อำเภอวังสะพุง และกิ่งอำเภอภูหลวง รวม 18 แปลง เนื้อที่ประมาณ 238,970 ไร่ (พื้นที่ให้ความยินยอมอยู่ในป่าหมายเลข 23 แปลง 9) และ ให้กันพื้นที่เป็นพื้นที่จำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาทรัพยากรธรณี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
ส่วนกรมป่าไม้ ที่มีนายทิวา สรรพกิจ ดำรงตำแหน่งอธิบดี คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เห็นชอบให้กันเขตแหล่งแร่ในท้องที่จังหวัดเลยออกจากเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม
กระบวนการนี้นำไปสู่ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่บางแห่งในอำเภอเชียงคาน อำเภอเมืองเลย อำเภอนาแห้ว อำเภอภูเรือ อำเภอวังสะพุง อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูหลวง อำเภอภูกระดึง และอำเภอผาขาว จังหวัดเลย ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2536 ในสมัยพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ขึ้นว่าการเป็น รมว.อุตสาหกรรม และมีผลทำให้พื้นที่ส่วนหนึ่งที่ บริษัททุ่งคำ ได้รับอนุญาตให้ทำการสำรวจแร่ทองคำอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน
สถานการณ์ทางจังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ในเครือ Kingsgate Consolidated NL ของออสเตรเลีย จดทะเบียนก่อตั้ง เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2536 และได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจหาแหล่งแร่ทองคำ จากสายแร่ที่พาดผ่านจากตอนบนของอีสาน จากเลย มาสู่รอยต่อเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก บริเวณเขาหม้อ เขาเจ็ดลูก ประทานบัตร 14 แปลงแรก เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ เรียกว่า “เหมืองทองชาตรี” มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเช่นกัน
กล่าวได้ว่า การเปิดให้ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถนำไปให้นักลงทุนทำเหมืองแร่ได้ อุบัติในช่วงเวลานั้น
ต่อมา พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดย นายกร ทัพพะรังสี เป็น รวม.อุตสาหกรรม มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2540 อนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ให้กรมทรัพยากรธรณีแก้ไขสัญญาเกี่ยวกับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ระหว่างกรมทรัพยากรธรณี กับบริษัท อ่าวขามไทย จำกัด และบริษัท ชลสิน จำกัด ในข้อกำหนดเกี่ยวกับการชำระค่าภาคหลวงแร่ทองคำ ให้อัตราค่าภาคหลวงแร่ไม่มีกำหนดตายตัว แต่จะปรับเปลี่ยนไปตามกฎหมายโดยอัตโนมัติ
ในรัฐบาลชวน 2 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็น รมว.อุตสาหกรรม นายปองพล อดิเรกสาร เป็น รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ เลขาคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินฯ คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี มีความเคลื่อนไหวทางนโยบายและกฎหมายที่สำคัญ ๆ คือ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินฯ ออกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง การให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น พ.ศ. 2541
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ผู้ประกอบการเหมืองแร่สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อนำไปทำเหมืองแร่ได้ตามกฎหมาย โดยจะมีการเรียกเก็บเงินแก่ผู้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 อัตราร้อยละ 2 ของราคาที่ดินคูณด้วยจำนวนปีที่ใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่วนที่ 2 ให้คิดจำนวนเงินเท่ากับการเก็บค่าภาคหลวงแร่
จากนั้น มติ ครม. วันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมทรัพยากรธรณี ดำเนินโครงการเร่งรัดการสำรวจและประเมินศักยภาพทรัพยากรแร่ เป็นระยะเวลา 7 ปี (2543-2549) วงเงินรวม 1,512 ล้านบาท เพื่อสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพทางแร่สูง 60 พื้นที่ทั่วประเทศ เนื้อที่ประมาณ 22,750,000 ไร่ โดยจ้างเหมาเอกชนสำรวจแร่ ทั้งนี้ให้ผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีทุกฉบับที่เกี่ยวกับข้อหวงห้ามในการเข้าไปสำรวจ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม และพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 ซึ่งแหล่งแร่ทองคำเป็นเป้าหมายหลัก
11 พ.ย. 2542 ประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 กำหนดให้กรมทรัพยากรธรณี จัดสรรค่าภาคหลวงแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดสรรปีละ 4 งวด ทั้งนี้ ค่าภาคหลวงแร่ที่จัดเก็บในแต่ละปี ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 จะส่งเข้าคลัง 40% ส่วนอีก 60% จะจัดสรรให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 20% อบต. เจ้าของพื้นที่ที่มีการทำเหมือง 20% อบต. อื่นๆ ในจังหวัดที่มีการทำเหมือง 10% และ อบต. อื่นนอกจังหวัด 10%
ในปี 2543 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกระทรวงอุตสาหกรรม ออกตัวเต็มที่ในการชูนโยบายที่จะใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่ของประเทศ สร้างโอกาสและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและประกอบการกิจการเหมืองแร่ ชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศในการพัฒนาเหมืองแร่ขนาดใหญ่ เน้นที่ การทำเหมืองแร่ทองคำ โดยการเร่งรัดสำรวจแหล่งทรัพยากรแร่ทั่วประเทศ และจัดทำฐานข้อมูลวัตถุดิบด้านทรัพยากรแร่ ให้มีความพร้อมในเชิงพาณิชย์และเชิงนโยบาย ซึ่งในปีเดียวกันนั้น บริษัทอัคราไมนิ่ง เริ่มดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำที่แหล่งชาตรี
เมื่อเข้ายุครัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รมว.อุตสาหกรรม นายนภดล มัณฑะจิตร เป็น อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก เป็น อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
2 ต.ค. 2545 พระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับบทบาทความรับผิดชอบในภารกิจเดิม กระจายเป็น 4 หน่วยงาน คือ งานด้านเหมืองแร่และโลหกรรม สังกัดอยู่ในกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยแร่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง งานด้านสำรวจธรณีวิทยาและศักยภาพแหล่งแร่ สังกัดอยู่ใน กรมทรัพยากรธรณี งานด้านสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาล สังกัดอยู่ในกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ งานด้านเชื้อเพลิงธรรมชาติ สังกัดอยู่ในกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
กรมทรัพยากรธรณี ถูกปรับบทบาทเป็นแค่หน่วยงานเพื่อการศึกษาและสำรวจ ส่วนงานบริหารจัดการทั้งหมดและการจัดเก็บรายได้ย้ายไปขึ้นตรงกับ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ด้านความเคลื่อนไหวของกรมป่าไม้ ในช่วงนายฉัตรชัย รัตโนภาส เป็นอธิบดี วันที่ 17 ม.ค. 2548 มีการออกระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 คือ การอนุญาตให้ใช้ที่ป่าเพื่อการทำเหมืองแร่
นอกจากนั้น มติ ครม. วันที่ 8 มีนาคม 2548 ให้กรมทรัพยากรธรณีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดพื้นที่เขตศักยภาพแร่เพื่อการทำเหมือง ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น 1 และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (ยกเว้นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า) เพื่อให้สามารถอนุญาตประทานบัตรและต่ออายุประทานบัตรแทนการผ่อนผันการทำเหมืองในพื้นที่ดังกล่าวจากคณะรัฐมนตรีเป็นแต่ละรายคำขอ หรือรายผู้ประกอบการ มติ ครม. นี้อยู่ในช่วงที่นายสมศักดิ์ โพธิสัตย์ เป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานเกี่ยวกับการสำรวจทรัพยากรธรณีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CCOP)
หลังปี 2549 กระแสราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การขับเคลื่อนเชิงนโยบายเกิดขึ้นอีกครั้งโดยมี เหมืองทองคำ เป็นเป้าหมายใหญ่ที่ประเทศไทยต้องการให้นักลงทุนต่างชาติ
วันที่ 2 มิถุนายน 2549 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ปรับหลักเกณฑ์การเสนอผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐในการขออาชญาบัตรพิเศษสำหรับการสำรวจแร่ทองคำ ซึ่งมีผลผูกพันเมื่อได้รับอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษ โดยให้ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำเสนอผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐตอบแทนการอนุญาตประทานบัตรในพื้นที่สำรวจแร่ตามอาชญาบัตรพิเศษในอัตราก้าวหน้า รวมถึง การขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในเขตลุ่มน้ำ 1 เอ และ 1 บี ให้ผู้ขอประทานบัตรเสนอผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐในอัตราเป็น 2 เท่า
กันยายน 2549 บริษัททุ่งคำ ได้รับอนุญาตให้ประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ และเปิดการทำเหมืองแร่
และระหว่างที่เหมืองทอง 2 แห่งในประเทศเปิดทำเหมืองได้ด้วยการผลักดันนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ความผกผันทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้งของประเทศก็อุบัติขึ้นจากสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประท้วงและขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยมีชนวนเหตุหลัก คือ การทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงนโยบายการค้าเสรีกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ถูกเรียกในช่วงเวลานั้นว่า ระบอบทักษิณ ทุนนิยมสามานย์ โกงชาติโกงแผ่นดิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การประท้วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ สิ้นสุดลง ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังการก่อรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
ในปี 2550 มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งทั่วไป พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็น รมว.อุตสาหกรรม และ นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก เป็นอธิบดี กพร. แต่เพียง 2 เดือนของรัฐบาลชุดนี้ กพร. และ บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ บริษัททุ่งคำ ทำสัญญาจ่ายผลประโยชน์พิเศษเป็นเงินแก่รัฐบาล ร้อยละ 1.5 ของกำไรหลังจากชำระค่าภาคหลวงแร่แล้ว เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2550 และเพียงไม่กี่วัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ สามารถทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์ ในวันที่ 4 พ.ค. 2550
ต่อเนื่องมาในวันที่ 17 ต.ค. 2550 กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศใช้กฎกระทรวง เรื่อง การกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2550 ปรับปรุงพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่บางชนิด จากเดิมที่ใช้อัตราคงที่ร้อยละ 2.5 ของราคาที่อธิบดีประกาศ เป็นอัตราก้าวหน้า โดยอัตราสูงสุดที่ปรับขึ้น คือ ร้อยละ 20 ของราคาทองคำต่อกรัม สำหรับราคาส่วนที่เกิน 1,500 บาทขึ้นไป
23 ม.ค.2551 กรมป่าไม้อนุญาตให้ บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เข้าทำประโยชน์ในฟื้นที่ป่า ในช่วงที่นายสมชัย เพียรสถาพร เป็น อธิบดี
เข้าสู่สมัยที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551 ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายสิทธิพิเศษการลงทุนในกิจการเหมืองแร่แก่นักลงทุนอาเซียน จากที่ไทยเคยให้นักลงทุนอาเซียนที่จะเข้ามาลงทุนในไทยถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 เป็น ร้อยละ 60 เท่ากับที่ให้แก่นักลงทุนออสเตรเลีย
ประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งคาดว่าจะเป็นสถานการณ์สั่นคลอนทางการเมืองที่นักการเมืองต้องรับแรงกดดันทางสังคมอย่างหนัก นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดี กพร. นายมณฑป วัลยะเพ็ชร์ ผอ.สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอลาออกจากการเป็นกรรมการ บริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ และ บริษัทชลสิน เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2551หลังจากมีตำแหน่งในฐานะกรรมการบริษัทฯ ทั้งสองมา 28 ปี และ 18 ปี ตามลำดับ โดยให้กระทรวงการคลังส่งผู้แทนมาเป็นกรรมการบริษัทฯ ทดแทน
ทั้งนี้ ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากคำวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งของศาลรัฐธรรมนูญ และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันที่ 9 กันยายน 2551 โดยนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ในวันเดียวกันนั้น รัฐบาลมี มติ ครม. วันที่ 9 กันยายน 2551 เห็นชอบการกำหนดพื้นที่เขตศักยภาพแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ (Mining Zone) ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1A และพื้นที่ป่าอนุรักษ์
และในปีเดียวกัน เมื่อปรับ ครม. นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็น รมว.อุตสาหกรรม บริษัทอัครไมนิ่งฯ ได้รับอนุญาตในการขอขยายพื้นที่และโรงงานทำเหมืองแร่และผลิตโลหกรรมเพิ่มเติมโดยใช้ชื่อว่า “โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ”
ต่อมาในปี 2553 – 2556 ในช่วงเวลาที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เป็น รมว. กระทรวงอุตสาหกรรม นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เป็น อธิบดี กพร.
13 ธ.ค. 2553 กพร. ประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอประทานบัตร การออกประทานบัตร การต่ออายุประทานบัตร และการโอนประทานบัตร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2553 เพื่อให้สามารถจัดเก็บเงินค่าตอบแทนการใช้ที่ดินเพื่อทำเหมืองแร่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ข้อ 2.3 ในกรณีผู้ถือประทานบัตรขอขนแร่ออกจากเหมืองแร่ ให้เรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินในอัตราเท่ากับการเก็บค่าภาคหลวงแร่ที่ผู้ถือประทานบัตรชำระให้แก่เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ โดยให้เรียกเก็บพร้อมกับค่าภาคหลวงแร่และนำส่งคลังจังหวัด
ประกาศนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ เนื้อหาโดยสรุปที่ระบุไว้ในประกาศ คือ ในพื้นที่แหล่งแร่ทองคำที่ภาครัฐเป็นผู้สำรวจพบแหล่งแร่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะดำเนินการเพื่อประกาศกำหนดเขตเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ โดยจะคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาทำการพัฒนาแหล่งแร่
การขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำให้กระทำโดยการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเท่านั้น และผู้ขอต้องสนองตอบต่อนโยบายการเพิ่มมูลค่าในการทำเป็นโลหะทองคำบริสุทธิ์ โดยเสนอโครงการผลิตทองคำให้เป็นโลหะบริสุทธิ์ เพื่อรองรับผลผลิตจากโครงการของผู้ขอ หรือสามารถดำเนินการร่วมกับผู้ขอรายอื่น เพื่อให้สอดคล้องตามความเป็นไปได้ของโครงการผลิตทองคำบริสุทธิ์
ในกรณีที่พื้นที่การขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 พื้นที่ที่ยื่นขอสิทธิสำรวจจะต้องมีศักยภาพเพียงพอ และพื้นที่ที่ยื่นขอทำเหมืองแร่ จะต้องมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยจะต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 โดยการนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีเป็นราย ๆ ไป
รวมถึง กพร. ยังได้บรรจุเรื่อง การแก้ไข พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ไว้ในยุทธศาสตร์ของหน่วยงานอีกครั้ง หัวใจสำคัญของกฎหมายที่ยังคงเดิม คือ “แร่ยังเป็นของรัฐ” โดยรัฐมีสิทธิขาดในการจะนำไปให้นักลงทุนสำรวจหรือให้สัมปทานทำเหมืองได้อย่างเต็มที่
สาระสำคัญของกฎหมายที่พยายามจะแก้ไข คือ การกำหนดพื้นที่เขตศักยภาพแร่ และการกันเขตศักยภาพแร่ทุกชนิดเพื่อการทำเหมืองแร่ออกจากพื้นที่ป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายเฉพาะหรือตามมติคณะรัฐมนตรี แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม และพื้นที่ที่มีกฎหมายเฉพาะหวงห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ มาประกาศเป็นเขตแหล่งแร่ เพื่อสามารถนำพื้นที่ที่สงวนไว้สำหรับอนุรักษ์ไปให้เอกชนประมูลเพื่อการสำรวจและทำเหมืองแร่ได้มากขึ้น รวมถึงเงื่อนไขของพื้นที่ที่เป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ หรือ 1 บี ซึ่งห้ามไม่ให้การทำเหมืองแร่ แต่เดิมต้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามรายละเอียดของพื้นที่เป็นรายๆ ไป ก็ได้ให้อำนาจกับอธิบดี เพื่อลดขั้นตอนในการขออนุญาตสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่โดยไม่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี
นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้รัฐและเอกชนทำสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกัน โดยรัฐมนตรีสามารถออกประกาศกระทรวงเพื่อกำหนดให้แร่บางชนิด บางประเภท และการทำเหมืองบางขนาดไม่ต้องขอสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ได้ ทำให้เอกชนที่ชนะการประมูลไม่ต้องทำอีไอเอและเอชไอเอ แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ ในแผนยุทธศาสตร์กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 – 2557 ระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 ที่กำหนดให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการของรัฐมากขึ้น รวมถึง กฎหมายในการจัดการสิ่งแวดล้อม กฎระเบียบและนโยบายของหน่วยงานภายนอก เช่น กรมทรัพยากรธรณี การออกเอกสารสิทธิในพื้นที่เขต สปก. กรมป่าไม้ การประกาศพื้นที่โบราณสถานของกรมศิลปากร มติ ครม. การจัดแบ่งเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำเพิ่มเติม/ ประกาศพื้นที่เขตอนุรักษ์ การกำหนดอายุพื้นที่ป่าไม้ มาตรา 6 ทวิ ของกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดคืออุปสรรคต่อภารกิจด้านการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมแร่ของ กพร.
เมื่อเข้าสู่สมัยของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรมถูกปรับ 3 ครั้ง ตามลำดับเวลา ได้แก่ รมว.อุตสาหกรรม นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล หม่อมราชวงศ์พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ และนายประเสริฐ บุญชัยสุข
ในเดือนสิงหาคม 2556 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด จำกัด ประกาศแผนการที่จะจดทะเบียนสินทรัพย์ในประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ หากได้รับใบอนุญาตสำรวจเหมืองแร่ทองคำแปลงใหม่ โดยจะเดินหน้าเสนอขายหุ้น บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการอื่นๆ เช่น เหมืองเงินบาวเดนส์ ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ซึ่งจะเริ่มโครงการในปี 2559
สำหรับภาพรวมของการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ทองคำ อธิบดี กพร.เปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่า ในปี 2556 รัฐบาลได้ค่าภาคหลวงแร่ทองคำเพียง 468 ล้านบาท
ส่วนรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไทยปี 2555 และแนวโน้มปี 2556 เอกสารของ กพร. ได้ให้ข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะการขุดทรัพยากรอันมีค่าของประเทศและใช้แล้วหมดไป รวมถึงการทำลายทิ้งขว้างทรัพยากร ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของผู้คนในชุมชนในประเทศ จากการสกัด ทองคำ 1 บาท หนัก 15.24 กรัม จากหินที่มีสินแร่ชั้นดีปนประมาณ 20 ตัน สร้างรายได้เข้ารัฐจากค่าภาคหลวงแร่ 5 ปี เท่ากับ 2,121 ล้านบาท
2551 | 2552 | 2553 | 2554 | 2555 | จำนวนรวม | |
ปริมาณผลผลิตแร่ทองคำ (กรัม) | 2,721,146 | 4,866,133 | 4,045,567 | 2,860,229 | 4,895,021 | 19,388,096 |
มูลค่าการส่งออกทองคำ (ล้านบาท) | 2,528 | 5,235 | 5,023 | 4,425 | 8,120 | 25,331 |
ค่าภาคหลวงแร่ทองคำ (ล้านบาท) | 120 | 363 | 388 | 420 | 829 | 2,121 |
คำถามคือ การพัฒนาเศรษฐกิจโดยให้นายทุนสร้างกำไรโดยการขุดทองขายให้ต่างชาติ และความคุ้มค่าต่อการให้สัมปทานเหมืองแร่ในประเทศมีราคาเพียงเท่านี้ หรือ มีราคาอีกเท่าไหร่ที่ไม่มีการเปิดเผย?
มาในรัฐบาลปัจจุบัน ภายหลังรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.อุตสาหกรรม และยังเป็นผู้ถือหุ้นในกลุ่ม บริษัท ฟ้าร้อง จำกัด บริษัทอัคราไมนิ่ง และบริษัท อัครา รีซอสเซส ที่ได้สัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำ และดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่ได้มีการอนุมัติปล่อยเงินกู้จำนวนกว่า 4 พันล้านบาทให้กับบริษัทดังกล่าว โดยลาออกจากตำแหน่งเหล่านี้เพียง 3 วันก่อนรับตำแหน่ง ส่วนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คือ นายปณิธาน จินดาภู
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม ได้ประกาศว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมใช้นโยบายเหมืองทองคำฉบับใหม่ปี 2558 โดยจัดทำนโยบายการให้สัมปทานแร่ทองคำใหม่ กับผู้ประกอบการเหมืองทอง 300 แปลง มูลค่าลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท คาดมีศักยภาพผลิตทองคำได้ 170 ตัน หลังจากไม่ได้ให้อาชญาบัตรและประทานบัตรแร่ทองคำมาเป็นเวลา 8 ปี และเพิ่มข้อกำหนดผู้ประกอบการที่จะได้รับสัมปทานต้องตั้งโรงงานสกัดทองคำบริสุทธิ์ในไทย
ล่าสุด มติ ครม. ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2557 โดยร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ประเด็นสำคัญของเนื้อหาในกฎหมาย คือ จะมีการลดขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาอนุมัติ-อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ และ ให้อำนาจเต็มกับข้าราชการประจำเป็นผู้ออกประทานบัตร โดยประทานบัตรการทำเหมืองขนาดเล็กในเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ขนาดกลางในเนื้อที่ไม่เกิน 625 ไร่ โดยอธิบดี กพร. และ การทำเหมืองในทะเลและเหมืองใต้ดินที่มีขนาดใหญ่กว่าสองประเภทแรก โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถกำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามโดยการเปิดให้เอกชนประมูลพื้นที่แหล่งแร่นั้น
หากประมวลและเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 58 ปีที่ผ่านมา หลังจากประเทศไทยมี พรบ.แร่ ในปี 2510 ผ่านร้อนผ่านหนาวกับระบอบประชาธิปไตย และความขัดแย้งของขั้วอำนาจทางการเมือง จนถึงรัฐบาลทหารในปี 2558
เหมืองทอง นโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวกับแร่ สะท้อนข้อเท็จจริงว่า ธุรกิจเหมืองแร่ที่ทุกฝ่ายสมคบคิดโอบอุ้มคุ้มครองกันมาโดยตลอด มีการเติบโตขึ้นภายใต้โครงสร้างที่เอื้อสิทธิและสมประโยชน์ร่วมกันระหว่างนักลงทุนกับชนชั้นนำ โดยได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากส่วนราชการและจากรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย
ส่วนผลประโยชน์ที่แท้จริงของชาติ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ก็เป็นแค่เสียงเรียกร้องในมุมเล็กๆ ของประชาชนในชาติกันต่อไป.