เหตุโคลนเทียมผุด อภัยภูเบศรสรุปสมุนไพรเสียหายกว่า 80 ชนิด
"เรารู้จักเบนโทไนท์เป็นอย่างดี จากข้อมูลที่ให้มา เราสามารถดูแลแปลงสมุนไพรของเราได้ โดยที่ปตท.ไม่จำเป็นต้องเข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากสมุนไพรเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องได้รับการดูแลด้วยความระมัดระวัง ประกอบกับเมื่อได้เห็นกระบวนการทำความสะอาดของปตท.จากพื้นที่ ข้างเคียงแล้ว เรายิ่งมั่นใจว่า เราควรจะได้ทำการกำจัดผลกระทบจากเบนโทไนท์ด้วยตนเองจะเป็น การเหมาะสมกว่า”
ภาพการกำจัดโคลนเทียมในพื้นที่ข้างเคียง
หลังเหตุการณ์โคลนเทียม (เบนโทไนท์) ผุดขึ้นกลางสวนสมุนไพรอภัยภูเบศร ที่ตำบลเนินหอม ปากทางขึ้นเขาใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี ตามที่สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ และพื้นที่ข้างเคียง (อ่านประกอบ:สมุนไพรอภัยภูเบศรเสียหายยับ เหตุโคลนทะลักปตท.ขุดเจาะวางท่อก๊าซ) และ (ข้อมูลฝั่ง ปตท.แจงเหตุโคลนทะลัก ทำพืชสุมนไพรอภัยภูเบศรเสียหาย)
ผ่านไป 6 วัน ณ วันที่ 30 มกราคม จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า คนงานมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ยังคงเร่งกอบกู้ฟื้นฟูสมุนไพรหายากอย่างไม่ย่อท้อ ขณะที่ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ให้ข้อมูลที่ยังพอให้ได้ใจชื้นขึ้นมาบ้างว่า มีสมุนไพรหายากหลายตัวพอจะฟื้นชีพขึ้นมาได้บ้าง ในขณะที่การทำงานการวางท่อของปตท. ยังคงเดินหน้าต่อไป
มันหัวเหี่ยวกอนี้เพิ่งโผล่พ้นโคลนเทียม หลังโดนกลบอยู่ 3-4 วัน
"มีจำนวนสมุนไพรที่ได้รับความเสียหายจากโคลนเทียม (เบนโทไนท์)เป็นจำนวนถึง 88 ชนิด หลายชนิดเป็นพืชที่หายากและยังไม่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ แม้เวลาจะผ่านมาหลายวันแล้ว แต่เรายังคงให้คนงานฉีดน้ำล้างสมุนไพรหลายชนิดที่พอจะช่วยชีวิตขึ้นมาได้ หลายชนิดต้องฉีดไล่โคลนออกจากราก และต้องขุดลอกโคลนออกจากโคนต้น
เท่าที่สำรวจดูสมุนไพรบางชนิดสูญหายไปกับทะเลโคลน แต่ยังมีเรื่องที่น่ายินดีว่า ต้นสมุนไพรที่ชื่อยาแก้หมูป่อย หรือ “หัวเข่าคลอน” ทำท่าจะฟื้น ส่วน “มันหัวเหี่ยว” ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม โดนโคลนทับไปยังฟื้นขึ้นมาได้ ถือว่า ช่วยชีวิตได้พอสมควร” เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าว
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ยืนยันว่า ความตั้งใจของเราเห็นว่า สวนสมุนไพรเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว และเป็นพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในการรักษาพันธุกรรมของพืชสมุนไพร เป็นศูนย์เรียนรู้ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบไทย การส่งต่อการรักษาแบบโบราณ ไม่สมควรที่ท่อก๊าซจะผ่านที่ทำให้โครงการไม่สามารถดำเนินการได้
"เมืองไทยมีเหตุการณ์นี้ได้อย่างไรในการกำหนดค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม โดยที่ให้เอกชนฝ่ายหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเอาเปรียบชาวบ้าน ทั้งนี้การรอนสิทธิดังกล่าวทำให้ผู้ถูกรอนสิทธิเสียการใช้ประโยชน์เป็นเวลายาวนาน อาจถึงร้อยปี แต่จ่ายค่าชดเชยเพียงครั้งเดียว ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับเอกชนที่ทำท่อก๊าซรายอื่นกลับสามารถซื้อขาดจากชาวบ้านได้เลยโดยไม่มีการบีบบังคับ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ คนงานของบริษัท สตรีกา (STREGA) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงในการขุดวางท่อก๊าซจากปตท. ยังคงดำเนินการขุดเจาะต่อไป มิได้ระงับการทำงานทั้งๆ ที่เกิดเหตุการณ์โคลนเทียมผุดขึ้นมาจนต้องใช้เวลาในการกำจัดอยู่หลายวัน และระหว่างการกำจัดฉีดล้างโคลนเทียมจากพื้นที่ข้างเคียง ก็มีน้ำโคลนไหลเข้ามายังสวนสมุนไพรอภัยภูเบศรด้วย
อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากเหตุการณ์โคลนเทียมผุดขึ้นมาระหว่างขุดวางท่อก๊าซดังกล่าว ปตท.ได้ส่งจดหมายที่ 80000494/คทก.4/22 ลงวันที่ 26 มกราคม ถึงผู้อำนวยการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ขอความอนุเคราะห์ให้เข้าพื้นที่เพื่อกำจัดโคลน พร้อมให้รายละเอียดของเบนโทไนท์และวิธีการจำกัด โดย นพ.เปรม ชินวันทนานนท์ ประธานฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย ได้ตอบจดหมายดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า
“ขอขอบคุณที่แจ้งข้อมูลรายละเอียดเบนโทไนท์ให้ทราบ จากประสบการณ์ในการผลิตยาของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ขอเรียนว่า เรารู้จักเบนโทไนท์เป็นอย่างดี เพราะเป็นสารเพิ่มความหนืดในการทำยาชนิดหนึ่ง และจากข้อมูลที่ให้มาเราสามารถดูแลแปลงสมุนไพรของเราได้ โดยที่ปตท.ไม่จำเป็นต้องเข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากสมุนไพรเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องได้รับการดูแลด้วยความระมัดระวัง ประกอบกับเมื่อได้เห็นกระบวนการทำความสะอาดและจำกัดบริเวณของปตท.จากพื้นที่ข้างเคียงแล้ว เรายิ่งมั่นใจว่าเราควรจะได้ทำการกำจัดผลกระทบจากเบนโทไนท์ด้วยตนเองจะเป็นการเหมาะสมกว่า”