‘คณิต ณ นคร’ จี้แยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรมในระบบศาลคู่
คปก.เสนอกรอบร่าง รธน. ให้แยก ‘ศาลแรงงาน’ ออกจากศาลยุติธรรม เป็นระบบศาลคู่ ‘ศ.ดร.คณิต ณ นคร’ ชี้ช่วยลดระยะเวลาพิจารณาคดี ยกระดับความรู้ผู้พิพากษา ซัดที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมไทยย่ำแย่ ทำงานล่าช้า
วันที่ 30 มกราคม 2558 คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ เรื่อง กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในระบบศาลคู่ ณ ห้องประชุม คปก. อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น 16
ทั้งนี้ คปก.ได้จัดทำข้อเสนอกรอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยในหมวดศาลและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับศาลแรงงาน เสนอให้มีการแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม และได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วนั้น
ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธาน คปก. กล่าวถึงที่มาว่า ศาลยุติธรรมเป็นศาลทั่วไป ทุกคดีต้องขึ้นสู่ศาลดังกล่าวทั้งหมด เวลาต่อมาเกิดศาลภาษีอากร ซึ่งหลายคนยังเข้าใจว่าเป็นศาลแพ่ง ทั้งที่ความจริงคือศาลปกครองประเภทพิเศษ เพียงแต่ศาลภาษีอากรไม่ยอมแยกออกมา นั่นแสดงว่า ไทยมีระบบศาลคู่อยู่แล้ว
แนวคิดการให้ศาลแรงงานออกมาจากศาลยุติธรรมจึงกลายเป็นข้อเสนอ ประธาน คปก. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมายังไม่เกิดผล เพราะยังหวงอำนาจกัน ทำให้ศาลแรงงานปัจจุบันไม่มีการพัฒนา เพราะคนที่เข้าไปอยู่ คือ ผู้พิพากษาศาลแพ่ง ซึ่งเป็นเรื่องคำพิพาทระหว่างนาย ก. กับนาย ข. ส่วนศาลแรงงานเป็นเรื่องคำพิพากษาที่มีบริบทกว้างขวาง
“คปก. จึงเห็นว่า ต้องแยกศาลแรงงานออกมาเป็นศาลคู่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาในทิศทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะเกี่ยวกับผู้พิพากษาจะได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน เพราะปัจจุบันยังมีน้อยอยู่ จึงต้องโทษมหาวิทยาลัยที่ไม่ให้ความรู้โดยตรง” ศ.ดร.คณิต กล่าว และว่านอกจากนี้การตัดสินคดีความจะรวดเร็วมากขึ้น แต่สาเหตุที่ล่าช้าขณะนี้เกิดจากไม่ทำงานมากกว่า แม้กระทั่งคดีการชุมนุมทางการเมืองที่มีหลักฐานมากมาย ยังไม่มีการตรวจสอบและดำเนินการ
ประธาน คปก. กล่าวด้วยว่า ในที่สุดจะสามารถแยกศาลแรงงานออกมาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับทางการเมือง หากเห็นว่าเหมาะสมก็ต้องทำ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน จะได้มีการพัฒนาให้ถูกทาง แต่คงไม่คาดหวังอะไรกับไทย เพราะเป็นประเทศที่คาดหวังยาก ขนาดคนฆ่ากันเสียชีวิตมากมายยังไม่ดำเนินคดีเลย แสดงให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไทยย่ำแย่มาก นอกจากไม่มีประสิทธิภาพแล้ว บางครั้งยังคุกคามสิทธิด้วย
ด้านน.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การปฏิรูปศาลแรงงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ผ่านมามีกระบวนการพิจารณาประเด็นปัญหาของแรงงานใช้เวลายาวนาน จึงเห็นด้วยกับ คปก.ที่จะแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการมากขึ้น ศาลจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับแรงงาน สร้างกระบวนการพิจารณาที่รอบคอบ ใช้ระยะเวลาสั้น
“หากศาลใช้เวลาในการพิจารณาคดีนานเกินไป จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของแรงงาน เพราะต้องนำเวลามาขึ้นศาล ประกอบกับสายป่านสั้น สุดท้าย เลือกที่จะประนีประนอมยอมความ เพราะไม่อยากสู้คดีแล้ว”
สำหรับคดีเกี่ยวกับแรงงานมีจำนวนมากหรือไม่ ประธาน คสรท. ระบุว่า ไม่มั่นใจในตัวเลข แต่เกิดแทบทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก อย่างไรก็ตาม หากเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแรงงาน
ขณะที่น.ส.ฉันทนา เจริญศักดิ์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา เปิดเผยถึงสภาพปัญหาศาลแรงงานว่า มุ่งเน้นความเชี่ยวชาญและรวดเร็ว แต่ที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ดังนั้นจะต้องกลับมาดูทั้งระบบ เพราะจะเจาะจงเฉพาะบริบทของศาลฝ่ายเดียวไม่ได้ โดยที่ผ่านมามีการถกเถียงกันว่า ศาลแรงงานใช้ระบบไต่สวนหรือไม่ ซึ่งความจริงใช้ระบบค่อนไปในทางไต่สวน นั่นคือ ระบบผสม แต่การพิจารณาคดีของผู้พิพากษาจะเข้าไปสืบค้นหาความจริง ซึ่งไม่เหมือนศาลอื่น
“การแก้ไขในศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษ มีความพยายามที่จะตอบโจทย์ให้ศาลแรงงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และสร้างความเชี่ยวชาญแก่ผู้พิพากษา ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สำนักงานศาลยุติธรรมให้ความสำคัญ”
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นฯ ยังกล่าวว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน ไม่อาจปฏิรูปได้เฉพาะระบบศาลเท่านั้น และไม่อาจปฏิรูปได้เฉพาะกฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องดูทั้งระบบตั้งแต่การศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยมีวิชาเรียน 3 หน่วยกิต บางแห่งมีเพียง 2 หน่วยกิต นอกนั้นให้ไปศึกษากันเอง จึงมองว่าไม่เพียงพอ และนอกจากศาลในการระงับข้อพิพาทคดีแรงงานเเล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นอีกหรือไม่ ยกตัวอย่าง กระทรวงแรงงาน ดังนั้นการปฏิรูปต้องบูรณาการทุกภาคส่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติหลักการให้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษขึ้น และให้มีอำนาจพิจารณาคดีที่มาจากศาลแรงงาน .