ฐานปชช.อ่อนแอรอการหยิบยื่น 'สุรินทร์' ชี้ไม่ต่างกับนั่งรถเข็นขึ้นแข่งบนเวทีโลก
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ชี้ประเทศไทยแข่งได้ในเวทีโลก ต้องปลดล็อกระบบคัดสรรคนที่ใช้เส้นสาย นั่งบริหารงาน ทั้งภาคการเมือง ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ยันเลือกคนต้องอยู่บนพื้นฐานความรู้ ความสามารถ คุณธรรม
วันที่ 30 มกราคม ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “มุมมองประชาธิปไตยในอาเซียน” ในโอกาสวันครบรอบ 7 ปี สภาพัฒนาการเมืองเเละสมัชชาพัฒนาการเมือง 2558 ภายใต้แนวคิด “สภาพัฒนาการเมือง สร้างพลเมือง สู่สภาพลเมือง” ณ โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ
ดร.สุรินทร์ กล่าวตอนหนึ่ง โดยยกข้อมูลของธนาคารโลกที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีการจ่ายใต้โต๊ะถึง 40% หรือเกือบ 5 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังไม่มีใครคิดแก้ ขณะที่เราต้องการแข่งขันกับคนอื่น การแข่งขันบนเวทีโลก และกำลังเปิดเสรีประชาคมอาเซียนปลายปีนี้
“ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสรรหาบุคลากรทั้งภาคการเมือง ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ต้องเป็นไปบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ คุณธรรม ไม่ใช่เส้นสาย หรือเสียงตามสายมาขอ มาสั่ง รวมถึงการเมืองก็ต้องโปร่งใส หาคนเข้ามาให้ได้ ภาคราชการต้องโปร่งใสเต็มรูปแบบให้ได้ ภาครัฐวิสาหกิจก็อย่าไปเกี่ยวข้องกับเขามากนักได้ไหม เพื่อให้มีเกราะกำบังตนเอง โดยไม่มีคนจากข้างนอกกระโดดเข้ามาเกี่ยวข้อง” อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าว และว่า ทุกองค์กรที่มีปัญหาขณะนี้ ที่ทำท่าจะล้มไม่ล้ม เกิดจากความโปร่งใสในเรื่องการคัดสรรตัวบุคคลเข้ามาดูแลทั้งนั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว แต่ละองค์กรต้องมีวิธีการฟูมฟักคนที่จะขึ้นมาร่วมรับผิดชอบในองค์กรระดับสูงสุด เมื่อถึงเวลาหาคนมาบริหาร จึงไม่จำเป็นต้องหาคนมาจากข้างนอก เพราะคนข้างในมีความรู้ความสามารถ มีความเหมาะสมพอพร้อมอยู่แล้ว ทำได้แบบที่กล่าวมา เชื่อว่าจะทำให้ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจไม่ขาดทุน เงินไม่รั่วไหล และไม่จำเป็นต้องตั้งบริษัทลูกหลายต่อหลายแห่ง นี่คือโจทย์ดูเหมือนง่ายมาก แต่ทำยาก
ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงการคัดสรรคนเข้ามาบริหารองค์กร ต้องมีคุณภาพ มีความห่วงใยต่อปัญหาสังคม ประเทศชาติ มากกว่าเรื่องส่วนตัว ครอบครัว หรือพรรคพวก ซึ่งหากเรายังเดินอยู่บนถนนสายผลประโยชน์แบบนี้ ก็แก้ปัญหาประเทศนี้ไม่ได้
อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า หน้าที่ของเราทุกคน คือการรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ได้ เพราะจากนี้เป็นต้นไปเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปลายปี 2558 รวมทั้ง การแข่งขันในเวทีโลกจะรุนแรงยิ่งขึ้น แต่หากระบบการศึกษา ระบบราชการของไทย ระบบการบริหารจัดการยังเป็นเช่นนี้ และยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาภายในประเทศให้มีความโปร่งใส สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพได้ หน้าประวัติศาสตร์ก็จะเป็นผู้พิพากษาคนยุคนี้เองว่า ทำไมเราแข่งกับเขาไม่ได้ ทำไมเราไม่สามารถแย่งชิงโอกาสในเวทีโลกได้ ประชากร 67 ล้านคนในประเทศนี้ต้องตื่นและตอบคำถามนี้
“ประเทศไทยมีของดีเยอะแยะ แต่ติดปัญหาคือเรื่องการจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการคัดบุคลากรระดับครีมจริง ๆ โดยไม่อาศัยเส้นสาย รวมถึงเรื่องความรับผิดชอบ ความโปร่งใส ”
สำหรับเรื่องการเป็นประชาธิปไตย ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า เราไม่สามารถลืมฐานประชาชนได้ หากฐานประชาชนยังอ่อนแอ ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ รอคอยความช่วยเหลือ รอการหยิบยื่นให้ คอยอุปถัมภ์ในทุกเรื่อง ไม่ต่างกับคนนั่งรถเข็นเดินสู่อนาคต และก็เหมือนกับมีคนช่วยเข็นเดินไปสู่เวทีของการแข่งขัน
“นี่ไม่ใช่กีฬาที่เขาจัด แต่นี่คือการแข่งขันแย่งชิงโอกาสบนความรู้ความสามารถ และความพร้อม แต่เรากลับกำลังมีปัญหาที่เกิดจากนโยบายที่ผิดพลาด การอ่านสภาวะการณ์ที่ผิดลาด และมีค่านิยมที่ผิดพลาด ไม่มีแรงงานที่มีคุณภาพป้อนให้ภาคเอกชน ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับงบประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี แต่กลับไม่ได้ผลิตคนไปสร้างชาติเลย”
ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงการที่ประเทศไทยไม่มี แรงงานฝีมือ (Skilled Labor) ป้อนให้กับภาคเอกชน เกิดจากค่านิยมของสังคมไทย ที่อยากได้แต่ปริญญาตรี รวมถึงวิทยาลัยอาชีวะทั้งหลายก็ปรับตัวให้ปริญญาตรี ขณะที่ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ช่างปูน ช่างอิเลคทรอนิกส์ กลายเป็นบุคลากรอันดับ 2 ออกมาไม่มีงานทำไม่เป็นไร ขอให้ได้ปริญญาตรี
“หากอยากให้ประเทศไทยมีความสามารถทางการแข่งขัน ต้องมีบุคคลากรระดับล่าง ไม่ใช่เรียนมาเพื่อให้ได้ปริญญาตรีไว้โก้หรู ซึ่งใครจะคิดนโยบายแบบนี้ คนที่เข้ามาตระหนักถึงประเด็นปัญหาเหล่านี้ สามารถออกไปพูดกับผู้ปกครองทั่วประเทศได้ว่า ปริญญาตรีไม่มีความหมาย การเรียนรู้สามารถทำได้ตลอดชีวิต” อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าว และว่า นี่คือ สงครามที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ ค่านิยมต่างๆ เหล่านี้จะแก้ไขอย่างไร ทำอย่างไรให้สังคมระดับสูงเปลี่ยนทัศนคติ เคารพ ให้เกียรติยอมรับ ช่างเชื่อม คนขับแท็กซี่ คนให้บริการ ไม่มองคนเหล่านั้นต่ำกว่าเรา เพราะภูมิหลังทางสังคม การศึกษา โดยไม่คำนึงถึงบทบาทที่แสดงอยู่ในวงจรเศรษฐกิจที่ทุกแหน่งมีบทบาทสำคัญในวงจรเศรษฐกิจ
สุดท้ายการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า เราเริ่มจะเบี้ยว เพราะรู้สึกไม่พร้อม ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นต้นความคิด ถือว่า เป็นทรัพยสินทางปัญญาของประเทศไทย เป็นเจ้าของไอเดียนี้ แต่ถึงเวลาเราจะไม่ทำ คิดเบี้ยวเสียเอง ในอนาคตจะเอาอะไรไปต่อรองกับประเทศต่างๆ