นักวิชาการ-ภาคปชช.ซัดร่างกม.ดิจิทัล ถอยหลังเข้าคลอง ให้อำนาจรัฐดักฟัง
นักวิชาการ-สปช.สื่อฯ อัด ร่าง กม.เศรษฐกิจดิจิทัล พาประเทศถอยหลังเข้าคลอง-เครือข่ายพลเมืองเน็ต หวั่น ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐดักฟัง-หมอลี่วอน ปชช.ศึกษาร่างกม.ทั้ง 10 ฉบับให้ละเอียด-สุภิญญา เตรียมทำความเห็นกสทช.เสนอรัฐบาล
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 58 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช. ) จัดเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการปฏิรูปสื่อและสิทธิเสรีภาพด้านการสื่อสารภายใต้ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล” ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ผศ. ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อสารมวลชน ) ร่วมเสวนา ดำเนินรายการเสวนาโดย นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล
ผศ. ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว กล่าวว่า ความรู้สึกโดยรวมที่มีต่อร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีลักษณะรีบร้อน เร่งรัดและรุงรัง เมื่อมองทิศทางแล้ว มีคำถามว่าจะย้อนกลับไปหรือ แล้วประเทศจะไปทางไหน มีใครบอกได้บ้างว่าขณะนีประเทศอยู่ในการจัดระเบียบข้อมูลข่าวสารแบบใหม่หรือไม่ เนื่องจาก ในร่างกฎหมายหรือร่าง พ.ร.บ. เศรษฐกิจดิจิทัล มีอยู่ข้อความหนึ่งเขียนว่า ”เพื่อให้เกิดการรวมศูนย์” ซึ่งคำนี้เป็นคำสำคัญ เพราะการรวมศูนย์นั้นอันตราย เพราะโลกยุคใหม่ ต้องกระจายอำนาจ และคำว่าดิจิทัลนั้น หมายความถึงเครือข่าย คือการกระจายออกไป ไม่ใช่การรวมศูนย์มาสู่จุดตรงกลาง
"แม้รัฐบาลจะบอกว่าขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีการส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งไป สนช. แต่ผมเห็นว่าขณะนี้สังคมได้สะท้อนกลับมาแล้วถึงความเห็นที่มีต่อร่างกฎหมายดังกล่าวว่าจะนำประเทศไทยไปสู่อะไร ทั้งที่การเปลี่ยนผ่านในช่วงนี้รัฐไทย ควรจะเปลี่ยนจากรัฐทหารเข้าไปสู่ความเป็นรัฐพลเรือนให้มากขึ้น” นักวิชาการรายนี้ระบุ
ด้านนายอาทิตย์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ในจำนวนร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับ ในจำนวนนี้ มีร่างกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานดักฟังและเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ได้แก่ 1) ร่าง (แก้ไข) พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 10 (แก้ไขมาตรา 18) ไม่ต้องมีคำสั่งศาลในบางกรณี 2) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาตรา 35 ที่ไม่ต้องมีคำสั่งศาล 3) ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย มาตรา 16 ที่แม้ต้องมีคำสั่งศาล และคำร้องไม่เจาะจง แต่ไม่ระบุเวลา และ 4) ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในส่วนที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องสงสัย มาตรา 131/2 ที่ต้องมีคำสั่งศาล คำร้องเจาะจง และให้เข้าถึงข้อมูลได้คราวละ 15 วัน ไม่เกิน 4 คราว และต่ออายุในการเข้าถึงข้อมูลได้
"ปัจจุบันนี้ สิทธิเสรีภาพในเชิงพื้นที่มีการจำกัดพื้นที่ให้พูดน้อยลงแล้ว และหากยังมีเจ้าหน้าที่รัฐ ไปดักฟังว่าพูดอะไรบ้าง อาจจะสร้างความหวาดกลัว ในบางกรณี เช่น ร่าง แก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 10 (แก้ไขมาตรา 18) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไปถึงขั้นระบุตัวบุคคลได้"
นายอาทิตย์ กล่าวต่อไปว่า กรณีร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯที่ทุกคนเป็นห่วง ในมาตรา 35 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลได้ โดยไม่ต้องขอหมายศาล ส่วน พ.ร.บ .สิ่งยั่วยุ ก็ให้ค้นข้อมูลได้ แต่ต้องรอคำสั่งศาล แต่คำร้อง ไม่ระบุเวลา นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายฉบับที่เพิ่มเข้ามา คือร่างแก้ไข ประมวลกฎหมายวิอาญา มาตรา 131/2 ตัวอย่าง ร่าง พ.ร.บ. เหล่านี้ ถ้ามองไปที่ความสม่ำเสมอของกฎหมาย ก็มีประเด็นที่ต้องตั้งคำถาม และในขั้นกฤษฎีกา ก็ควรจะทำให้สอดคล้องกันคือ ควรตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีการดักฟังมากขนาดนี้
"จากนี้ ทุกกระทรวงต้องมีกฎหมายดักฟังของตัวเองหรือเปล่า” นายอาทิตย์ระบุ
นาย วสันต์ ภัยหลีกลี้ กล่าวว่าร่างพระราชบัญญัติเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ เป็นกฎหมายเพื่อเศรษฐกิจ สังคม หรือเพื่อความมั่นคงกันแน่
“ผมคิดว่าในเรื่องกฎหมายที่ดูจะเร่งรีบและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว มันน่าจะมีผลกระทบกับประชาชนเกือบทุกคนอย่างรุนแรง ผมว่ามันเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ใครบอกเดินหน้า ผมจะบอกว่าเป็นการเดินหน้าลงคลองมากว่า และเป็นคลองที่มีน้ำครำซะด้วย” นายวสันต์ระบุ
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.กล่าวว่า ร่างกฎหมาย เศรษฐกิจดิจิทัล มีอยู่ถึง 10 ฉบับ ขอให้ประชาชนศึกษาให้ละเอียดเนื่องจาก ร่างกฎหมายแต่ละฉบับมีความซับซ้อน
ขณะที่นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่าในขณะนี้ กรรมการ กสทช. อยู่ระหว่างการเตรียมทำความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ทั้ง 10 ฉบับ ประกอบด้วย
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ….
ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ….
ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. ….
ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….
ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
( อ่านประกอบ : ทีดีอาร์ไอแนะรัฐทำหนังสือถึงกฤษฎีกาเปิดเวทีถกร่าง กม.เศรษฐกิจดิจิทัล )
หมายเหตุ : บุคคลในภาพ ผศ. ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ,นายวสันต์ ภัยหลีกลี้,นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล