“วรวัจน์” ชงแก้ กม.โยกงบกู้ยืมศึกษาจากคลังมาดูแล
รมว.ศึกษาฯระบุของบทั้งกระทรวง 4.7 แสนล้าน หนี้สินครูไม่ได้ตั้งงบ เดินหน้าต่อโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนให้งบถึง ป.เอกไป ตปท.สาขาที่ตลาดต้องการ ส่วนการโยกงบ กยศ.จากคลังมาดูแลต้องออก พ.ร.บ.รองรับ
วันที่ 19 ก.ย.54 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ข้อสรุปในการจัดทำคำของบประมาณประจำปี 2555 ไปยังสำนักงบประมาณแล้วประมาณ 4.7 แสนล้านบาท แต่ยังเกินกรอบวงเงินงบฯ ที่กำหนดไว้ 4.1 แสนล้านบาทอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะให้สำนักงบฯ เป็นผู้พิจารณาตัดวงเงินเพื่อให้อยู่ในกรอบที่กำหนด
โดยงบฯ ที่เสนอไปแต่ละองค์กรหลักนั้น ประกอบด้วย สำนักงานปลัด ศธ. 47,987 ล้านบาท สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 404 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 279,460 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) 30,036 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 110,500 ล้านบาท โดยงบฯ ที่เกินมานั้นจะมาจากส่วนต่างๆ แต่ไม่ใช่จากโครงการของรัฐบาล เช่น โครงการปกติของกลุ่มมหาวิทยาลัย 2.7 หมื่นล้านบาท
"เงินที่ชะลอไปนั้นเป็นเงินที่ไม่สามารถจ้างเหมาได้ หรือไม่จำเป็นต้องจ่ายในช่วง 6 เดือนที่เหลือ ของปีงบประมาณ2555 ก็จะให้ปรับไปอยู่ในปีงบฯ 2556 ส่วนค่าใช้จ่ายบางโครงการที่มีระยะเวลา 12 เดือน จะให้ปรับลดลงเหลือแค่ 6 เดือน"
รมว.ศธ. กล่าวและว่า ส่วนการโยกงบฯ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีอยู่ 27,000 ล้านบาท มาอยู่ในการดูแลของ ศธ. แทนกระทรวงการคลังนั้น จะต้องออกเป็นกฎหมายโดยระบุไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ 2555 เลยว่างบฯ ส่วนดังกล่าวให้อยู่ในการดูแลของ ศธ. ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูนั้นไม่ได้ตั้งงบฯ เอาไว้ เพราะกำลังรอการชี้แจงจากผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและ สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เรื่องหนี้สินครูและโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. ที่จะเปิดให้กู้วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาท
ด้าน โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 3 ที่ให้ดำเนินการต่อนั้น จะคัดเลือกนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าอำเภอละ 1 คน เพื่อรับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจะมีการเตรียมความพร้อมให้เด็กโดยอบรม 7-8 เดือน เพื่อให้ความรู้ด้านภาษา ศิลปวัฒนธรรม การเมือง ระบบเศรษฐกิจของประเทศที่จะส่งไป รวมถึงให้ส สพฐ.ไปหาแนวทางความเป็นไปได้ในการเริ่มรับเด็กตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 -6 มาอบรมเพื่อปูพื้นฐานและองค์ความรู้การไปเรียนต่อต่างประเทศด้วย
นายวรวัจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการให้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในต่างประเทศ ได้มอบให้ สกอ.ไปพิจารณาการให้ทุนระดับปริญญาโท-เอก ไปศึกษาต่างประเทศในสาขาที่ตรงกับความต้องการของประเทศ ซึ่งเบื้องต้นจะเปิดกว้างในการขอรับทุนนี้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย .