ทีดีอาร์ไอแนะรัฐทำหนังสือถึงกฤษฎีกาเปิดเวทีถกร่าง กม.เศรษฐกิจดิจิทัล
ร่าง กม.เศรษฐกิจดิจิทัลมีปัญหา ‘สุรางคณา’ วอนทุกฝ่ายเลิกกังวล ยัน ปชช.มีส่วนร่วมแน่ ระบุต้องรีบออก เพราะเวลาจำกัด ‘ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’ เผย มี 3 ฉบับน่ากังวลสุด แนะรัฐบาลทำหนังสือถึงกฤษฎีกา จี้เปิดเวทีรับฟังความเห็นหน่วยงาน ชง ‘ล้างไพ่’ กสทช. หวังลดสัดส่วน กก.-วางระบบใช้จ่ายงบฯ
วันที่ 29 มกราคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) จัดเสวนา NBTC Public Forum 1/2558 เรื่อง ‘ทรัพยากรคลื่นความถี่และทิศทางการสื่อสารภายใต้ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล’ ณ อาคารหอประชุมชั้น 1 สำนักงาน กสทช.
นางสุรางคณา วายุภาพ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เปิดเผยแนวคิดและสาระสำคัญของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยตอนหนึ่งระบุถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ... เป็นสิ่งที่หลายคนกังวล ทั้งที่พฤติกรมของคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงไปในทางไม่ตระหนักความเป็นส่วนตัว แต่เรากลับบอกว่า ต้องการให้กฎหมายปกป้อง ในฐานะคณะทำงานมีความเข้าใจในรัฐบาลอย่างยิ่งถึงสาเหตุทำแล้วงุบงิบ ซึ่งเราอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสาร แต่หากให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายพิจารณาอย่างรอบคอบคงไม่ทัน
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมฯ กล่าวว่า ส่วนใหญ่มักกังวลเรื่องความมั่นคง แต่หากเรายึดหลักให้มั่น ความมั่นคงในที่นี้ หมายถึง การรักษาความลับ ความถูกต้อง แท้จริง ครบถ้วน และมีสภาพพร้อมใช้งานระบบ มิได้จะมีการใช้อำนาจนำไปสู่การละเมิดความเป็นส่วนตัวใคร
นางสุรางคณา กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ปวดหัวเหมือนกัน วันนี้ร่างกฎหมายใหม่ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน แต่หากเรายึดหลักให้มั่นส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาผูกโยงกับประวัติความเป็นมา ซึ่งแต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดก็ต้องยอมรับ และในที่สุดเราต้องการความมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
“การผลักดันชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นความกล้าของรัฐบาล แต่ได้สร้างความลำบากที่จะถูกระแวงและสงสัย อย่างไรก็ตาม ไทยปล่อยให้เกิดความล่าช้ามานาน จึงต้องทุ่มเท เพราะมีเวลาไม่เพียงพอ และเมื่อร่างกฎหมายตกผลึกแล้ว ยืนยันประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมในระดับหนึ่ง อย่าได้กังวล”
ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมฯ ยังกล่าวถึงการดึง กสทช.อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงว่า ยังมีอิสระการกำกับดูแลเต็มที่ ไม่ถูกควบคุมจากรัฐบาล ยกเว้นด้านนโยบายที่อาจจำเป็นต้องเข้ามาดูแล ยกตัวอย่าง การลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาส ซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องทำ แต่จะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงาน พร้อมยืนยันในส่วนความรับผิดชอบเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้ดีที่สุด เพราะกังวลในความรู้สึกของภาคประชาสังคมเช่นกัน
ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงปัญหาใหญ่ของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดจากกระบวนการคิดที่ขาดการเปิดเผยข้อมูลและการปรึกษาหารือ จึงทำให้มีความไม่ไว้วางใจขึ้น และการนำเนื้อหาที่ไม่ตกผลึกเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ถือเป็นการสร้างภาระมาก หากโครงสร้างกฎหมายผิดตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ จะไปแก้ไขเล็กน้อยในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ใช่เรื่องง่าย
สิ่งที่อยากฝากไปถึงรัฐบาล ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ถ้าการพิจารณาร่างกฎหมายมิได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เชื่อว่าอาจไปไม่รอด แต่หากรอดได้ก็บาดเจ็บกันมากมาย ฉะนั้นเพื่อให้บาดเจ็บน้อย รัฐบาลต้องทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่ใช่รัฐบาล โดยเฉพาะผู้แทนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ให้มีร่างกฎหมายของภาคประชาชนประกอบการพิจารณาด้วย
“ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ... เป็น 3 ฉบับที่น่ากังวลที่สุด และควรระมัดระวังอย่างยิ่งจะไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ปิดกั้นเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูล” ดร.สมเกียรติ กล่าว และว่ารัฐบาลต้องตระหนักในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลยากที่จะปิดกั้นเรื่องดังกล่าว จึงต้องสร้างศักยภาพให้ประชาชนรู้จักแยกแยะและป้องกันตัวให้มากที่สุด ไม่ใช้สร้างความมั่นคงเป็นหลัก แม้จะมีความสำคัญ แต่ต้องมีเฉพาะกรณีภัยคุกคามจริง ๆ มิฉะนั้นประชาชนจะไม่เชื่อ และมองรัฐบาลเป็นจอมบงการยุ่งเกี่ยวกับชีวิตมากเกินไป
ประธาน ทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ กสทช. ต่อแนวคิดการรวมบอร์ดเดียวว่า ถือเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและตลาด แต่คงไม่ต้องมีจำนวนถึง 11 คน เราสามารถมีกรรมการ กสทช.ชุดเล็กได้ เพื่อประหยัดทรัพยากร ซึ่งการลดจำนวนดังกล่าวจะกลายเป็นโอกาสในการล้างไพ่เปลี่ยนตัวผู้มิได้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงไม่อยากให้รัฐบาล โดยเฉพาะที่มาจากทหาร เกรงใจกลุ่มเดียวกัน หากมุ่งหวังให้ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โปร่งใสควรแก้ไขในเรื่องสมควร และวางระบบที่ดีต่อการใช้จ่ายงบประมาณ
สำหรับการไม่บังคับประมูลคลื่นความถี่ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า หากรัฐบาลเห็นว่าการประมูลคลื่นความถี่ตามกฎหมายที่เป็นอยู่มีปัญหาก็ควรอธิบายเป็นข้อ ๆ ว่าปัญหาในการปฏิบัติที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และจำกัดการแก้ไขกฎหมายเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ในหลักการยังต้องใช้การประมูลคลื่นความถี่อยู่ เพราะระบบคัดเลือกเป็นบ่อเกิดความไม่โปร่งใส เอื้อให้เกิดการทุจริตวงกว้าง แทนที่จะวัดว่าใครนำเสนอผลประโยชน์ต่อสังคมสูงสุดจะกลายเป็นใครมีความสามารถในการวิ่งเต้นหรือจ่ายใต้โต๊ะสูงสุด
ขณะที่น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) ระบุไม่เห็นด้วยกับการดึง กสทช.ให้สังกัดกระทรวงนั้น เพราะที่ผ่านมาเข็ดหลาบกับการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นหากพบคนในองค์กรไม่ดีก็ควรจะจัดการคนมากกว่า ปล่อยให้ผลักดันกฎหมายไปใครจะการันตีว่าจะดีขึ้น จึงไม่ควรอ้างว่ามีเวลาในการออกกฎหมายน้อย
“กฎหมายที่ออกอย่างรีบเร่ง หลายฉบับต้องนำกลับมาแก้ไขอีก ส่วนการรีบจะดีหรือไม่ คนที่โดนคือผู้บริโภค ดังนั้นแม้จะล่าช้า แต่ไม่น่าเสียหาย” ประธาน สอบ. ทิ้งท้าย .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ