รัฐบาลจะดับไฟใต้ด้วยการตั้ง พล.อ.พัลลภ คุม กอ.รมน.หรือ?
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ารัฐบาลจะกล้าดัน พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตนายทหาร จปร.7 ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เข้าดำรงตำแหน่งหรือใช้อำนาจแทนนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผอ.รมน.จริงๆ
หลายคนบอกว่าเป็นท่าทีที่ไม่สนใจความรู้สึกพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาเสียเลย เพราะ พล.อ.พัลลภ คือผู้ที่แอ่นอกรับว่าเขาคือคนที่สั่งยิงอาวุธหนักเข้าไปในมัสยิดกรือเซะในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 จนมีผู้เสียชีวิตภายในมัสยิดถึง 32 ราย และมัสยิดเก่าแก่ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ความรุ่งเรืองของศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องพังเสียหาย
เหตุการณ์วันที่ 28 เมษาฯ ถูกเรียกขานว่า “เหตุการณ์กรือเซะ” ทั้งๆ ที่มีการบุกโจมตีป้อมจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารถึง 11 แห่งพร้อมกันใน จ.ปัตตานี ยะลา และสงขลาในช่วงเช้ามืดโดยกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมกว่า 100 ชีวิตที่มีเพียงมีด ไม้ และกริชเป็นอาวุธ
จุดตรวจบ้านตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี ใกล้กับมัสยิดกรือเซะเป็นหนึ่งใน 11 จุดเท่านั้น แต่ความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นมากที่สุดทำให้จุดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ทั้งหมดไป
ทุกจุดที่เกิดเรื่อง ฝ่ายผู้บุกโจมตีถูกยิงเสียชีวิตเกือบหมด และจุดสุดท้ายอยู่ที่มัสยิดกรือเซะ เพราะผู้ก่อเหตุในตอนเช้าได้ชิงอาวุธของเจ้าหน้าที่ไปจำนวนหนึ่ง และวิ่งหลบหนีเข้าไปในมัสยิดเก่าแก่ มีการยิงตอบโต้ออกมาประปราย เจ้าหน้าที่จึงปิดล้อมเอาไว้ และเจรจาให้คนที่อยู่ภายในมัสยิดยอมมอบตัว แต่ก็ไม่เป็นผล
กระทั่งบ่าย พล.อ.พัลลภ ในฐานะรอง ผอ.รมน.ในขณะนั้น และอ้างตัวว่าเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ได้สั่งยิงอาวุธหนักเข้าไปในมัสยิด ทำให้คนที่อยู่ภายในเสียชีวิตทั้งหมด โดย พล.อ.พัลลภ ให้เหตุผลในเวลาต่อมาว่าหากปล่อยให้เหตุการณ์ยือเยื้อถึงช่วงกลางคืน เกรงว่าจะเกิดเหตุแทรกซ้อนจนคุมไม่ได้ ทั้งๆ ที่เวลาขณะที่เจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้อาวุธหนักเข้าถล่มนั้น เป็นเวลาเพียง 14.15 นาที หรือบ่ายสองโมงเศษ
เหตุรุนแรงในครั้งนั้นกลายเป็นข่าวดังและอื้อฉาวไปทั่วโลก ทำให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมัสยิดกรือเซะ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 104/2547 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 โดยมี นายสุจินดา ยงสุนทร อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน
แม้ผลการไต่สวนจะไม่ได้สรุปด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่กระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่คณะกรรมการฯก็เห็นว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างจริงจังเพื่อให้มีการเจรจาและยุติเหตุการณ์โดยสันติวิธี แต่กลับใช้วิธีการเข้าปราบปรามด้วยอาวุธหนัก
ทางด้านกระบวนการยุติธรรม คดีกรือเซะจบลงแค่การไต่สวนการตาย แต่ไม่ได้พิสูจน์ความผิดใคร เนื่องจากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เป็นธรรมในความรู้สึกของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ด้วย
ผลของเหตุการณ์ไม่ได้ทำให้ พล.อ.พัลลภ ถูกปลดจากตำแหน่งรอง ผอ.รมน. แต่แค่ถูกย้ายพ้นจากภารกิจภาคใต้ไปรับผิดชอบงานด้านอื่นแทน เขาถูกปลดจริงๆ จากข่าวอยู่เบื้องหลังคาร์บอมบ์ลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ในปี 2549
เป็นคาร์บอมบ์ที่ยังไม่ได้จุดชนวนและยังไม่มีใครตาย แต่เหตุการณ์ที่มีคนตายถึง 32 ชีวิต เขากลับได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป
และวันนี้ พล.อ.พัลลภ กำลังย้อนกลับไปที่ กอ.รมน.อีกครั้ง แต่ไม่ใช่ กอ.รมน.ที่หมายถึง “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน” ตามโครงสร้างเดิมเพื่อใช้ปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอดีต แต่เป็น กอ.รมน.ที่หมายถึง “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” ซึ่งมีเขี้ยวเล็บและอำนาจมหาศาล โดยมีพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ “พ.ร.บ.ความมั่นคง” รองรับ
เป็น พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่บัญญัติเอาไว้ชัดเจนให้นายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน. และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็น รองผอ.รมน. โดยการปฏิบัติหน้าที่ของ ผอ.รมน. กฎหมายเขียนเอาไว้ในมาตรา 5 วรรคสุดท้ายว่า “ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจเป็นหนังสือให้รองผู้อำนวยการเป็นผู้ปฏิบัติหรือใช้อำนาจแทนก็ได้”
นั่นหมายถึงหากจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน ก็ต้องมอบให้ ผบ.ทบ.เท่านั้นตามกฎหมายนี้
ท่าทีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงพยายาม “หาช่อง” เพื่อเปิดทางให้ “บุคคลอื่น” เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนที่ไม่ใช่ ผบ.ทบ.ซึ่งเปรียบเสมือน “หอกข้างแคร่” ของตน และนั่นคือต้นเหตุของการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะมอบอำนาจให้ “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” คนใดคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจแทนในฐานะ ผอ.รมน.โดยอาศัยกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้หรือไม่ อย่างไร
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในปัจจุบันนี้มี 4 คน ประกอบด้วย พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร นายโอฬาร ไชยประวัติ และนายสุชน ชาลีเครือ สปอตไลท์จึงฉายจับไปที่ พล.อ.พัลลภ เพราะมีข่าวมาตั้งแต่ช่วงต้นของการจัดตั้งรัฐบาลว่า จะมีการส่ง พล.อ.พัลลภ กลับไปนั่งที่ กอ.รมน.
แต่คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกากลับ “ปิดทาง” ของ พล.อ.พัลลภ เพราะได้ให้ความเห็นว่า การมอบอำนาจของนายกรัฐมนตรีในกรณีนี้ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ที่ระบุไว้ใน (2) ว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการของกระทรวงหรือทบวงหนึ่งหรือหลายกระทรวงหรือทบวง
ไม่มีกฎหมายระบุให้มอบอำนาจให้ ”ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” ได้
แต่ พล.อ.พัลลภ ก็ดูจะยังไม่สิ้นความพยายามต่อไป โดยล่าสุดเขาเตรียมใช้ช่องทางตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ระบุว่า “นอกจากการมอบอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว บรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้ ผอ.รมน.ภาค ผอ.รมน.จังหวัด หรือผู้อำนวยการศูนย์หรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นปฏิบัติแทนก็ได้”
และนั่นทำให้ พล.อ.พัลลภ ตีความเอาเองว่า หากนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเขาเป็นประธานที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งมีฐานะเป็นหัวหน้าหน่วยงาน ก็จะเข้ากรอบตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง ฉะนั้นจึงเตรียมส่งเรื่องไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกรอบ และที่ต้องดำเนินการเรื่องนี้เพราะตำแหน่งที่ปรึกษา ผอ.รมน.เฉยๆ ไม่มีอำนาจอะไร
แม้ พล.อ.พัลลภ จะไม่ได้พูดชัดๆ ว่าต้องการกลับเข้าไปที่ กอ.รมน. เพื่อไปทำภารกิจเกี่ยวกับภาคใต้ เพราะเขาออกตัวว่าเป้าหมายคือเข้าไปดูงานเรื่องความมั่นคง เช่น ยาเสพติด ทรัพยากรธรรมชาติ และบุคคลหลบหนีเข้าเมืองเท่านั้น แต่ด้วยความที่ กอ.รมน.คือ “เจ้าภาพหลัก” ในภารกิจดับไฟใต้อยู่ในปัจจุบัน ทำให้บทบาทของ พล.อ.พัลลภ ซึ่งต้องการใช้อำนาจในฐานะ ผอ.รมน.แทนนายกฯ ย่อมไม่อาจปฏิเสธความเกี่ยวพันกับปัญหาภาคใต้ได้เลย
จังหวะก้าวของรัฐบาลในเรื่องนี้จึงสะท้อนว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีนโยบายพิเศษใดๆ สำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากเดินตามรอยเก่า ซ้ำยังจัดวางตัวบุคคลโดยไม่สนใจว่าประชาชนในพื้นที่จะรู้สึกอย่างไรอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ การมอบหมายให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง ก็ถูกตั้งคำถามในประเด็นสิทธิมนุษยชนจากการจับกุมผู้ต้องหาคดีปล้นปืนเมื่อปี 2547 สมัยที่ พล.ต.อ.โกวิท ยังดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาครั้งหนึ่งแล้ว วันนี้รัฐบาลจะตั้ง พล.อ.พัลลภ เข้าไปคุม กอ.รมน.อีกหรือ
เป็นคำถามที่รัฐบาลต้องตอบ ท่ามกลางกระแสข่าวการเปลี่ยนตัวเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จาก นายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักอีก 1 ตำแหน่ง!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี
2 มัสยิดกรือเซะ
ขอบคุณ : ภาพ พล.อ.พัลลภ จากอินเทอร์เน็ต