สมุนไพรอภัยภูเบศรเสียหายยับ เหตุโคลนทะลักปตท.ขุดเจาะวางท่อก๊าซ
เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 28 มกราคม 2558 เวลา 20:18 น.
เขียนโดย
หมวดหมู่
แหล่งสะสมพืชสมุนไพร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี เสียหายยับกว่า 2 ไร่ หญ้ารีแพร์โดนด้วย เหตุปตท.ขุดวางท่อก๊าซ โคลนเทียมทะลักเข้าพื้นที่ ด้านเลขานุการมูลนิธิฯ จี้ปตท. แจงสาเหตุ
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558 มีผู้ใช้เฟชบุ๊กชื่อ Supaporn Pitiporn โพสต์ภาพและข้อความว่า”เรื่องเศร้าเช้านี้ ปตท. อ้างพ.ร.บ.เจาะท่อก๊าซผ่านที่ดินแปลงที่จะสะสมพันธุ์สมุนไพร เชิงเขาใหญ่ เรื่องยังอยู่ในศาล ยังลงมือทำ โคลนผสมน้ำมันทะลักท่วมแปลงสมุนไพร งามๆ แปลงผักงามๆ ที่ข้าพเจ้าเสาะหาและเฝ้าฟูมฟัก ทำอะไรได้ไหม สมุนไพรเจ้าเอย เศร้าๆ”
สำนักข่าวอิศราติดต่อไปยังเจ้าของเฟชบุ๊ก คือ เภสัชกรหญิงดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รับการยืนยันว่า ช่วงเช้าของวันที่24 มกราคม 2558 มีโคลนเทียมหรือที่ทาง ปตท.เรียกว่า โคลนสังเคราะห์ทะลักเข้าพื้นที่แปลงสะสมพันธุ์สมุนไพรของมูลนิธิ ซึ่งมูลนิธิมีโครงการจะทำ "อภัยภูเบศรเวชนคร" สำหรับเป็นพื้นที่ในการสะสมสมุนไพรไว้สำหรับต่อยอดองค์ความรู้ เป็นพื้นที่ในการดูแลผู้สูงอายุ และเป็นพื้นที่ในการปลูกพืชสมุนไพรสำหรับทำแพทย์แผนไทย จึงได้ทำการซื้อที่ดินผ่านนายหน้าที่บริเวณเชิงเขาใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรีจำนวน 7 ไร่ ในราคาไร่ละ 4.5 แสนบาท เมื่อปี 2555 ภายหลังจากโอนซื้อที่ดินเรียบร้อยแล้ว จึงทราบจากเจ้าของที่ดินภายหลังว่า ที่ดินเป็นที่ดินที่ถูกรอนสิทธิจากปตท.และจะมีการขุดเจาะท่อก๊าซผ่าน
“เมื่อเราทราบจึงรีบหาข้อมูล เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้ทางมูลนิธิจะทำเป็นพื้นที่สมุนไพร และดูแลผู้สูงอายุไม่อยากให้มีการขุดเจาะท่อก๊าซผ่านบริเวณพื้นที่แห่งนี้ และคิดว่า กฎหมายหรือพ.ร.บ.ที่เขาอ้างว่า มีอำนาจนั้นดูประหลาดและไม่รู้ว่าถูกหรือผิด แต่เมื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานได้ก็ทำการฟ้องศาล แต่ก็ยื่นไม่ทันในระยะเวลา 30 วัน”
ดร.สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากการที่ปตท.จะขุดท่อก๊าซผ่านพื้นที่ของมูลนิธิ ซึ่งจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 2 แสนบาท มองว่า ไม่เป็นธรรม ดังนั้นจึงมีการยื่นอุธรณ์ต่อศาลเนื่องจากในอนาคตมูลค่าของพื้นที่จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความไม่เป็นธรรมในการจะขุดท่อผ่ากลางพื้นที่ เนื่องจากอีกฝั่งหนึ่งของพื้นที่มูลนิธิจะสร้างโรงไฟฟ้าและทำไฟฟ้าลอดใต้ดิน หากมีการเจาะผ่ากลางมา เราก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ ที่สำคัญในการจะเข้าออกพื้นที่ของทางมูลนิธิทางปตท.เองไม่เคยมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งในการเข้าออกพื้นที่ของเราเลย
เลขาธิการมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีเหตุการณ์โคลนทะลักเข้ามาในพื้นที่มีหนังสือจากปตท.เพียงฉบับเดียวลงวันที่ 15 มกราคม 2558 แจ้งมายังมูลนิธิว่า ในการเจาะลอดพื้นที่อาจจะมีโคลนสังเคราะห์แทรกเข้ามาและอาจจะเข้ามาดำเนินการทำความสะอาดต่อไป และเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 24 มกราคม เจ้าหน้าที่จากปตท.ก็มา แต่ไม่มีหนังสือขออนุญาตเข้าพื้นที่และไม่ได้แจ้งมูลนิธิฯ ล่วงหน้า ทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจึงไม่อนุญาตให้เข้า เนื่องจากมีสมุนไพรหายากหลายชนิด
“พอช่วงสายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยโทรมาแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ของปตท.มาจะเข้าไปในพื้นที่สะสมสมุนไพรเพื่อจัดการกับโคลนที่ผุดขึ้น แต่ไม่มีหนังสือจึงไม่อนุญาตให้เข้า ในฐานะเลขานุการมูลนิธิจึงรีบไปโรงพักเพื่อที่จะแจ้งความว่า มีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ไปช้าเจ้าหน้าที่ของปตท.ไปแจ้งก่อนแล้วว่า กำลังจะเข้าไปจัดการทำความสะอาดแต่ไม่ได้รับอนุญาต”
ดร.สุภาภรณ์ กล่าวต่อว่า เป็นครั้งเดียวหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ติดต่อมา ผ่านมา 4 วัน เป็นเจ้าหน้าที่ของเราเองทั้งหมดที่ช่วยกันกู้สถานการณ์ตรวจสอบดูพืชสมุนไพรว่า มีต้นไหนที่ยังไม่ตายบ้าง
"ความเสียหายของพืชสมุนไพรประเมินค่าไม่ได้ กว่าจะข้ามภูเขาไปหามา กราบกรานหมอยากี่คนกว่าเขาจะไว้ใจเชื่อใจ บางพื้นที่ไกลๆ 5 ปี ไป 3ครั้ง ถึงได้รับความไว้วางใจ ตัวอย่างพืชสมุนไพรที่เสียหายก็มี "หญ้ารีแพร์" "หมูป่อย" ซึ่งเป็นยาดีในอินเดียเป็นยาสำคัญที่อาจจะยังไม่มีรายงานชื่อทางพฤกษศาสตร์ในประเทศไทย ใช้เป็นยาฟื้นพลังชีวิต ใช้รักษาอาการเข่าคลอน ตอนนี้ก็ใบเหลืองไม่รู้ว่าจะฟื้นได้ไหม" ดร.สุภาภรณ์ กล่าว และว่า สิ่งที่ปตท.ทำ คือ ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ไม่บอกขั้นตอนการเจาะ ปกปิดข้อมูล เข้าใจว่า ปตท.มีพ.ร.บ.สนับสนุนในการขุดเจาะ แต่ก็อยากให้ช่วยเคารพและเข้าใจพื้นที่แบบนี้ด้วย
“เห็นแล้วรู้สึกช้ำมาก เสียใจ เข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุโคลนทะลักเข้ามา แต่ความเสียหายชดใช้เป็นเงินไม่ได้ นี่คือความหวัง ทั้งชีวิตว่าจะเป็นงานสุดท้ายที่จะเก็บสะสมพืชสมุนไพรที่คนไม่ค่อยรู้จัก มาทำเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นเวชนคร ไม่ใช่แค่การเก็บรูปภาพและชื่อของสมุนไพรเท่านั้น แต่เราอยากเก็บชีวิตของพืชเอาไว้ด้วย และจะได้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชสมุนไพร”
สำหรับสิ่งที่อยากเรียกร้องจากปตท.นั้น ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ปตท.ควรแจ้งตั้งแต่แรกว่าจะทำอะไร บอกล่วงหน้าว่าจะขุดเจาะวันไหน เปิดเผยสารเคมีว่าจะมีอะไรบ้าง กระบวนการกำจัดทำอย่างไรบ้าง และความจริงปตท.มีเงินมาก หากการขุดเจาะจะทำให้พื้นที่สะสมพืชสมุนไพรมีปัญหาก็ควรจะไปซื้อพื้นที่ข้างๆ หรือคิดหาวิธีแก้ไข
"ตอนนี้อยากได้คำตอบจากปตท.มากๆว่า หากโคลนเทียมหรือที่มีหนังสือมาแจ้งว่า คือ โคลนสังเคราะห์ เบนโทไนต์ (bentonite) ถ้ามีแค่สารชนิดนี้ทำไมต้นไม้ถึงตายและอยากขอร้องว่า ตอนนี้คดีที่ฟ้องยังไม่สิ้นสุดช่วยรอคำสั่งศาลก่อนได้หรือไม่ก่อนที่จะดำเนินการขุดเจาะอีกครั้ง
ด้านผศ. ดร. ชวลิต ฮงประยูร ภาคปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าวถึงโคลนเทียม หรือ bentonite จะใช้ในการขุดเจาะท่อก๊าซ เพราะจะช่วยหลอมให้เกิดความร้อนจากการศึกษาไม่พบว่า สารชนิดนี้จะมีอันตรายต่อพืช แต่หากเกิดการทะลักและมีพืชตายก็ต้องดูว่า เกิดการทะลักเข้าพื้นที่มากน้อยแค่ไหน หากมีปริมาณที่มากเกินไปก็อาจจะเป็นอันตราย แต่อย่างไรจะต้องมีการตรวจสอบอีกครั้ง
ยาแก้หมูป่อย Leptadenia reticulata ยาดีของพ่อหมอไทใหญ่ เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ใช้เวลาเพาะเมล็ดเกือบ 2 ปี
ภาพเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 สภาพยาแก้หมูป่อยโดนโคลนท่วม ใบเหลืองเหี่ยวเฉา กำลังขุดกู้ขึ้นมาใส่กระถาง
ผักโขมแดง หวังคงรอดสักต้น