รบ.ยินดีชี้ขาดปมปรองดอง “วิษณุ”ยันถอดถอน“ปู”ไม่ได้ล้างบางการเมือง
“วิษณุ” ยันรัฐบาลยินดีชี้ขาดปมปรองดอง แต่ต้องรอดูปัจจัย-เวลาที่เหมาะสม ปัดถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” ไม่ได้ล้างบางการเมือง ชี้ปรองดองทำได้หลายทาง นิรโทษกรรมคือวิธีสุดท้าย ชูคำพูด “เช็คสเปียร์” ทำอะไรให้คนพอใจหมดคงไม่ได้
นายวิษณุ เครืองาม กล่าวภายหลังปาฐกถาพิเศษในงานสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าฯ ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี-รังสิต ถึงกระแสที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลต้องการพยายามถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกมองว่ากลายเป็นการล้างผลาญทางการเมืองว่า เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจสองอย่างคือ เรื่องแรกต้องทำความเข้าใจกับฝ่ายที่ถูกกระทำ กับอีกฝ่ายที่ปล่อยให้คนเข้าใจผิด ก็ต้องไปหาข้อมูลด้านอื่นมายืนยัน ซึ่งการกระทำอย่างนี้เป็นการทำความเข้าใจ และสร้างความเป็นกลาง ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีก็บอกแล้วว่าไม่ใช่ ถ้าตั้งใจทำสามารถทำได้นานแล้ว ซึ่ง คสช. ไม่ประสงค์จะทำเช่นนั้น แต่ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการ หากไม่ได้ก็ไม่ได้ยัดเยียดให้ทำ
“คสช. และรัฐบาล เลยไม่แสดงความเห็น ถ้าคิดว่ามีอำนาจถอดถอนก็ทำ ถ้าไม่มีก็ไม่ได้พูดยัดเยียดให้ทำ ซึ่งเรื่องนี้ต้องอธิบายให้ชัดเจน ไม่ให้เข้าใจผิดไปว่าถูกไล่ล่า” นายวิษณุ กล่าว
ส่วนกรณีที่จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่มีข้อมูล ซึ่งในอนาคตไม่แน่ เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายอยู่ระหว่างความงุนงง ไม่แน่ใจ และหาข้อเท็จจริงอยู่ แต่หากทุกอย่างเปิดหมดแล้ว รัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว มีการหาเสียง ก็อาจมีการนำประเด็นเก่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วมาบังคับใช้ ซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นได้
ส่วนการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะกระทบกับการปรองดองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีใครตั้งใจให้กระทบ แต่เมื่อมีการบิดเบือน มีการปลุกระดม ก็อาจนำไปสู่การไม่ปรองดองได้ ซึ่งเข้าใจว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหตุเป็นผล ใช้ตามกลไกปกติ ไม่มีการกลั่นแกล้ง หวังว่าจะมีคนเข้าใจไม่ยาก
“เรื่องนี้เหมือนหนีเสือปะจระเข้ คนที่มีอำนาจก็จะถูกอีกฝ่ายมองว่า ไม่ได้ทำอะไรฝ่ายเรา ก็สามารถเป็นแรงกดดันอีกฝ่ายหนึ่งได้ เช่น หากไม่มีการถอดถอน อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรฝ่ายเรา ก็อาจเกิดเหตุปะทุขึ้นมาอีก ต้องเข้าใจก่อนว่า เรื่องความขัดแย้งต้องมีบางฝ่ายไม่พอใจอยู่แล้ว อย่างคำพูดของวิลเลียม เช็กสเปียร์ ที่ว่า ทำอะไรให้คนพอใจหมดคงไม่ได้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีคณะทำงานศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองนั้น สามารถส่งเรื่องมาให้กับรัฐบาลพิจารณาได้ รัฐบาลก็ยินดีพิจารณาให้ แต่ต้องอยู่ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ต้องคิดถึงจังหวะและเวลาในห้วงนั้นด้วย และต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จะแก้ลวก ๆ แล้วทิ้งไม่ได้ ถ้าทำไม่ดีก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ซึ่คิดว่ามีความรุนแรงกว่ามาก ดังนั้นต้องรอให้ทุกอย่างราบรื่นก่อน
“การปรองดองเป็นจุดหมายปลายทาง และมีหลายวิธี เช่น การอภัยโทษ หรือการนิรโทษกรรม เป็นต้น ที่สุดแล้วการแก้รากเหง้าต้นตอ หรือปัญหา 2 มาตรฐานทั้งหลาย ไม่ใช่แก้ด้วยการนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว อาจจะใช้ หรือไม่ใช้การปรองดองก็ได้ แต่ถ้าจะนิรโทษกรรมจะต้องรอช่วงเวลาที่เหมาะสม” นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจัยช่วงเวลาที่เหมาะสมหมายถึงเมื่อใด นายวิษณุ กล่าวว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นมีจุดอ่อน ต้องดูว่าประชาชนจะรับได้หรือไม่ เห็นด้วยหรือไม่ ถ้าทุกอย่างไม่มีคำตอบที่เหมาะสม ก็อาจจะผิดจังหวะได้ ส่วนจังหวะที่เหมาะสมจะอยู่ในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่นั้น ก็ต้องรอดู ถ้าอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ก็ยินดีรับทำ แต่ถ้าอยู่ในรัฐบาลใหม่ก็ต้องให้เขาเป็นคนทำ