กมธ.วิสามัญฯ ปลดล็อคบัญชีไม้แนบท้าย กม.สวนป่าฯ ยืดหยุ่นเพิ่ม-ลด ใน พ.ร.ฎ.
กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สวนป่าฯ ปลดล็อคไม้ 11 ชนิด ออกจากบัญชีแนบท้าย ‘ยางพารา-ยูคาลิปตัส-สนประดิพัทธ์’ เหตุกระทบเกษตรกรรายย่อย ปรับแก้มาตรา 3 ให้เพิ่ม-ลดชื่อไม้ได้ตาม พ.ร.ฎ.
วันที่ 28 มกราคม 2558 ที่ห้อง 308 อาคารรัฐสภา 2 เวลา 10.00 น. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สวนป่า (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ก่อนเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 และ 3 โดยมีพล.อ.ดนัย มีชูเวท เป็นประธาน
ภายหลังการหารือกว่า 2 ชั่วโมง พล.อ.ดนัย เปิดเผยถึงผลการพิจารณาร่างฯ ว่า ที่ประชุมมีความเห็นถอนชื่อไม้ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ. ทั้งหมด 11 ชนิด ได้แก่ ไม้สกุลอะคาเซีย ไม้สกุลมะฮอกกานี ไม้สกุลยูคาลิปตัส สนประดิพัทธ์ ไม้สกุลโกงกาง ไม้สกุลถั่ว-พังกาหัวสุม ไม้สกุลโปรง ไม้สกุลตะบูน ไม้สกุลฝาด เสม็ด และยางพารา เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกสวนป่า จึงตัดสินใจถอนออกไปก่อน
“จากเดิมเนื้อหาให้สิทธิในการเพิ่มรายชื่อไม้เข้ามาได้อย่างเดียว แต่ถอนรายชื่อออกไม่ได้ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ พ.ร.บ.จะแข็งเกินไป จึงแก้ไขให้สามารถเพิ่มหรือลดจำนวนได้ตามสถานการณ์ เพื่อสร้างความยืดหยุ่น” ประธาน กมธ.พิจารณาร่างฯ กล่าว และว่าปีนี้อาจเห็นว่าบัญชีไม้แนบท้ายจำนวนเท่านี้มีความเหมาะสม หากอนาคตเห็นว่าไม่เหมาะสมก็แก้ไขได้ เพราะเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ซึ่งแก้ไขได้ง่ายกว่า พ.ร.บ.มาก แต่ต้องผ่านการประชาพิจารณ์
พล.อ.ดนัย กล่าวด้วยว่า ได้มีข้อสังเกตขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ.สวนป่า เพื่อให้เกษตรกรได้ทราบถึงประโยชน์ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งในที่ประชุม กมธ.พิจารณาร่างฯ ครั้งนี้ ที่มีผู้แทนกรมป่าไม้ร่วมนั้นเห็นชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมจึงมีมติให้แก้ไขความในมาตรา 3 จากเดิม “ ‘สวนป่า’ หมายความว่า ที่ดินที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 5 เพื่อทำการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ และตามที่กำหนดเพิ่มเติมโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
ต่อไปนี้ให้ใช้ความว่า “ ‘สวนป่า’ หมายความว่า ที่ดินที่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 5 เพื่อทำการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ การแก้ไข เพิ่มเติม หรือปรับลดต้นไม้ตามบัญชีท้ายให้ทำตามพระราชกฤษฎีกา
พล.อ.ดนัย ยังกล่าวถึงมาตรา 22/1 หากผู้ทำสวนป่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการทำสวนป่าฯ จะใช้มาตรการกำหนดโทษทางปกครองแทนโทษอาญา เพราะ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเกษตรกรปลูกสวนป่า ส่วนการปราบปรามมีกฎหมายอื่นที่บังคับใช้อยู่แล้ว
ส่วนร่าง พ.ร.บ.สวนป่าฯ จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. วาระ 2 เเละ 3 เมื่อไหร่นั้น ยังไม่ทราบ คงต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ (วิป สนช.) .
อ่านประกอบ:นักวิชาการค้านเดินหน้า ‘พ.ร.บ.สวนป่า’ ฉบับแก้ไข ผ่าน สนช.วาระ 2-3
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ไทยพับลิก้า