พูดคุยดับไฟใต้...เป้าหมายของรัฐบาลคสช.จริงหรือ?
เรื่องภาคใต้ดูจะห่างหายไปจากความสนใจของผู้คน เพราะเหตุรุนแรงเกิดขึ้นน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ดูจาก "สกู๊ปพิเศษ" ที่ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอเอาไว้ (เปิด 4 ปัจจัยรัฐ"จำกัดวง"ไฟใต้...เข้าใกล้สันติสุขหรือรอวันปะทุ?) ก็จะพบข้อมูลรายละเอียดและเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้สถานการณ์ไฟใต้ดีขึ้น และน่าจะดีที่สุดตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา (ในแง่ของจำนวนเหตุรุนแรงที่ลดลง)
งานนี้ก็ต้องปรบมือให้กับทั้ง คสช. รัฐบาล กองทัพ สมช. และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้บรรยากาศโดยรวมของพื้นที่ดีขึ้น และเริ่มมีที่ว่างสำหรับงานพัฒนาซึ่งมี ศอ.บต.ยุค คุณภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นหัวหอก (แม้สาเหตุบางส่วนจะมาจากความเหนื่อยล้าของฝ่ายขบวนการเองที่ยังไม่เห็นวี่แววการแยกดินแดนสำเร็จเสียทีก็ตาม)
แต่ประเด็นที่น่าแปลกใจก็คือ สถานการณ์ชายแดนใต้ที่ดีขึ้นนั้น ไม่ค่อยมีส่วนสัมพันธ์กับการเปิดโต๊ะพูดคุยเจรจารอบใหม่ที่เรียกว่า "การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" สักเท่าไหร่
ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนมาเลเซีย และร่วมตกลงเรื่องนี้ด้วยตัวเองกับนายกฯนาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.57 พร้อมเปิดตัว พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยอย่างเอิกเกริกด้วย
แต่ผ่านมาร่วม 2 เดือน ยังไม่มีอะไรคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญมากนัก
มีข่าวแว่วมาว่าภายในสัปดาห์นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเรียกประชุม คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ The Steering Committee for Dialogue ซึ่งน่าจะเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการนัดแรก และคงมีการอนุมัติ "อะไรๆ" ที่รอจังหวะเวลากันอยู่ เช่น กรรมการในคณะพูดคุยชุดที่มี พล.อ.อักษรา เป็นประธาน ว่ามีใครบ้าง เพราะที่ผ่านมาระบุแค่ตำแหน่งกับหน่วยงาน ไม่ได้กำหนดตัวบุคคล
เพราะการขับเคลื่อนงานแบบ 3 ระดับ แม้ดูเผินๆ จะขยับไปพร้อมกัน แต่เมื่อคณะกรรมการระดับบนมีนายกฯเป็นประธาน การที่ระดับกลาง (ชุด พล.อ.อักษรา) และระดับล่าง (ชุดแม่ทัพภาคที่ 4) จะขยับไปก่อนย่อมอยู่ในภาวะ "ออฟไซด์" หลายเรื่องจึงคาดว่าจะ "คิกออฟ" กันจากวงประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯครั้งนี้
ที่ผ่านมาก็มีรายการ "ออฟไซด์" กันอยู่บ้าง ดังเช่นที่มีข่าวและภาพการพบปะกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในประเทศต่างๆ ที่ไม่ใช่มาเลเซียออกมาเป็นระยะ ทั้งๆ ที่มาเลเซียได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทยให้เป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" กระบวนการพูดคุย
มีข่าวด้วยว่านอกจากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ชุดที่มีนายกฯเป็นประธานแล้ว ในระดับคณะพูดคุยตัวจริง ก็จะมีการพบปะกันอย่างลับๆ ระหว่างผู้มีบทบาทในเมืองไทย กับผู้มีบทบาทในมาเลเซียด้วย นัยว่าเพื่อทำความรู้จักคุ้นเคยกันให้สนิทแนบแน่น
จากความเคลื่อนไหวหลายระดับดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าโต๊ะพูดคุยน่าจะเปิดขึ้นครั้งแรกอย่างเป็นทางการได้หลังจากนี้
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา รายงานเมื่อวันก่อนว่า แกนนำพูโลในพื้นที่แย้มพรายว่า มีการวางกรอบเวลาจะเปิดโต๊ะพูดคุยกันในเดือน มี.ค.58 ซึ่งดูๆ แล้วก็น่าจะสมเหตุสมผล
ปัญหาในขณะนี้ นอกจากความล่าช้า (ซึ่งรัฐบาลคงพยายามอธิบายว่า "ช้าแต่ชัวร์" ไม่ใช่ "เร็วแต่มั่ว" เหมือนรัฐบาลชุดก่อน) ยังอยู่ที่ว่าการพูดคุยเจรจาจะได้ "ตัวจริง" มาขึ้นโต๊ะสักกี่คน
เพราะจนถึงขณะนี้ "บีอาร์เอ็นสายกองกำลัง" ที่ว่ากันว่าควบคุมนักรบในพื้นที่อยู่มากที่สุดยังคงนิ่ง และไม่แสดงท่าทีสนใจการพูดคุยเท่าใดนัก
ข่าวกระเซ็นกระสายจากประเทศเพื่อนบ้าน (ไม่ใช่เขมร) แจ้งว่าบุคคลที่ถูกเชื้อเชิญให้ร่วมโต๊ะพูดคุย เป็นกลุ่มเดิม (ที่ถูกตั้งคำถามเรื่องอำนาจสั่งการ) เพียงแต่เปลี่ยนคน เช่น ไม่มี ฮัสซัน ตอยิบ แต่อาจมี อาวัง ยาบะ ซึ่งเป็นคนสนิทของฮัสซันแทน...อะไรประมาณนี้
ขณะที่ฝ่ายพูโลซึ่งแตกเป็น 3 กลุ่มก็ชิงความได้เปรียบกันวุ่นวาย กลุ่มพูโลใหม่ นำโดย กัสตูรี่ มาห์โกตา จัดประชุม "ยูนิตี้ ทอล์ค" ที่ประเทศแถบยุโรป เมื่อราวๆ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีข่าวว่ามีการจัดประชุมจริง แต่วงประชุมไม่ "แกรนด์" ดังที่มาดหมาย ลักษณะคล้ายประชุมแกนนำที่พำนักในยุโรป ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะถูกเปิดเป็นข่าวในสื่อไทยก่อนด้วย
ส่วน ลุกมัน บินลิมา ตัวแทนพูโลสายเก่า (มี นูร์ อับดุลเราะห์มาน เป็นประธาน) ก็ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯประยุทธ์ พร้อมข้อเรียกร้อง 8 ข้อ ซึ่งบางข้อดูเป็นไปได้ยาก ส่วนบางข้อรัฐก็ทำให้อยู่แล้ว จึงไม่รู้จะเรียกร้องไปทำไม
ข่าวว่า ลุกมัน บินลิมา และกลุ่มของเขาไม่ได้ไปร่วมประชุม "ยูนิตี้ ทอล์ค" เช่นเดียวกับพูโลอีกกลุ่มที่นำโดย ซัมซูดิง คาน และมีนักรบติดอาวุธที่ใช้ชื่อว่า "พีแอลเอ" (Patani Liberation Army)
แต่การส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯประยุทธ์ ของพูโลกลุ่มนายลุกมัน อ่านได้ว่าเป็นการชิงความได้เปรียบกันเองของบรรดากลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งไปๆ มาๆ ก็ยังไร้เอกภาพเช่นเดิม
ประเด็นก็คือ สถานการณ์แบบนี้ ฝ่ายความมั่นคงไทยก็อ่านออก จึงมีข่าวแว่วมาว่ากระบวนการเปิดโต๊ะพูดคุยนั้น แท้ที่จริงแล้วคือ "เป้าหมายรอง" ของการแก้ไขปัญหา แต่เป้าหมายหลักจริงๆ คือการจัดระเบียบพื้นที่ กดดันกองกำลังติดอาวุธมากกว่า
ลองไปดูอัตรากำลังของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่ขยายเป็นกว่า 7 หมื่นนาย กับสถิติปิดล้อม ตรวจค้น ที่จับกุมเป้าหมายทั้งจับเป็นและจับตาย (วิสามัญฆาตกรรม) ได้ทุกรอบในช่วงหลังๆ ก็จะรู้ว่าทิศทางดับไฟใต้ที่แท้จริงของรัฐบาลชุดนี้คืออะไร!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ขวา) พล.อ.อักษรา เกิดผล