ความท้าทายของแรงงานไทยในยุคดิจิตอล
"ความท้าทายของแรงงานไทยในยุคสังคมดิจิตอล ต้องเพิ่มทักษะให้มาก เพิ่มเติมมาตรฐานฝีมือแรงงานให้พร้อมเป็นแรงงานของภูมิภาคอาเซียน สร้างโอกาสที่ดีกว่าลดเงื่อนไขผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทนโดยเฉพาะในตลาดภาคบริการ และการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันสำหรับอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น ควรย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปในประเทศรอบข้างเพื่อลดแรงกดดันด้านการขาดแคลนแรงงาน"
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ความท้าทายของแรงงานไทยในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โอกาสของแรงงานระดับบนอยู่ที่ทักษะด้านคอมพิวเตอร์หรือการใช้งานเทคโนโลยีดิจิตอลต่าง ๆ โดยสายงานในด้านนี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ อาทิ ด้านไอที วิศวกรรม บัญชี
อีกทักษะสำคัญคือด้านภาษาต่างประเทศ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การเตรียมความพร้อมมาตรฐานฝีมือแรงงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน การมีโปรแกรมฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะสำคัญเพิ่มเติมให้แก่แรงงาน นั่นคือทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์ การคิดวิเคราะห์ การอ่านและการเขียน เป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 หากทำได้ก็จะทำให้คุณภาพแรงงานไทยเพิ่มขึ้นถือเป็นการเปิดตลาดที่ดี
บทบาทของภาครัฐควรเร่งดำเนินการในสองส่วน ส่วนแรกคือ การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มเติมเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานไทยมือแรงงานไทยให้มีความพร้อมมากขึ้นเพื่อกันไม่ให้มีการนำแรงงานอื่นมาเติมในตำแหน่งนั้น ๆ โดยเฉพาะความพร้อมด้านภาษาและทักษะในการประกอบอาชีพ ซึ่งสาขาที่อ่อนไหวในเรื่องนี้ก็คือ สาขาด้านการท่องเที่ยว ใน 32 ตำแหน่งงาน
ส่วนที่สอง คือ อาชีพที่ได้ตกรงร่วมกันให้มีมาตรฐานกลางของอาเซียนอยู่แล้วต้องเร่งปรับปรุงให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะตำแหน่งงานเกี่ยวกับโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร และอีก 1 กลุ่มอาชีพ คือ ตำแหน่งมัคคุเทศก์และTour operator ควรกำหนดเงื่อนไขไม่ให้สามารถรับชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในตำแหน่งดังกล่าวได้โดยตรง แต่ควรผ่านสมาคมวิชาชีพนั้น ๆเสียก่อน
ในส่วนแรงงานระดับล่าง การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นและมีการนำแรงงานต่างด้าวมาทดแทนนั้น ปัจจุบันมีการสนับสนุนให้มีการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศรอบข้าง เพื่อลดแรงกดดันด้านการขาดแคลนแรงงานและต้นทุนสูง ตามกลยุทธ์ “ไทยแลนด์ พลัส 1” ซึ่งหลายบริษัทดำเนินการอยู่แล้ว
อีกแนวทางหนึ่งคือเสนอให้ การจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่าง ๆ ตามแนวชายแดนนั้นต้องคำนึงถึงมิติด้านแรงงานด้วย โดยจัดให้มีบริการจัดหางานครบวงจรอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงกระบวนการคัดกรองแรงงานที่ดี มีการจัดทำฐานข้อมูลที่ทันสมัยและเชื่อมโยงกับส่วนกลาง จะช่วยแก้ปัญหาการหลั่งไหลของแรงงานเข้ามาในส่วนกลางได้
รวมถึงช่วยแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในมิติอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การพิสูจน์สัญชาติ และการฝึกอบรมหรือทดสอบทักษะแรงงานให้เสร็จสิ้นก่อนเข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารตลาดแรงงานในภาพรวม และเป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจในการวางแผนประกอบกิจการ จึงควรเร่งดำเนินการให้มีความชัดเจนโดยเร็ว
ขอบคุณภาพจาก:www.komchadluek.net