คพ.เร่งออกกม.จัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เสนอ สนช. ก.พ.นี้
กรมควบคุมมลพิษเผย กำลังร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ แก้ปัญหาซากขยะไอที-ไฟฟ้าเกลื่อนเมือง คาดเสนอสนช. กุมภาพันธ์นี้
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) แถลงสถานการณ์มลพิษประเทศไทยปี 2557ว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยใหม่เกิดขึ้นทั่วประเทศ จำนวน 26.2 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 0.6 ล้านตัน โดยมีอัตราการผลิตขยะต่อคน 1.11 กิโลกรัม/คน/วัน
ทั้งนี้ นำขยะไปกำจัดแล้ว 14.7 ล้านตัน ในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยทั่วประเทศ 2,450 แห่ง แยกการกำจัดแบบถูกต้องประมาณ 7.9 ล้านตัน แต่ยังมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยซึ่งได้รับงบประมาณก่อสร้าง แต่ไม่สามารถเปิดดำเนินการเนื่องจากประชาชนต่อต้านหรือมีปัญหาการเมืองท้องถิ่นมากถึง 18 แห่ง
ส่วนขยะตกค้างสะสมทั่วประเทศจาก 28 ล้านตันในปีที่แล้ว ปัจจุบันลดลงเหลือ 14.8 ล้านตัน เนื่องจากได้รับการจัดการไปแล้ว 13.2 ล้านตัน จังหวัดที่มีวิกฤตปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างสะสม 5 อันดับแรก ได้แก่ สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา และขอนแก่น อย่างไรก็ตามทุกจังหวัดได้ให้ความมั่นใจว่า ขยะเก่าทั้งหมดจะถูกกำจัดหมดภายในปี 2559
นอกจากนี้ พบว่า มีของเสียอันตรายเกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 2.69 ล้านตัน แยกเป็นของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรม 2.06 ล้านตัน ของเสียอันตรายจากชุมชน 0.58 ล้านตัน และมูลฝอยติดเชื้อ 52,000 ตัน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออกและภาคกลาง เนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรม
สำหรับของเสียอันตรายชุมชน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 65 เป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวีซีดี/ดีวีดี โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป
ทั้งนี้คาดว่าในอนาคต การจัดการกับซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นปัญหาใหญ่ส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้คนทิ้งและซื้อของใหม่ และประเทศไทยยังไม่มีระบบเก็บรวบรวมและเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์
"ผลิตภัณฑ์ประเภทหนึ่งที่น่ากังวล คือ แท็บเล็ต จากนโยบายรัฐบาลที่ซื้อให้กับเด็กประถม ปัจจุบันน่าจะเสื่อมสภาพแล้วและจากความนิยมในการใช้งาน อีกประเภทหนึ่ง คือ การส่งเสริมการใช้โซลาร์เซลล์ หากเสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน จะกลายเป็นของเสียอันตรายที่ยังไม่มีความชัดเจนในระบบการกำจัด"
ล่าสุดในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้าโซลาร์เซลล์จำนวน 3,238,620 ชิ้น และนำเข้าแท็บเล็ต จำนวน 1,497,144 เครื่อง จึงต้องตระหนักในการจัดการกับซากผลิตภัณฑ์เหล่านี้
อย่างไรก็ตาม คพ. กำลังร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น เพื่อเป็นกฎหมายที่จะใช้กำกับดูแลการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ โดยใช้หลักการความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) คาดว่าจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเดือนกุมภาพันธ์ 2558
ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างเตรียมการจัดทำแผนแม่บทการจัดการซากซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องโซลาร์เซลล์
ขอบคุณภาพจาก http://www.7boot.com