สปช.ดึง 20 ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ปฏิบัติการปลดล็อกอุปสรรคปฏิรูปการศึกษา
สปช.ด้านการศึกษาและพัฒนามนุษย์ เผยความก้าวหน้าโครงการ"ปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน" ดึง 20 ผู้บริหารเขตพื้นที่ ร่วมปฏิบัติการเสนอแนวทางปลดล็อกอุปสรรคในการพัฒนาการศึกษา
วันที่ 24 มกราคม 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดแถลงถึงความก้าวหน้าโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน พบ 20 ผู้บริหาร(ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา) ผู้ร่วมปฏิบัติการเสนอแนวทาง การปลดล็อกอุปสรรคในการพัฒนาการศึกษา ผลักดันประเด็นการกระจายอำนาจการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้ "โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน" ผสานการทำงานร่วมกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษาและพัฒนามนุษย์ ณ ห้องประชุม ชั้น 7 โรงแรม Hotel De’ Moc ถ.ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ
รศ.ประภาภัทร นิยม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และสมาชิก สปช. เปรียบการต้องมาต่อสู้เรื่องการศึกษา เหมือนช้าง เมื่อช้างตายทั้งตัวจะเอาใบบัวมาปิด ฉะนั้นจึงมีความพยายามหาวิธีว่าทำอย่างไรให้มิด กระทั่งเกิด "โครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน" ขึ้นมา ซึ่งก็คือหาวิธีด้วยว่า ช้างตายเพราะอะไร มีวิธีคือถอยห่างๆ แล้วดูภาพรวม วิธีที่สองคือเข้าไปใกล้แล้วดูจุดที่สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ ฉะนั้นปัญหาของศึกษาที่เกิดก็คือปัญหาจากห้องเรียนที่เกิดขึ้นระหว่างครูกับนักเรียน นี่คือปัญหา
"เมื่อเริ่มทำโครงการเราก็ใช้คำว่า คืนครูให้ศิษย์ ต้องถามก่อนว่า ครูไปไหน ทำไมครูไม่อยู่ในห้องเรียน มีอะไรที่ทำให้ครูไม่อยู่ในห้องเรียน มีอะไรที่ครูไม่ได้สร้างกระบวนเรียนที่ดีให้กับนักเรียน และเรื่องนี้ยังกระทบไปถึงเรื่องการบริหารด้วย ทั้งเรื่องเงินและงบประมาณ ถึงตอนนี้คิดว่า เราจี้ถูกแล้ว จึงทำโครงการอย่างจริงจัง คัดเลือกเขตนำร่องมา 20 เขต เพื่อมาทำการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดขึ้นในพื้นที่แต่ละเขต"
ด้านดร.พิธาน พื้นทอง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด ที่ผ่านเราก็ปฏิรูปมาหลายครั้งแต่ไม่เคยเน้นไปที่ตัวผู้สอนเลย ครั้งนี้จึงคิดว่าต้องเน้นที่ผู้สอนเป็นหลัก
"เมื่อธันวาคมปี 2557 มีการทดลองให้ผู้สอนมานั่งรวมกันเป็นกลุ่มแล้วคุยกัน เหมือนหมอรักษาคนไข้ แล้วก็มาทดสอบกัน ดึงครูกลับมาสู่ห้องเรียน นำผู้บริหารกลับสู่โรงเรียน และเน้นให้ผู้บริหารควบคุมดูแลครู นักเรียน เพราะทุกวันนี้ ภาระหน้าที่ตกอยู่ที่ครูมาก ครูมีความจำเป็นที่ต้องทิ้งห้องเรียนไปอบรม สัมมนาต่างๆ เด็กก็ไม่ได้เรียนรู้ ทำให้คุณภาพทางการศึกษามีน้อย วันนี้เราจึงจัดการปฏิรูปขึ้นเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น"
ด้านนายสายัณห์ ผาน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จังหวัดขอนแก่น เขต 1 กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการศึกษา สิ่งสำคัญของการศึกษา เด็กต้องอ่านออก เขียนได้ ได้รับการพัฒนาที่ดีเพื่อก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน และเด็กต้องมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นด้วย ฉะนั้น จำเป็นต้องส่งเสริมให้ครูมีเวลาอยู่กับห้องเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นหลัก โดยลดภาระงานครูที่นอกเหนือการสอน และจัดจ้างครูพนักงานมาทดแทนการเสียเวลาของครู เช่น งานธุรการ การเงิน พัสดุ เป็นต้น-
"เน้นการพัฒนาครูที่ห้องเรียน ลดการดึงครูไปอบรม สัมมนา หรือพัฒนานอกห้องเรียน นอกโรงเรียน ส่วนการปรับวิทยฐานะครู ต้องลดภาระการทำเอกสารของครู ให้เน้นที่คุณภาพผู้เรียนเป็นหลักเพื่อที่จะไม่ให้ครูต้องทิ้งห้องเรียนอีก ถ้าครูทำงานในห้องเรียนมาก ครูก็จะพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น ครูต้องพัฒนาตัวเองที่ห้องเรียนไม่ใช้ไปพัฒนาอยู่ข้างนอกแล้วทิ้งห้องเรียน" นายสายัณท์ กล่าว และเสนอการปฏิรูปการศึกษาต้องให้อำนาจเขตพื้นที่และโรงเรียน ดำเนินการคัดเลือก สรรหา และโยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ด้วย "ผมเชื่อว่า งานดีต้องใช้คนมาก งานยากต้องคนเก่ง แต่การปฏิรูปเป็นงานยาก ต้องใช้คนมากและคนเก่งมาร่วมมือกัน"
นายชลำ อรรถธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้มุ่งไปที่ห้องเรียนโดยตรงว่า เกิดอะไรขึ้นทำไมเด็กได้รับคุณภาพจากการเรียนน้อยลง สาเหตุหนึ่งมาจากครูไม่ค่อยได้อยู่ในคาบเรียน ติดอบรม ติดสัมมนา หรือติดธุระอื่นๆ ทำให้ต้องทิ้งห้องเรียนไปทำเรื่องเหล่านี้
ขณะที่นายวิบูลย์ ทานุชิต ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จังหวัดลำปาง เขต3 กล่าวถึง ข้อเสนอทางด้านวิชาการ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาไทยว่า สมัยนี้การเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ นั้นมีคุณภาพน้อยลง ฉะนั้นสิ่งที่ควรมีการเปลี่ยนแปลง มี 3ประเด็นหลักๆ คือ
1. การพัฒนาหลักสูตร ให้อิสระในการปรับสูตรและการพัฒนาหลักสูตร ให้เกิดการเรียนรู้ทั้ง 3 ทักษะ คือ วิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต เพื่อให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น เกิดทักษะที่ดีมากขึ้นการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนหรือศตวรรษที่ 21 และมีความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก โดยให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนไปออกแบบหลักสูตรโดยอิสระ มีตัวชี้วัดที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรกลุ่มจังหวัด และหลักสูตรจังหวัด และบริบทปัญหาความต้องการของสถานศึกษา
2. การพัฒนาการจัดการเรียนการสอน เน้นการพัฒนาการเรียน การสอนให้สอดคล้องกับผู้เรียนบนพื้นฐานของปฏิบัติจริง ทักษะทางปัญญา ทักษะทางสังคม ทักษะทางเทคโนโลยี เป็นต้น โดยผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ครูไม่ใช่ผู้สอน แต่เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ไม่ใช่สอนตามแบบหนังสือเรียน
3. การวัดและประเมินผล ต้องมีวิธีการสอนที่มีความหลากหลาย ที่สามารถสะท้อนผลการเรียนรู้และพัฒนาการที่แท้จริงของผู้เรียน เพิ่มสัดส่วนการสอบแบบอัตนัยหรือการเขียนบรรยายให้มากขึ้น และลดกลุ่มสาระในการสอบ O-Net โดยเลือกเฉพาะกลุ่มสาระสำคัญ