“แลรี่ แอชมัน”คนเฝ้าคลัง“หนังสือไทย”ที่วิสคอนซิน
อดีตอาสาสมัครขององค์กรสันติภาพ หรือ พีซคอร์ป (Peace Corps) ของสหรัฐปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทยหลายปี อาจารย์มหาวิทยาลัยในภาคเหนือ ปัจจุบันทำงานเป็นบรรณารักษ์ประจำหอสมุดกลาง (Memorial Library) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา
เขาชื่อ“แลรี่ แอชมัน” (Larry Ashmun)
ช่วงพ.ย. 2556 (2013) -ม.ค. 2557 (2014) ข้าพเจ้าพบ“แลรี่”หลายครั้งทั้งที่ห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน และ ที่บ้านของเขาที่อยู่นอกเมือง รวมทั้งยังอาศัยรถยนต์ของเขาเดินทางไปทำภารกิจที่มหาวิทยาลัย นอร์ธเทิร์น อิลลินอยส์ (NORTHERN ILLINOIS UNIVERSITY-NIU) ซึ่งตัวเขาต้องนำเสนอผลงานที่เกี่ยวกับเมืองไทย ทำให้รู้ว่าสุภาพบุรุษผู้นี้รอบรู้เรื่องเมืองไทยและคนไทยพอสมควร เผลอๆอาจจะมากกว่าคนไทยบางคนด้วยซ้ำ
ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าถามเขาว่าถ้าหากนักศึกษาสนใจอยากมาเรียนต่อที่นี่จะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องใด?
เขาตอบแบบไม่ลังเล “หนึ่งภาษาดี สองเงินทุน ปัจจัยที่สามคือรู้และเข้าใจวัฒนธรรมอเมริกันบ้าง เพราะ ต้องรู้ว่าทำไมคนอเมริกันทำอย่างนี้ๆ”
วัตรปฏิบัติวัตรอย่างหนึ่งของ“แลรี่”ที่ข้าพเจ้าแอบสัมผัสก็คือเขาพกอาหารกลางวันมารับประทานที่ทำงานแทบทุกครั้งแม้กระทั่งวงสัมมนาทางวิชาการที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเป็นประจำทุกวันศุกร์
“แลรี่” เกิดและเติบโตที่โอไฮโอ สหรัฐ ปี ค.ศ. 1946 จบการศึกษาปริญญาตรีในปี ค.ศ. 1968 ที่วิทยาลัย บัลลอยซ์ (BELOIT) เป็นวิทยาลัยเล็กๆ ในรัฐวิสคอนซิน (ถ้าไปชิคาโก้มีป้ายบอกทางไป BELOIT) เมื่อเรียนจบก็สมัครทำงานเป็นอาสาสมัครของพีซคอร์ปใน จ.นครพนมและหลายจังหวัดในภาคอีสานของประเทศไทย เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยพายัพ และเดินทางไปมาระหว่างไทยกับสหรัฐหลายครั้ง กระทั่งกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่วิสคอนซินในปัจจุบัน
เรื่องเล่านับจากนี้เกิดขึ้น ณ ห้องพักเจ้าหน้าที่ ณ ห้องสมุดกลางมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน ช่วงกลางเดือนมกราคม 2557
“ตั้งใจว่าจะสมัครเป็นพีซคอร์ป ตั้งแต่ก่อนเรียนจบและเขาก็รับด้วย อยากไปทำงานที่เกาะโอเชียเนีย (OCEANIA) อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นของสหรัฐ ในที่สุดก็ขอไปเมืองไทย ก่อนเดินทาง ได้เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไทยซึ่งเมื่อตอนเรียนปริญญาตรีได้เรียนเกี่ยวเมืองไทยบ้าง ช่วงนั้นเป็นสงครามเวียดนาม พอดี เราก็รู้ว่าเมืองไทยอยู่แถวนั้น เขาให้เราฝึกอบรมก่อนว่าเมืองไทยเป็นอย่างไร อาหารเป็นอย่างไร จะเป็นพัฒนากรจะต้องทำอะไรบ้างเกี่ยวกับชุมชน”
ปี ค.ศ. 1969 ( พ.ศ.2512) “แลรี่”หิ้วกระเป๋ามาเมืองไทยเริ่มต้นจากกรุงเทพฯไปเป็นพัฒนากรอาสมัครในหมู่บ้านในพื้นที่ภาคอีสาน จ.นครพนม พร้อมเพื่อน 4 คน ทำได้ปีกว่าก็ขอเปลี่ยนเป็นครูสอนภาษา
“เราเป็นฝรั่ง ความรู้เกี่ยวกับเมืองไทยก็มีอยู่บ้างแต่ไม่มากพอที่จะเป็นนักพัฒนา เลยคิดว่าเป็นครูดีกว่าไหม พอดีช่วงนั้นครูอาสาสมัครชาวแคนาดาที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดนครพนมต้องเดินทางกลับประเทศก่อนกำหนด ผมเลยเข้าไปเป็นครูแทน”
และ เมื่อจบปีแรกก็ขอเป็นต่ออีก 2 ปีจนครบกำหนดระยะเวลา
จากนั้นได้ทำงานกับหน่วยงานทางทหารของสหรัฐในเมืองไทยชื่อว่า ยูเอสโอ หรือหน่วยงานทางด้านให้บริการพักผ่อนหย่อนใจกับทหารในฐานทัพสหรัฐที่ปฏิบัติงานในเมืองไทยเป็นระยะเวลา 2 ปี รวมใช้ชีวิตที่นครพนม 5 ปี
หลังจบภารกิจก็ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยพายัพ 6 ปี และแต่งงานกับสุภาพสตรีคนไทยซึ่งเป็นอาจารย์ชาวเชียงใหม่ และเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย นอร์ธเทิร์น อิลลินอยส์ หรือ NIU สหรัฐ เป็นเวลา 2 ปี จบแล้วเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ในเมือง ลักเฟิร์ท ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างบัลลอยซ์ BELOIT กับ อิลลินอยส์ (ทางไปชิคาโก้) ต่อด้วยเป็นบรรณารักษ์ ที่ NIU ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา 3 ปี ย้ายไปอยู่ทำงานที่มหาวิทยาลัย คอร์แนล ในปี 1987 เป็นเวลา 3 ปี เมื่อครบระยะเวลาก็กลับมาเป็นผู้อำนวยการจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยพายัพ และย้ายไปทำงานฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“แลรี่”และครอบครัวเดินทางมารัฐวิสคอนซินครั้งแรกเพราะภรรยาได้ทุนมาเป็นอาจารย์สอนภาคฤดูร้อนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน โดยทุนของฟูลไบร์ท เมื่อภรรยาจบภารกิจการสอนก็เดินทางกลับเมืองไทย แต่เขาอยู่ต่อเพราะชอบและอยากหางานทำ ระหว่างนั้นเขาเดินทางกลับเมืองไทย และกลับมาทำงานที่นิวยอร์กอีกครั้งเป็นเวลา 3 ปี และกลับไปทำงานที่สถาบันแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเวลาปีกว่า สุดท้ายมาเป็นบรรณารักษ์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาที่ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน กระทั่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 12 ปี
หน้าที่ของเขาก็คือดูแลหนังสือในหมวดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Southeast Asian Studies) ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีหนังสือภาษาไทยกว่าหนึ่งหมื่นเล่ม ทั้งแนวประวัติศาสตร์ ชีวิตบุคคลสำคัญ นิยายยุคเก่า และแนวการเมืองที่สั่งตรงสำนักพิมพ์ในเมืองไทยและคนรู้จักมอบให้เอกสารที่สำคัญคือหนังสือพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งชุด อายุเก่าแก่กว่าร้อยปี ห้องสมุดได้รับมอบจากรัฐบาลสยามเมื่อปี ค.ศ.1895
งานของเขามิใช่แค่จัดหาหนังสือตามระบบปกติหากยังสามารถแนะนำเพิ่มเติมกับทางหอสมุดได้ด้วยว่าควรหาหนังสือจากประเทศไทยเล่มไหนมาขึ้นชั้นวางบ้าง
เขาสะท้อนว่าปัญหาอย่างหนึ่งในตอนนี้ก็คือ แม้วิสคอนซินเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่ได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเพียง 17-18% และสภาของรัฐฯไม่มีนโยบายที่จะเพิ่มงบประมาณให้มากกว่านี้ เพราะมองว่าทางมหาวิทยาลัยมีเงินสะสมจำนวนมาก ก็รู้สึกว่าทำไมมหาวิทยาลัยต้องของบประมาณเพิ่มอีก ก็เลยถูกจับตามากขึ้นและไม่มีนโยบายขึ้นค่าเล่าเรียนของนักศึกษา
“ประกอบกับผู้ว่าการรัฐมาจากพรรคริพับลีกัน (สกอตต์ วอล์กเกอร์) ขณะที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นเดโมแครต ซึ่งจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องพึ่งตัวเองซึ่งมาจากเงินทุนวิจัยบ้างและอย่างอื่นบ้างรวมกันไป”แลรี่สะท้อน
ด้วยข้อจำกัดที่ว่ามา บางครั้งการเมืองทำให้ไม่มีกำลังใจทำงาน ไม่มีการขึ้นเงินเดือน เจ้าหน้าที่มา กว่า 4 ปี กระทั่งเพิ่มขึ้น 1% เมื่อปีที่แล้ว กระนั้นก็ไม่เท่าการปรับตัวของค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ปัญหาจากนโยบายของรัฐทำให้คนจำนวนหนึ่งทนไม่ได้ก็ลาออกจากงาน “บอกทนไม่ไว้แล้วขอไปก่อนนะ” เขากล่าวพร้อมหัวเราะ
ขณะที่เดโมแครตก็ไม่มีตัวแทนที่เข้มแข็งพอ ทำให้สู้ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ แถมยังมีแรงสนับสนุนทางด้านเงินทุนและจากพวกทีปาร์ตี้ (สายอนุรักษ์)
นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมาที่นี่มีปัญหาทางความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันคล้ายๆเมืองไทย แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่ก็อยู่ด้วยกันได้
บนสนทนาสิ้นสุดในช่วงเย็นวันเดียวกัน จากนั้นเขาก็ชี้ให้ดูภาพเก่าๆข้างผนัง บอกเล่าความเป็นมาของสถาบันและเรื่องราวที่น่าสนใจของเมือง
ห้วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เขายังทำหน้าที่ดูแลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับประเทศไทย ณ ห้องสมุดแห่งนี้
ปลายเดือน ก.ย.57 มีจดหมายอิเลคทรอนิคส์จาก“แลรี่”แจ้งว่า “ได้รับหนังสือที่ฝากส่งมาให้เรียบร้อยแล้ว”
อ่านประกอบ: พ็อกเก็ตบุ๊คแนวรัก-เปิดโปง“ทักษิณ-ปู”วางเกลื่อน ม.วิสคอนซิน